...

ด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์
กล้อง 3 มิติ

#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ในสมัยก่อนมีสิ่งประดิษฐ์หนึ่งที่ให้ความบันเทิงและเป็นที่นิยมของผู้คนในช่วงคริสตวรรษที่ 19 คือ “กล้อง 3 มิติ” (Stereoscope) หรือมีอีกชื่อคือ กล้องถ้ำมอง .กล้อง 3 มิติแรกถูกคิดค้นและประดิษฐ์โดย ‘Sir Charles Wheatstone’ นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ในปี 1832 เป็นกล้องแบบกระจกสะท้อน โดยใช้กระจก 2 บาน วางทำมุม 45 องศา เพื่อให้สายตาคนดูมองเห็นภาพสะท้อนในแต่ละด้าน และได้ถูกปรับปรุงโดย ‘David Brewster’ นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ในปี 1849 ให้เป็นแบบกล้อง 2 เลนส์ที่ใช้ส่องและมองเห็นภาพ โดยเขาเรียกว่า “lenticular stereo scope” จนกลายเป็นกล้อง 3 มิติแรกที่สามารถพกพาได้ ต่อมา ‘Oliver Wendell Holmes’ นักฟิสิกส์ชาวอเมริกันได้พัฒนารูปแบบกล้องให้เพรียวบาง สามารถพกพาถือด้วยมือได้ง่ายขึ้น แถมราคาประหยัด จนกลายเป็นความบันเทิงชิ้นโปรดประจำบ้านและห้องเรียนในยุคนั้น.การใช้งานกล้อง 3 มิติ เราจะใช้แผ่นภาพคู่ 2 มิติ (ภาพหนึ่งสำหรับดวงตาข้างซ้าย และอีกภาพสำหรับดวงตาข้างขวา) ซึ่งเป็นภาพถ่ายจากสถานที่หรือสิ่งเดียวกัน แต่ถูกถ่ายโดยองศาที่ต่างกันเล็กน้อย เมื่อนำมาวางด้านหน้าเลนส์ มองผ่านกล้อง 3 มิติ และเลื่อนปรับระดับระยะห่างให้โฟกัสอย่างเหมาะสมแล้ว สมองจะรวมภาพคู่ 2 มิตินั้นให้เป็นภาพเดียวจนเกิดมิติความลึกเป็นภาพ 3 มิติขึ้นมา .กล้อง 3 มิติและแผ่นภาพคู่ ที่จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เป็นของยี่ห้อ Underwood & Underwood ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายแผ่นภาพ 3 มิติที่ได้รับความนิยม ก่อตั้งบริษัทในปี 1882 โดยสองพี่น้องชาวอเมริกัน ชื่อ Elmer และ Bert Elias Underwood และได้เติบโตขยับขยายสาขาไปในหลายเมือง ทั้งใน อเมริกา แคนาดา และสหราชอาณาจักร กล้องยี่ห้อนี้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานของกล้อง 3 มิติ โดยเป็นกล้องแบบ Holmes (Holmes type stereoscope) ที่ใช้มือถือได้ แต่พวกเขาได้เน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงดีไซน์ให้ดูทันสมัย โดยทำเป็นดีไซน์อลูมิเนียม ความโดดเด่นนี้ส่งผลให้โรงงานผลิตอื่น ๆ เริ่มทำตามแบบในไม่ช้า.ลักษณะกล้อง 3 มิติที่จัดแสดงนี้ มีลักษณะดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ของยี่ห้อ Underwood & Underwood คือเป็นแบบกล้อง 2 เลนส์ที่ทำที่ครอบลูกตาห่อหุ้มด้วยอลูมิเนียม ประดับลวดลายใบไม้อย่างฝรั่ง พร้อมสลักชื่อยี่ห้อการค้า “Sun Sculpture U&U Trademark” ด้านหน้าเลนส์กล้อง ทำเป็นไม้ยื่นยาวออกไป เพื่อใช้เลื่อนขึ้น-ลงปรับระดับโฟกัสในการมอง พร้อมกับแท่นวางแผ่นภาพคู่ มีด้ามไม้จับ 1 ด้ามไว้สำหรับถือ ข้างใต้กล้องใกล้ด้ามจับมีข้อความสลักไว้ว่า “Man'f'd by Underwood & Underwood New York Patented June 11.1901 Foreign Patents Applied For” ส่วนแผ่นภาพคู่ 2 มิติ โดยส่วนใหญ่จะเป็นภาพถ่ายสถานที่และผู้คน บรรจุอยู่ในกล่องกระดาษที่สันกล่องทำคล้ายปกหนังสือ ระบุชื่อสถานที่ของภาพถ่ายและยี่ห้อไว้.โดยกล้อง 3 มิติพร้อมแผ่นภาพตัวนี้ มี 'ความสำคัญ' คือ เป็นของที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงซื้อมาจากพ่อค้าชาวยุโรป และพระราชทานแก่เจ้าดารารัศมี พระราชชายา เมื่อครั้งกราบบังคมลากลับไปเยี่ยมเมืองเชียงใหม่ เมื่อปีพ.ศ. 2451 เนื่องจากทรงเกรงว่าระหว่างทาง หากพระราชชายาอ่านหนังสือจนตาลาย เผื่อจะใช้กล้อง 3 มิติส่องดูเล่นไปได้ (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องนี้ได้ที่ https://www.facebook.com/chiangmai.../posts/2626660764234660).