หีบพระธรรมลายรดน้ำ
#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่
หีบพระธรรมลายรดน้ำ
รูปแบบ : ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 24
วัสดุ : ไม้ ลงรักปิดทอง ประดับกระจก
ประวัติ : พุทธสถานเชียงใหม่มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ จัดแสดง
ลักษณะ
เป็นหีบพระธรรมทรงลุ้ง คือ หีบทรงสูงที่มีส่วนบนกว้าง ส่วนล่างสอบลง และมีฝาปิดครอบด้านบน ตกแต่งด้วยการลงรักปิดทอง แสดงภาพทศชาติชาดกและพุทธประวัติ ตั้งอยู่บนฐานบัวลูกแก้วอกไก่ประดับกระจก มีห่วงวงกลม 4 วงรองรับเพื่อใช้สำหรับสอดไม้คานหามได้
---------------------------------------------------
ภาพเขียนลงรักปิดทองของหีบพระธรรมใบนี้ มีรูปแบบผสมอิทธิพลศิลปะรัตนโกสินทร์ ล้านนา และจีน
โดยเห็นได้จากเครื่องทรงของตัวละครหลัก และสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณี เป็นแบบอิทธิพลศิลปะรัตนโกสินทร์ ในขณะที่เครื่องแต่งกายและทรงผมของเหล่านางกำนัลเป็นแบบศิลปะล้านนา ส่วนฉากประกอบธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ดอกไม้ ลวดลายที่ขอบและบนฝาหีบพระธรรม เช่น รูปมังกร ก้อนเมฆ มีอิทธิพลของศิลปะจีนผสมอยู่
.
ช่างได้เขียนภาพเล่าเรื่อง “ทศชาติชาดก และ พุทธประวัติ” โดยเลือกทศชาติชาดกมา 3 ชาติ คือ ชาติที่ 8 นารทชาดก, ชาติที่ 9 วิทูรชาดก และชาติที่ 10 เวสสันดรชาดก ส่วนพุทธประวัติ คือ ตอนออกมหาภิเนษกรมณ์
.
- ด้านที่ 1 “นารทชาดก”
เป็นชาติที่ 8 เพื่อบำเพ็ญอุเบกขาบารมี
พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นท้าวมหาพรหม ชื่อว่า นารทะ ในครั้งนั้นพระเจ้าอังคติราชมีความเห็นผิดว่า นรก สวรรค์ ไม่มีจริง นารทะพรหมจึงได้เสด็จลงมาแสดงโทษแห่งความเห็นผิดให้พระเจ้าอังคติราชสดับฟัง ทำให้พระองค์คลายจากมิจฉาทิฐิละความเห็นผิด กลับมาปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข
ฉากที่เลือกมาเขียน เป็นฉากตอนที่นารทะพรหมหาบสาแหรกทองคำ เหาะลงมายังปราสาทของพระเจ้าอังคติราช โดยมีพระธิดาเข้าเฝ้าอยู่ เพื่อแสดงโทษแห่งความเห็นผิดให้พระเจ้าอังคติราชฟัง
.
- ด้านที่ 2 “วิทูรชาดก”
เป็นชาติที่ 9 เพื่อบำเพ็ญสัจจบารมี
พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นอำมาตย์ ชื่อว่า วิทูระ เป็นผู้สอนอรรถและธรรมแด่พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะ แห่งกรุงอินทปัตถ์ เมื่อปุณณกยักษ์มาท้าพนันเล่นสกากับพระเจ้าธนัญชัย โดยมีวิทูรบัณฑิตเป็นเดิมพัน เพื่อหวังเอาหัวใจไปให้นางวิมาลาซึ่งเป็นมเหสีของพญานาค พระเจ้าธนัญชัยทรงแพ้ แม้วิทูรบัณฑิตจะรู้ดีว่า หากตอบว่าตนไม่ใช่ทาสของพระราชาก็จะพ้นจากสถานการณ์นี้ แต่ก็ยังคงตอบตามความเป็นจริงไป เพราะยึดมั่นในสัจจะ
ฉากที่เลือกมาเขียน เป็นฉากตอนที่ปุณณกยักษ์ปรารถนาจะได้หัวใจวิทูรบัณฑิตไปให้นางวิมาลามเหสี จึงควบม้าไปในทางที่มีต้นไม้และภูเขา โดยให้วิทูรบัณฑิตจับที่หางม้าไว้ หวังเหวี่ยงให้ร่างวิทูรบัณฑิตกระแทกต้นไม้และภูเขาตายไปโดยชอบธรรม แต่ทั้งต้นไม้และภูเขากลับแหวกทางออกให้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ
.
