...

เรื่อง วันอาสาฬหบูชา
องค์ความรู้ส่งเสริมการอ่านกับหอสมุดแห่งชาติชลบุรี
เรื่อง วันอาสาฬหบูชา
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ในวันเพ็ญเดือน 6 ทรงคำนึงว่าธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้นลึกซึ้งมาก จนเกินกว่าที่สัตว์อื่นจะรู้ตาม แต่ด้วยพระกรุณาทรงเล็งเห็นว่าผู้ที่พอจะรู้ความก็คงมี เปรียบได้กับดอกบัว 4 ประเภท คือ
1.อุคฆติตัญญู ได้แก่ ผู้ที่มีอุปนิสัยสามารถรู้ธรรมวิเศษได้ทันที เหมือนดอกบัวที่พ้นน้ำแล้ว
2.วิปัจจิตัญญู ได้แก่ ผู้ที่สามารถรู้ธรรมวิเศษได้ก็ต่อเมื่อขยายความออกไป เหมือนดอกบัวที่ปริ่มน้ำ
3.เนยยะ ได้แก่ ผู้มีความเพียรพยายาม ฟัง คิด อ่าน ถาม จนได้รู้ธรรมวิเศษ เหมือนดอกบัวที่ยังไม่พ้นจากน้ำ
4.ปทปรมะ ได้แก่ ผู้ที่แม้จะฟัง คิด อ่าน ถาม ก็ไม่สามารถรู้ธรรมวิเศษได้ เหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำติดกับโคลนตม
เมื่อเล็งเห็นดังนี้แล้วจึงตกลงพระทัยว่าควรจะโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ก่อนเป็นพวกแรก คือ โกณฑัญญะ ภัททิยะ วัปปะ มหานามะ และอัสสชิ ซึ่งได้เคยเป็นผู้อุปัฏฐากพระองค์เมื่อครั้งทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา การเสด็จเดินทางด้วยพระบาทเปล่านั้นอาจใช้เวลานานหลายวัน แต่ปรากฏว่าในตอนเย็นขึ้น 14 ค่ำเดือนอาสาฬหนั้นเอง พระพุทธองค์ก็เสด็จถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี อันเป็นที่อยู่ของปัญจวัคคีย์ ค่ำวันนั้นพระองค์ประทับแรมอยู่กับพราหมณ์ทั้ง 5 รุ่งขึ้นวันเพ็ญแห่งเดือนอาสาฬหบูชา จึงเริ่มแสดง ธรรมจักกัปปวัตตนสูตร นับเป็นเทศนากัณฑ์แรกโปรดปัญจวัคคีย์ การแสดงธรรมของพระพุทธองค์ในครั้งนี้นับจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา ขณะที่ทรงแสดงธรรมนี้อยู่ ท่านโกญฑัญญะได้เกิด “ธรรมจักษุ” คือดวงตาเห็นธรรม ทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์จึงประทานอนุญาตด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา นับเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระศาสนา หลักธรรมอันประเสริฐที่พระองค์ตรัสรู้ นั่นคือ อริยสัจ 4 ประการ ทุกข์เป็นอย่างไร เหตุแห่งทุกข์คืออะไร การดับทุกข์ และหนทางพ้นทุกข์โดยการใช้ชีวิตในทางมรรค 8 คือ เห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ จึงจะทำให้พ้นทุกข์ได้และหากดับกิเลสได้จริง จะนำพาไปสู่ นิพพาน
วันอาสาฬหบูชาจึงมีความสำคัญ คือ เป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงประกาศพระศาสนา เป็นวันแรกที่ทรงแสดงธรรมอันเป็นการประกาศสัจธรรมแห่งสัมมาสัมโพธิญาณ ส่งผลให้เกิดพระอริยสงฆ์สาวกองค์แรกขึ้นในโลก และเป็นวันที่บังเกิดรัตนะครบถ้วนทั้ง 3 ประการ คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
บรรณานุกรม
แปลก สนธิรักษ์. พิธีกรรมและประเพณี. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 8 กรกฎาคม 2565, จาก: http://164.115.27.97/digital/items/show/19450. 2514.
พูนพิสมัย ดิสกุล, หม่อมเจ้าหญิง. เรื่องน่ารู้. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2565, จาก: http://164.115.27.97/digital/items/show/18382. 2505.
สงวน เล็กสกุล. คำสอนวิชาศีลธรรม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2565, จาก: http://164.115.27.97/digital/items/show/10238. 2491.
องค์การศึกษา. ศาสนพิธี เล่ม 1 (หลักสูตรนักธรรม และธรรมศึกษาชั้นตรี). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 8 กรกฎาคม 2565, จาก: http://164.115.27.97/digital/items/show/18391. 2503.

(จำนวนผู้เข้าชม 1667 ครั้ง)


Messenger