>> หากผู้อ่านทุกท่านสนใจ สามารถเข้ามาย้อนเวลา ร่วมสัมผัสประสบการณ์ความบันเทิงของผู้คนในอดีต ส่องผ่านกล้อง 3 มิติได้ที่อาคารจัดแสดงชั้น 2 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ >> พร้อมสามารถเข้าชม นิทรรศการพิเศษ “คน (เริง) เมือง ย้อนมองเมืองเชียงใหม่ยุคโมเดิร์นไนซ์ ผ่านสถานที่ ผู้คน และวัตถุเริงรมย์” ที่จัดแสดงอยู่บริเวณใกล้กันได้เช่นกันค่ะ >> เปิดทำการทุกวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 09:00 – 16:00 น. (หมายเหตุ: ขณะนี้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ งดเว้นค่าเข้าชม เนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับปรุงห้องจัดแสดงนิทรรศการบางส่วน ทำให้ไม่สามารถจัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นสำคัญบางชิ้นได้ ขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ)---------------------------------------------------------------------แหล่งอ้างอิง- John Plunkett. (2008). “Selling stereoscopy, 1890–1915: Penny arcades, automatic machines and American salesmen”, Early Popular Visual Culture Vol. 6, No. 3, November 2008, p.239–242.- Kansas Historical Society. “Stereoscopic photographs and marketing of photographs”. [Online]. เข้าถึงเมื่อ 21 มิถุนายน 2565, จาก: https://www.kshs.org/kansa.../elmer-and-bert-underwood/12227- The Guardian. “Stereographic New York: animated 3D images from the 1850s to the 1930s”. [Online]. เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565, จาก : https://www.theguardian.com/.../stereographic-new-york...- Museum of Teaching and Learning. “Stereoscope”. [Online]. เข้าถึงเมื่อ 23 มิถุนายน 2565, จาก: https://www.motal.org/stereoscope.html- Britannica. “Development of stereoscopic photography”. [Online]. เข้าถึงเมื่อ 23 มิถุนายน 2565, จาก: https://www.britannica.com/.../Development-of...- Cove. “Wheatstone invents mirror stereoscope”. [Online]. เข้าถึงเมื่อ 23 มิถุนายน 2565, จาก: https://editions.covecollective.org/.../wheatstone...ที่มารูปภาพ- Wheatstone Stereoscope ที่มา : https://commons.wikimedia.org/.../File:Charles_Wheatstone...- Brewster Stereoscope ที่มา : https://commons.wikimedia.org/.../File:PSM_V21_D055_The...- Holmes Stereoscope ที่มา : https://www.flickr.com/photos/zcopley/91299034

พระพุทธรูปไม้ ศิลปะพม่า สมัยมัณฑะเลย์

สวัสดีทุกท่านค่ะ ช่วงนี้ก็ใกล้เข้าสู่เทศกาลปีใหม่ ประจำปี 2565 กันแล้ว ทางพิพิธภัณฑ์ของเราก็มี #องค์ความรู้จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ พร้อมกิจกรรมดีๆ มาต้อนรับเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ กับองค์ความรู้เรื่อง "พระพุทธรูปไม้ ศิลปะพม่า สมัยมัณฑะเลย์" พระพุทธรูปสมัยนี้มีลักษณะอย่างไร และความสำคัญเช่นไร มาติดตามไปพร้อมๆ กันเลยค่าา..ประเทศเมียนมาร์เป็นประเทศที่เป็นอู่อารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งในดินแดนอุษาคเนย์ รูปแบบงานศิลปกรรม และวัฒนธรรมมากมายจากพม่าหรือเมียนมาร์ได้มีความเกี่ยวข้องหรือส่งอิทธิพลต่องานศิลปกรรมในประเทศไทยหลายยุคสมัย ทั้งในด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรมฝาผนัง นับตั้งแต่สมัยทวารวดี หริภุญไชย สุโขทัย ล้านนา อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ซึ่งเรามักจะพบศิลปะพม่ามีอิทธิพลโดดเด่นอย่างเห็นได้ชัดในศิลปะล้านนา และรัตนโกสินทร์ช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 – 25 ที่มีการอพยพและกวาดต้อนชาวมอญ พม่า เข้ามายังสยาม และการอพยพย้ายถิ่นฐานเพื่อเข้ามาทำกิจการป่าไม้ของชาวพม่าและชาวไทใหญ่ในเขตภาคเหนือตอนบนของไทย เช่น แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่าน ชาวมอญ พม่า และไทใหญ่ เมื่อย้ายถิ่นฐานมาอาศัยในประเทศไทยในปัจจุบันแล้ว ก็ได้นำช่างมาก่อสร้างวัด อาคาร ศาสนสถานในรูปแบบศิลปะของเชื้อชาติตนเข้ามาด้วย พระพุทธรูปจึงเป็นประติมากรรมสำคัญอย่างหนึ่งที่นิยมสร้างพร้อมกันกับการสร้างศาสนสถานเนื่องในศาสนาพุทธของชาวมอญ พม่า และไทใหญ่.ในสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 – 25 ตรงกับสมัยราชวงศ์คองบอง (อลองพระ) (พ.ศ. 2295 – 2428) ซึ่งมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองอังวะ อมรปุระ และมัณฑะเลย์ ทั้งนี้ ศิลปะพม่าสมัยมัณฑะเลย์น่าจะเป็นหนึ่งในรูปแบบศิลปะพม่าที่คุ้นตาของคนไทยมากที่สุด ทั้งการสร้างเจดีย์และอาคารทรงปยาทาด อันเป็นอาคารที่มีเรือนยอดซ้อนชั้นกันหลายๆ ชั้น มักนิยมสร้างเป็นอุโบสถ วิหาร หรือหอไตร ในส่วนของพระพุทธรูปสมัยมัณฑะเลย์ มีการสร้างด้วยวัสดุที่หลากหลาย ทั้งโลหะผสม (สำริดหรือทองเหลือง) หินอ่อน ปูน รักสมุก (การใช้ไม้ไผ่สานโครงให้เป็นรูปทรงพระพุทธรูป จากนั้นช่างจะใช้เถ้าถ่านหรือเศษขี้เลื่อยที่ได้จากการเผาคัมภีร์ใบลานต่างๆ มาพอกทับโครงไม้ไผ่สาน เมื่อวัสดุที่พอกแห้งดีแล้ว จึงทำการลงรักและตกแต่งพระพุทธรูปให้มีความสวยงามตามรูปแบบศิลปะ) และไม้ ซึ่งเป็นวัสดุประเภทหนึ่งทีนิยมนำมาสร้างพระพุทธรูปอย่างมาก.พระพุทธรูปศิลปะพม่า สมัยมัณฑะเลย์ มีลักษณะที่โดดเด่น คือ พระพุทธรูปมีความสมจริงคล้ายมนุษย์ โดยส่วนพระพักตร์มีการสร้างให้พระเนตรมองตรง และประดับอัญมณี เช่น นิลและมุก เพื่อให้คล้ายดวงตาของมนุษย์ พระโอษฐ์มีลักษณะสมจริง ขมวดพระเกศาเล็กมาก อุษณีษะ (มวยผม) สูงมาก และไม่มีรัศมี ริ้วจีวรเป็นริ้วแบบธรรมชาติ ปลายจีวรเป็นหยักโค้งไปมา ซึ่งคาดว่าน่าจะได้รับอิทธิพลการสร้างริ้วจีวรเช่นนี้มาจากศิลปะจีน กรอบพระพักตร์เป็นแถบหนา มีไรพระศก และมักทำลวดลายพร้อมประดับอัญมณีหรือกระจกสีที่กรอบพระพักตร์และขอบจีวร คล้ายพระพุทธรูปทรงเครื่อง (พระพุทธรูปที่มีการทรงเครื่องประดับต่างๆ อย่างกษัตริย์ อาทิ มงกุฎ กุลฑล กรองศอ สังวาลย์ และทับทรวง เป็นต้น) ขณะเดียวกันพระพุทธรูปทรงเครื่องเองก็ยังคงนิยมสร้างในสมัยนี้อยู่ โดยสืบทอดแนวคิดมาจากสมัยอังวะ (ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 24) ตามคติชมพูบดีสูตร ซึ่งเป็นพุทธประวัติตอนหนึ่งในคัมภีร์พุทธศาสนา นิกายเถรวาท ที่ชาวพม่าให้ความเคารพนับถือ ในพุทธประวัติได้กล่าวว่าพระพุทธเจ้าได้เนรมิตพระองค์ให้มีขนาดพระวรกายใหญ่โต พร้อมทรงเครื่องประดับอย่างกษัตริย์ เพื่อสั่งสอนพญาชมพูบดีผู้เป็นกษัตริย์ที่ไม่ยอมรับฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า จนกระทั่งพญาชมพูบดีเชื่อฟังในคำสอนของพระพุทธเจ้าและออกผนวช จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในที่สุด.พระพุทธรูปศิลปะพม่า ไม่ได้มีเพียงสกุลช่างหลวงของพม่าเพียงแห่งเดียวเท่านั้น แต่ยังมีสกุลช่างอื่นๆ อีกมากที่มีลักษณะปลีกย่อยแตกต่างกันไปตามชาติพันธุ์นั้นๆ อาทิ สกุลช่างมอญ สกุลช่างอาระกัน (ยะไข่) และสกุลช่างไทใหญ่ เป็นต้น แต่ในสมัยมัณฑะเลย์อาจถือได้ว่าเป็นยุคศิลปะบริสุทธิ์ของพม่า เนื่องจากมีการรวบรวมเอาศิลปะจากสกุลช่างต่างๆ มาพัฒนาเป็นรูปแบบศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ด้วยเหตุนี้ ในช่วงยุคหลังมาจนถึงปัจจุบัน พระพุทธรูปไม้ศิลปะพม่าสมัยมัณฑะเลย์จึงได้รับความนิยมในกลุ่มนักสะสมของเก่า หรือผู้ค้าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จึงมีการผลิตซ้ำพระพุทธรูปไม้รูปแบบศิลปะพม่าสมัยมัณฑะเลย์ เพื่อนำเข้าหรือส่งออกเป็นจำนวนมาก นี่จึงเป็นหลักฐานที่บ่งบอกถึงสุนทรียภาพของพระพุทธรูปศิลปะพม่า สมัยมัณฑะเลย์ เป็นที่ยอมรับว่ามีความงดงามอย่างมีเอกลักษณ์ตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน.เอกสารอ้างอิง1). เชษฐ์ ติงสัญชลี. (2560). ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (พิมพ์ครั้งที่ 3). นนทบุรี: สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส.2). ศักดิ์ชัย สายสิงห์. (2557). ศิลปะพม่า. กรุงเทพฯ: มติชน.3). สมเกียรติ โล่ห์เพชรัตน์. (2550). พระพุทธรูปศิลปะพม่า ประวัติศาสตร์ชนชาติพม่ากับปฏิมากรรมในพระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ: สยามอินเตอร์เนชั่นแนลบุคส์..พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมสักการะพระสิงห์ และพระพุทธรูปไม้ พระอุปคุตและพระสาวกไม้ รูปแบบศิลปะพม่า สมัยมัณฑะเลย์ รวม 9 องค์ พร้อมทั้งสักการะพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อความเป็นสิริมงคลตลอดเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 นี้ ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2564 – 30 มกราคม 2565 .พิเศษ!! พิพิธภัณฑ์ของเรามีของขวัญปีใหม่แจกให้ทุกท่านที่เข้าชมนิทรรศการฟรี ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม และตลอดเดือนมกราคม 2565 หรือจนกว่าของจะหมด รีบมาชมกันเยอะๆ นะคะ

สัปคับ

. สวัสดีค่ะ กลับมาพบกับสาระความรู้ดีดีจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่กันอีกแล้วนะคะ ในวันนี้ทางเราขอเสนอ องค์ความรู้ เรื่อง โบราณวัตถุชิ้นเด่นในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ตอน “สัปคับ” . สัปคับ คือ ที่นั่งบนหลังช้าง มีลักษณะคล้ายตั่งผูกติดบนหลังช้าง ใช้สำหรับนั่ง บรรทุกสัมภาระ เพื่อการเดินทางในภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบและป่าเขา อาจเรียกว่าแหย่งช้างก็ได้ค่ะ หากใช้สำหรับพระมหากษัตริย์เรียกว่า “พระที่นั่ง” ( สัปคับพระที่นั่ง อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.facebook.com/chiangmainationalmuseum/posts/2621120284788708 ). ส่วนสัปคับองค์นี้ เดิมเป็นสัปคับช้างทรงของ เจ้านครเชียงใหม่ สร้างด้วยไม้สลักเป็นลวดลาย แบบจีน ตกแต่งด้วยการลงรักปิดทอง . ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้ใช้เป็นสัปคับช้างทรงของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรง ราชานุภาพ ในริ้วกระบวนช้างพระนั่งเสด็จ เข้านครเชียงใหม่ . ต่อมาเมื่อสิ้นสุดยุคเจ้าผู้ครองนคร ทายาทจึงได้ เชิญมาถวายไว้ที่ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ต่อมาพระธรรมราชานุวัตร ได้มอบให้กับ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ จัดแสดง มาจนถึงปัจจุบันค่ะ. ลวดลายที่ปรากฏบนสัปคับองค์นี้ ล้วนเป็นสัญลักษณ์มงคล ตามคติความเชื่อแบบจีน สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลศิลปะจีนที่ เข้ามามีบทบาทในงานศิลปกรรมล้านนาในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี . ลวดลายสัญลักษณ์ที่นำมาใช้ มักมีความหมายในทางมงคล คือ ให้มีความสุข อายุยืนยาว มีโชคลาภ สมปรารถนา ปัดเป่าสิ่งไม่ดี มีลูกหลานสืบสกุล มีตำแหน่งและก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลและเป็นการอวยพร ให้เกิดความสงบสุขแก่ผู้ใช้นั้นเองค่ะ"""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""หากท่านใดสนใจอยากรับชมสัปคับทั้ง ๒ องค์ สามารถแวะมาชมกันได้ที่ พิพิธภัณฑ์ของเรานะคะ ไว้พบกันใหม่ในองค์ความรู้รอบหน้าค่ะ"""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่เปิดให้บริการทุกวันพุธ – วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.00 น. (หยุดทุกวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) e-mail : cm_museum@hotmail.comสอบถามเพิ่มเติมกรุณาติดต่อผ่านกล่องข้อความ หรือ โทรศัพท์ : 053-221308For more information, please leave your message via inbox or call : +66 5322 1308+

ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง

#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่#ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง. ดอกไม้ เป็นสิ่งที่มีความสวยงาม กลิ่นหอม มีความบริสุทธิ์และควรค่าแก่การบูชา ดังนั้นคนในสมัยโบราณจึงนำเอาดอกไม้มาเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องสักการะสูงสุด และที่สำคัญคติความเชื่อของชาวล้านนา ที่เชื่อกันว่าดอกไม้เป็นสิ่งที่มีชีวิตเหมือนกับมนุษย์ ดังนั้นจึงพึงได้รับอานิสงส์จากการอุทิศตนถวายเป็นพุทธบูชาด้วย. ในวันนี้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ จะขอพาทุกท่านไปรู้จักกับดอกไม้ที่ใช้เป็นเครื่องสักการะในพุทธศาสนาอีกประเภทหนึ่ง คือ “ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง” ค่ะ ตามมานะคะ"""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""/// ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง คืออะไร?? ///. “ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง” เป็นการจำลองรูปลักษณะของดอกไม้จริงให้กลายเป็นดอกไม้ประดิษฐ์ด้วยทองและเงิน เพื่อความคงทนสำหรับสักการบูชาศาสนสถานหรือศาสนวัตถุทางพระพุทธศาสนา. “ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง” มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป เช่น ล้านนา เรียกว่า “ดอกไม้เงินดอกไม้คำ” ทางมลายู เรียกว่า “บุหงามาสดานเประ” (Bunga Mas DanPerak) เป็นต้น. ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของ “ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง” ไว้ว่า “เครื่องราชบรรณาการที่ทำเป็นต้นไม้เงินต้นไม้ทองเป็นคู่ ซึ่งเมืองขึ้นส่งมาถวายแก่พระเจ้าแผ่นดินทุกๆ ๓ ปี” หรือ “เครื่องสักการะที่เจ้านายหรือขุนนางที่มีบรรดาศักดิ์ตั้งแต่เจ้าพระยาขึ้นไปถวายพระเจ้าแผ่นดินเมื่อได้รับสถาปนาให้ทรงกรมหรือเลื่อนกรมให้สูงขึ้น หรือเมื่อได้รับพระราชทานตั้งยศ” โดยจะนิยามใน ๒ ประเด็นหลัก คือ เป็นเครื่องบรรณาการ และ สื่อกลางในการเลื่อนชั้นและตำแหน่งหน้าที่เท่านั้น/// ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง : เครื่องสักการบูชาตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ///. ปรากฏหลักฐานแรกสุดจากการขุดค้นทางโบราณคดีในเมืองตักกสิลา (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ประเทศปากีสถานในปัจจุบัน) ในสถูปซึ่งมีอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๓ – ๖ พบหลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นอูบหรือผอบประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ บรรจุดอกไม้ประดิษฐ์ที่ใช้วัตถุดิบเป็นทองคำและเงิน เนื่องจากมีมูลค่าและคุณค่าสูง ประกอบกับคงทนถาวรกว่าแร่ธาตุชนิดอื่น ๆ. ทั้งนี้เมืองตักกสิลาและบริเวณอื่นๆของอินเดียหลายแห่งเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาและระบบเครือข่ายทางการค้า ส่งผลให้คติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาจากตักกสิลาส่งอิทธิพลแนวคิดดังกล่าว เข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านเส้นทางการค้า โดยเริ่มจากบริเวณคาบสมุทรมลายูก่อนเผยแพร่เข้าไปทางภาคใต้ของไทย กับอีกเส้นทางหนึ่งคือจากอินเดียเข้าสู่พม่า ล้านนา และเข้ามาสู่สยาม. ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในวโรกาสเจริญพระชนพรรษาครบ ๓๒ พรรษา เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๓๘ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ โดยอัญเชิญพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐานบนบุษบกทองคำ และใช้ต้นไม้ทอง ต้นไม้เงิน ล้อมบุษบก นอกจากนี้คนในอดีตนิยมถวายต้นไม้ทอง ต้นไม้เงิน เป็นเครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัย เช่น ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๔ เสด็จยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และทรงถวายต้นไม้ทองต้นไม้เงินเป็นพุทธบูชาแด่องค์พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร/// ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง : เครื่องราชบรรณาการจากหัวเมืองประเทศราช ///. ในสมัยรัตนโกสินทร์ หัวเมืองประเทศราชของไทย เช่น เมืองหล่ม เมืองหลวงพระบาง เมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน เขมร ชนกลุ่มต่างๆทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ(กะเหรี่ยง) มลายู (ไทรบุรี ปัตตานี กลันตัน และตรังกานู) จะต้องส่งต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง หรือ ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง พร้อมด้วยเครื่องราชบรรณาการมายังกรุงเทพฯ ทุกๆ ๓ ปี หรือทุกปี ที่เป็นทั้งเงินทองหรือผลิตผลในท้องถิ่นมากน้อยไม่มีกฎเกณฑ์กำหนด หรืออาจเป็นสิ่งของที่กรุงเทพฯแจ้งความต้องการไป เพื่อแสดงความสวามิภักดิ์และการยอมเป็นเมืองขึ้นไทย . โดยขนาดของต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง ที่ส่งมาถวาย จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่และฐานะความมั่งคั่งของแต่ละรัฐ ดังนั้น ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง หรือ ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง เหล่านี้ จึงเปรียบเสมือนเครื่องหมายความจงรักภักดีต่อประเทศราชเหล่านั้น/// ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง : สื่อกลางในการเลื่อนชั้นหรือบรรดาศักดิ์ของขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในราชสำนัก ///. ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง เป็นสิ่งที่เจ้านายหรือพระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้รับการสถาปนาให้ทรงกรมหรือเลื่อนกรมสูงขึ้น ทูลเกล้าฯถวายพระมหากษัตริย์ เพื่อแสดงความจงรักภักดีและแสดงการยอมรับในพระราชอำนาจ โดยเป็นธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ แล้ว เช่น ขุนนางที่ได้รับบรรดาศักดิ์สูงขึ้นเป็นเจ้าพระยาจะต้องนำพุ่มไม้เงิน พุ่มไม้ทอง ขึ้นทูลเกล้าฯถวาย หลังจากที่ได้มีพระบรมราชโองการแล้ว พุ่มไม้เงินพุ่มไม้ทองคู่นี้จะนำมาใส่แจกัน อาจเป็นแจกันแก้วเจียรนัยหรือแจกันเคลือบ แล้วแต่ฐานะของผู้ที่ได้บรรดาศักดิ์. จะเห็นได้ว่า “ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง” นอกจากจะใช้เป็นเครื่องพุทธบูชา ไว้สักการบูชาเนื่องในพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ใช้เพื่อเป็นของขวัญของกำนัล เชื่อมสัมพันธไมตรีก่อนจะถูกกำหนดให้เป็นเครื่องบรรณาการจากเมืองเจ้าของประเทศราช หลังจากนั้นเจ้าเมืองประเทศราชได้นำไปใช้ในการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งให้แก่ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในราชสำนักเพื่อแสดงการยอมรับพระราชอำนาจอีกด้วย""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""ที่มา : - เกรียงไกร ฮ่องเฮงเส็ง. (2561) ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง - ดอกไม้บรรณาการ: จากสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพสู่ภาพตัวแทนอำนาจการปกครอง. วารสารไทยศึกษา ปีที่ 14 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม - ธันวาคม หน้า 29-60. - สมศักดิ์ ฤทธิ์ภักดี. (2556). ต้นไม้ทองต้นไม้เงินสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : นิทรรศการพลังแผ่นดิน อัศจรรย์งานศิลป์แผ่นดินสยาม. - สินชัย กระบวนแสง และวรรณิสิริ นุ่นสุข. (2545). การศึกษาคติในการบูชาพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช: กรณีดอกไม้เงินดอกไม้ทอง. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช."""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""". พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ได้นำตัวอย่างดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง ที่จัดแสดงอยู่ ณ ห้องโบราณวัตถุที่พบในฮอด จังหวัดเชียงใหม่ มาให้ทุกท่านได้ชมกันค่ะ. ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทองทั้ง 4 รายการนี้ แม้จะเป็นสิ่งของที่มีขนาดเล็ก แต่ก็แสดงถึงความศรัทธาและฝีมือของช่างในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดีค่ะ แล้วพบกันใหม่ในองค์ความรู้รอบหน้านะคะ""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่เปิดให้บริการทุกวันพุธ – วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.00 น. (หยุดทุกวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) e-mail : cm_museum@hotmail.comสอบถามเพิ่มเติมกรุณาติดต่อผ่านกล่องข้อความ หรือ โทรศัพท์ : 053-221308For more information, please leave your message via inbox or call : +66 5322 1308+

ตุงและคันตุง

#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่#ตุงและคันตุง. สวัสดีเช้าวันอาทิตย์ค่ะแฟนเพจทุกท่าน วันนี้ก็กลับมาพบกับองค์ความรู้จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ กันอีกเช่นเคยนะคะ ในวันนี้ขอเสนอเรื่อง "ตุงและคันตุง" ค่ะ . ตุง เป็นเครื่องแขวนอย่างหนึ่งสำหรับใช้ในพิธีกรรมคล้ายธง โดยตุงถูกสร้างขึ้นจากวัสดุที่หลากหลาย เช่น ผ้า กระดาษ ไม้ โลหะ ตามแต่โอกาสที่ใช้และฐานะของผู้สร้าง หากเป็นตุงที่สร้างจากวัสดุที่ไม่กวัดไกวตามกระแสลมจะเรียกตุงชนิดนั้นว่า “ตุงกระด้าง” ซึ่งจะสร้างด้วยโลหะ ไม้ หรือ ปูน เป็นต้น. หลักฐานการใช้ตุงเป็นเครื่องพุทธบูชา ปรากฏในเอกสารล้านนาโบราณหลายฉบับ เช่น ตำนานเมืองเชียงแสน กล่าวถึง การประดิษฐานพระบรมธาตุเหนือยอดดอยลูกหนึ่ง พระมหากัสสปเถระเจ้าได้อธิษฐานตุงขึ้นตั้ง คันตุงนั้นสูงแปดพันวา ตุงยาวเจ็ตพันวา กว้างสี่ร้อยวา หลังจากเหตุการณ์นี้ คนทั้งหลายจึงเรียกดอยแห่งนั้นว่า "ดอยตุง" . โดยหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับการใช้ตุงปรากฏในศิลาจารึกวัดพระยืน ระบุว่าเมื่อราว พ.ศ. ๑๙๑๓ เมื่อพญากือนาตั้งขบวนต้อนรับพระสุมนเถระจากสุโขทัย ในขบวนนั้นมีการประดับด้วยธง (ตุง) . เหตุที่ชาวล้านนานิยมถวายตุงไว้ในพระพุทธศาสนา เพราะมีความเชื่อว่าการถวายทานตุงนั้นได้อานิสงค์มาก เมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้วจะไม่ตกนรกนั้นเองค่ะ. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ขอยกตัวอย่างตุงจากห้องโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณฮอด จังหวัดเชียงใหม่ 2 รายการ มาให้ทุกท่านได้ชมกันค่ะ หากท่านใดสนใจสามารถแวะเข้ามาชมได้ที่พิพิธภัณฑ์ของเรานะคะ พบกันใหม่ในองค์ความรู้รอบหน้าค่าาา """"""""""""""""""""""""""""""""""""""""""พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่เปิดให้บริการทุกวันพุธ – วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.00 น. (หยุดทุกวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) e-mail : cm_museum@hotmail.comสอบถามเพิ่มเติมกรุณาติดต่อผ่านกล่องข้อความ หรือ โทรศัพท์ : 053-221308For more information, please leave your message via inbox or call : +66 5322 1308+

ลูกชั่งลูกเป้ง

#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ #ลูกเป้ง. สวัสดีค่ะ กลับมาพบกันอีกครั้งกับสาระความรู้จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ค่ะ. ทุกคนเคยสงสัยหรือไม่คะ ว่าสมัยก่อนเมื่อมีการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่ต้องวัดน้ำหนักกัน คนสมัยก่อนเค้าทำกันอย่างไร ในเมื่ออดีตยังไม่มีการกำหนดหน่วยกิโลกรัมเป็นมาตรฐาน. การซื้อขายด้วยการชั่งในอดีตนั้น พบว่ามีการใช้ตราชั่งแบบตาเต็งหรือตาชู(ตาชั่งแบบสุเมเรียน) ในการใช้ตาชูจะต้องมีลูกชั่งซึ่งเป็นโลหะที่กำหนดน้ำหนักไว้เป็นมาตราฐานเพื่อนำมาชั่งน้ำหนักสิ่งของต่างๆ โดยในล้านนาจะเรียกลูกชั่งลักษณะนี้ว่า "ลูกเป้ง" ค่ะ . วันนี้เราลองมาทำความรู้จัก "ลูกเป้ง" ลูกชั่งของล้านนาด้วยกันนะคะ"""""""""""""""""""""""""""""""""""""". “ลูกเป้ง” หรือ “เป้ง” เป็นตัวถ่วงน้ำหนักที่ใช้กับเครื่องชั่งโบราณหรือตราชู คนโบราณเรียกชั่งชนิดนี้ว่า “ยอย” ด้านหนึ่งมีจานใส่ของ เรียกว่า ผางยอย . “ลูกเป้ง”ทำจากโลหะ ส่วนมากเป็นสำริดหรือทองเหลือง ‘เป้ง’มีขนาดแตกต่างกันออกไป ขนาดเล็กที่สุดอาจเท่าเมล็ดถั่วไปจนถึงขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักประมาณ 15 กิโลกรัม . วิธีใช้ คือ วางของที่จะชั่ง เช่น ฝิ่น เงิน ทอง หรือสิ่งของที่ซื้อขายกันในตลาด เช่น พริก กระเทียม ยาสมุนไพร ไว้ที่จานใบหนึ่งของตราชู จากนั้นวาง ‘เป้ง’ ที่เป็นตัวถ่วงน้ำหนักไว้ที่จานอีกใบหนึ่งของตราชู วาง ‘เป้ง’ขนาดต่าง ๆ จนทำให้แขนของตราชูขนานกับพื้นทั้งสองข้างก็จะทราบว่าของที่ชั่งนั้นมีน้ำหนักเท่าใด. “ลูกเป้ง” นิยมทำเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น นก เป็ด หงส์ ช้าง สิงห์ และสัตว์ตามปีนักษัตร หรือทำเป็นลูกกลมๆ ไม่ตกแต่งลวดลาย ขาวมอญในพม่านิยมใช้ลูกชั่งรูปหงส์ เนื่องจากเป็นสัตว์ในวรรณคดีที่เกี่ยวข้องกับการตั้งเมืองหงสาวดี ‘เป้ง’บางตัวมีการเติมเนื้อตะกั่วเข้าไปเพื่อให้ได้น้ำหนักครบตามจำนวน. ความสำคัญของ “ลูกเป้ง” นั้นนอกจากจะเป็นเครื่องถ่วงน้ำหนักแล้ว คนล้านนายังใช้ลูกเป้งแทนความสำคัญอย่างอื่นได้อีก เช่น. ใช้ “ลูกเป้ง” แทนทรัพย์สินเช่นเดียวกับเงินตรา เช่น ใส่ใน ‘ขันตั้ง’ เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีสืบชะตาเมือง เป็นต้น นอกจากนี้ ชาวล้านนาจะใช้ “ลูกเป้งรูปนักษัตร” หรือ “เป้งสิบสองราศี” ใส่ขันตั้งไปด้วย เพราะเชื่อว่าจะเกิดสัมฤทธิ์ผลมากขึ้น ฤทธิ์ของลูกเป้งตามแต่ละราศี จะสามารถปราบขึด(ความอัปมงคล)หรือเสนียดจัญไรให้แก่ผู้ใส่ได้เป็นอย่างดี และ “ลูกเป้ง” ยังหมายถึง ตัวนำโชค บางคนจึงพก “ลูกเป้ง” ไว้เป็นเครื่องรางติดตัวเพื่อคอยป้องกันสิ่งไม่ดีต่างๆ. การเก็บลูกเป้ง ชาวล้านนาจะเก็บลูกเป้งไว้ใน ถุงผ้าขนาดเล็ก รูปทรงคล้ายย่ามที่ปากถุงมีห่วงเงินเล็ก ๆ หลายห่วงร้อยเชือกไว้ ส่วนปลายเชือกจะมีลูกปัด หรือลูกแก้วผูกอยู่ ใส่พกติดเอวโดยเหน็บกับเข็มขัด เรียกว่า “ถงเป้ง” หรือ “ถุงเป้ง” . ในอดีตนั้น “ลูกเป้ง”และ “ถุงเป้ง” มีความสัมพันธ์กับความเชื่อของคนล้านนาที่สอดคล้องกับคำทำนายหรือหนังสือพรหมชาติล้านนาหลายฉบับที่กล่าวถึง โฉลกในการพกลูกเป้งและการเลือกใช้ถุงสำหรับบรรจุทรัพย์ว่า ‘คนใดเกิดปีใดควรพกลูกเป้งกับถุงเป้งใด’ เพื่อให้เป็นมงคลกับตัว ดังนี้คนเกิดปีใจ้ (ชวด) ให้ใช้เป้งรูปหนู ใช้ถุงเป้งลายเหลืองคนเกิดปีเปล้า (ฉลู) ให้ใช้เป้งรูปวัว ถุงเป้งสองชั้น นอกขาวในเหลืองคนเกิดปียี (ขาล) ให้ใช้เป้งรูปเสือ ถุงเป้งสามชั้น ในเหลือง กลางขาว นอกดำคนเกิดปีเหม้า (เถาะ) ให้ใช้เป้งรูปกระต่าย ถุงเป้งสองชั้น นอกขาว ในเหลืองสายแดงคนเกิดปีสี (มะโรง) ให้ใช้เป้งรูปพญานาค ถุงเป้งสองชั้น ในแดง นอกดำคนเกิดปีใส้ (มะเส็ง) ให้ใช้เป้งรูปงู ถุงเป้งสองชั้น นอกเขียว ในขาวคนเกิดปีสะง้า (มะเมีย) ให้ใช้เป้งรูปม้า ถุงเป้งสามชั้น ในแดง กลางเหลือง นอกขาวคนเกิดปีเม็ด (มะแม) ให้ใช้เป้งรูปแพะ ถุงเป้งสองชั้น ในหม่น นอกขาวคนเกิดปีสัน (วอก) ให้ใช้เป้งรูปลิง ถุงเป้งสามชั้น นอกแดง กลางขาว ในเหลืองคนเกิดปีเร้า (ระกา) ให้ใช้เป้งรูปไก่ ถุงเป้งสองชั้น นอกหม่น ในขาว สายเหลืองคนเกิดปีเส็ด (จอ) ให้ใช้เป้งรูปหมา ถุงเป้งสองชั้น นอกเหลือง ในขาวคนเกิดปีไก๊ (กุน) ให้ใช้เป้งช้าง ถุงเป้งสองชั้น ในขาว นอกเหลือง สายเขียวหรือแดง""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""ที่มา : - นวรัตน์ เลขะกุล. (๒๕๔๗). เบี้ย บาท กษาปณ์ แบงค์ กรุงเทพฯ: สารคดี.- ระบบการชั่ง ล้านนา. (มปป). ธนาคารแห่งประเทศไทย. ค้นเมื่อ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔, จาก https://www.bot.or.th/.../BOT.../Northern/Pages/T-scale.aspx