- ด้านที่ 3 “เวสสันดรชาดก”
เป็นชาติที่ 10 เพื่อบำเพ็ญทานบารมี
ชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนจะทรงอุบัติเป็นพระโคตมพุทธเจ้า โดยชาตินี้เสวยชาติเป็น พระเวสสันดร พระองค์ทรงตั้งปณิธานในการบริจาคทาน แม้จะมีใครขอสิ่งที่รัก สิ่งที่หวงแหนก็ทรงบริจาคเป็นทานได้
ฉากที่เลือกมาเขียน เป็นฉากในตอนของกัณฑ์ที่ 2 คือ กัณฑ์หิมพานต์ เป็นตอนที่พระเวสสันดรทรงมอบช้างปัจจัยนาเคนทร์ ช้างเผือกมงคลที่ไปที่ไหนฝนก็ตกที่นั่นให้แก่เหล่าพราหมณ์ทั้ง 8 (ในภาพวาดเพียง 7 คน) จากเมืองกลิงคราษฎร์ที่กำลังประสบปัญหาฝนแล้ง โดยพระหัตถ์หนึ่งกำลังหลั่งน้ำสิโณทก ไปที่มือของพราหมณ์ อีกพระหัตถ์จับงวงช้างไว้
.
- ด้านที่ 4 “ออกมหาภิเนษกรมณ์”
เป็นตอนในพุทธประวัติ หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะ ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง 4 คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ที่เทวดาแสร้งนิมิตไว้ แล้วทรงสังเวช แสวงหาอุบายแก้ทุกข์ จึงตัดสินใจออกผนวช
ฉากที่เลือกมาเขียน เป็นฉากในตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จไปยังปราสาท เพื่อทอดพระเนตรพระนางพิมพา (พระมเหสี) และพระราหุล (พระโอรส) ที่เพิ่งประสูติ ซึ่งทั้งสองกำลังบรรทมอยู่ และมีเหล่านางกำนัลกำลังหลับใหล ที่ด้านนอกปราสาทมีนายฉันทะที่เตรียมม้ากัณฐกะรออยู่ เพื่อเสด็จออกจากพระนครเพื่อออกผนวช
---------------------------------------------------
อ้างอิง
- ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ฉบับญาณวชิระ. สมุทรปราการ : เมืองโบราณ, 2565.
- วชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา. พุทธประวัติ เล่ม 1. พระนคร : โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, 2455.
หีบพระธรรมลายรดน้ำ
รูปแบบ : ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 24
วัสดุ : ไม้ ลงรักปิดทอง ประดับกระจก
ประวัติ : พุทธสถานเชียงใหม่มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ จัดแสดง
ลักษณะ
เป็นหีบพระธรรมทรงลุ้ง คือ หีบทรงสูงที่มีส่วนบนกว้าง ส่วนล่างสอบลง และมีฝาปิดครอบด้านบน ตกแต่งด้วยการลงรักปิดทอง แสดงภาพทศชาติชาดกและพุทธประวัติ ตั้งอยู่บนฐานบัวลูกแก้วอกไก่ประดับกระจก มีห่วงวงกลม 4 วงรองรับเพื่อใช้สำหรับสอดไม้คานหามได้
---------------------------------------------------
ภาพเขียนลงรักปิดทองของหีบพระธรรมใบนี้ มีรูปแบบผสมอิทธิพลศิลปะรัตนโกสินทร์ ล้านนา และจีน
โดยเห็นได้จากเครื่องทรงของตัวละครหลัก และสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณี เป็นแบบอิทธิพลศิลปะรัตนโกสินทร์ ในขณะที่เครื่องแต่งกายและทรงผมของเหล่านางกำนัลเป็นแบบศิลปะล้านนา ส่วนฉากประกอบธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ดอกไม้ ลวดลายที่ขอบและบนฝาหีบพระธรรม เช่น รูปมังกร ก้อนเมฆ มีอิทธิพลของศิลปะจีนผสมอยู่
.
