เรื่อง แกะรอยแผ่นดินไหว ลมหายใจแห่งรอยเลื่อน
เรื่อง แกะรอยแผ่นดินไหว ลมหายใจแห่งรอยเลื่อน
รชฏ มีตุวงศ์. แกะรอยแผ่นดินไหว ลมหายใจแห่งรอยเลื่อน. กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2557.
ห้องหนังสือทั่วไป 1 เลขเรียกหนังสือ 551.22 ร122ก
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ทั่วโลกต่างตื่นตระหนกกับการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศตุรกีและซีเรีย โดยมีขนาด 7.8 ตามมาตราริกเตอร์ สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 33,000 คน และผู้ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนมาก ภัยแผ่นดินไหวยังคงเป็นปริศนาที่ไม่มีใครสามารถคาดการณ์การเกิดเหตุได้อย่างแม่นยำ แม้แต่ประเทศไทยที่อยู่ในเขตความเสี่ยงภัยต่ำก็ยังพบข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวอยู่หลายแห่ง
แกะรอยแผ่นดินไหว ลมหายใจแห่งรอยเลื่อน เล่มนี้ ผู้เขียนพาเราไปพบกับ การเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยซึ่งนับเป็นภัยธรรมชาติที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ไม่ต่างจากภัยแล้ง น้ำท่วม ภัยหนาว พายุ หรือดินถล่ม เพียงแต่หลายคนยังมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว หากลองย้อนรอยประวัติศาสตร์จะพบว่าภัยแผ่นดินไหวในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ บางครั้งไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินแต่ก็สร้างความตื่นตระหนกและหวาดกลัวได้ไม่น้อย และในบางครั้งก็ก่อให้เกิดความสูญเสียที่ไม่อาจประเมินค่าได้ ดังเช่นเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิที่บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย มาตรการป้องกันอันตรายจากแผ่นดินไหวจึงถูกกำหนดขึ้น เช่น การกำหนดพื้นที่ความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวแบ่งตามระดับความเสี่ยง การกำหนดมาตรฐานการออกแบบอาคารให้มีความต้านทานแผ่นดินไหวที่เหมาะสม เป็นต้น เพราะการเกิดแผ่นดินไหวไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่ารอยเลื่อนใดหรือบริเวณใดของเปลือกโลกจะเกิดการขยับตัว และหากขยับตัวแล้วจะมีความลึกหรือความรุนแรงมากน้อยเพียงใด รอยเลื่อนดังกล่าวเรียกว่า รอยเลื่อนมีพลัง (Active Fault) หมายถึง รอยเลื่อนที่มีประวัติการเลื่อนตัวอย่างน้อย 1 ครั้ง ในช่วงเวลา 11,000 ปี ประเทศไทยปรากฏรอยเลื่อนเหล่านี้ทั้งสิ้น 14 กลุ่มใหญ่ พาดผ่านพื้นที่ 21 จังหวัด ผู้เขียนนำเสนอเรื่องราวการสำรวจร่องรอยของการเกิดแผ่นดินไหวและถ่ายทอดข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ต่อการเรียนรู้ สร้างความตระหนักให้เกิดกับคนในสังคม เพื่อที่จะรับมือกับภัยแผ่นดินไหวได้อย่างสมดุลและปลอดภัย ผู้สนใจสามารถหาอ่านได้ที่หอสมุดแห่งชาติชลบุรี (วันอังคาร – วันเสาร์ เวลา 09.00 - 17.00 น.)
(จำนวนผู้เข้าชม 406 ครั้ง)