ช่างได้เขียนภาพเล่าเรื่อง “ทศชาติชาดก และ พุทธประวัติ” โดยเลือกทศชาติชาดกมา 3 ชาติ คือ ชาติที่ 8 นารทชาดก, ชาติที่ 9 วิทูรชาดก และชาติที่ 10 เวสสันดรชาดก ส่วนพุทธประวัติ คือ ตอนออกมหาภิเนษกรมณ์
.
- ด้านที่ 1 “นารทชาดก”
เป็นชาติที่ 8 เพื่อบำเพ็ญอุเบกขาบารมี
พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นท้าวมหาพรหม ชื่อว่า นารทะ ในครั้งนั้นพระเจ้าอังคติราชมีความเห็นผิดว่า นรก สวรรค์ ไม่มีจริง นารทะพรหมจึงได้เสด็จลงมาแสดงโทษแห่งความเห็นผิดให้พระเจ้าอังคติราชสดับฟัง ทำให้พระองค์คลายจากมิจฉาทิฐิละความเห็นผิด กลับมาปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข
ฉากที่เลือกมาเขียน เป็นฉากตอนที่นารทะพรหมหาบสาแหรกทองคำ เหาะลงมายังปราสาทของพระเจ้าอังคติราช โดยมีพระธิดาเข้าเฝ้าอยู่ เพื่อแสดงโทษแห่งความเห็นผิดให้พระเจ้าอังคติราชฟัง
.
- ด้านที่ 2 “วิทูรชาดก”
เป็นชาติที่ 9 เพื่อบำเพ็ญสัจจบารมี
พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นอำมาตย์ ชื่อว่า วิทูระ เป็นผู้สอนอรรถและธรรมแด่พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะ แห่งกรุงอินทปัตถ์ เมื่อปุณณกยักษ์มาท้าพนันเล่นสกากับพระเจ้าธนัญชัย โดยมีวิทูรบัณฑิตเป็นเดิมพัน เพื่อหวังเอาหัวใจไปให้นางวิมาลาซึ่งเป็นมเหสีของพญานาค พระเจ้าธนัญชัยทรงแพ้ แม้วิทูรบัณฑิตจะรู้ดีว่า หากตอบว่าตนไม่ใช่ทาสของพระราชาก็จะพ้นจากสถานการณ์นี้ แต่ก็ยังคงตอบตามความเป็นจริงไป เพราะยึดมั่นในสัจจะ
ฉากที่เลือกมาเขียน เป็นฉากตอนที่ปุณณกยักษ์ปรารถนาจะได้หัวใจวิทูรบัณฑิตไปให้นางวิมาลามเหสี จึงควบม้าไปในทางที่มีต้นไม้และภูเขา โดยให้วิทูรบัณฑิตจับที่หางม้าไว้ หวังเหวี่ยงให้ร่างวิทูรบัณฑิตกระแทกต้นไม้และภูเขาตายไปโดยชอบธรรม แต่ทั้งต้นไม้และภูเขากลับแหวกทางออกให้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ
.
- ด้านที่ 3 “เวสสันดรชาดก”
เป็นชาติที่ 10 เพื่อบำเพ็ญทานบารมี
ชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนจะทรงอุบัติเป็นพระโคตมพุทธเจ้า โดยชาตินี้เสวยชาติเป็น พระเวสสันดร พระองค์ทรงตั้งปณิธานในการบริจาคทาน แม้จะมีใครขอสิ่งที่รัก สิ่งที่หวงแหนก็ทรงบริจาคเป็นทานได้
ฉากที่เลือกมาเขียน เป็นฉากในตอนของกัณฑ์ที่ 2 คือ กัณฑ์หิมพานต์ เป็นตอนที่พระเวสสันดรทรงมอบช้างปัจจัยนาเคนทร์ ช้างเผือกมงคลที่ไปที่ไหนฝนก็ตกที่นั่นให้แก่เหล่าพราหมณ์ทั้ง 8 (ในภาพวาดเพียง 7 คน) จากเมืองกลิงคราษฎร์ที่กำลังประสบปัญหาฝนแล้ง โดยพระหัตถ์หนึ่งกำลังหลั่งน้ำสิโณทก ไปที่มือของพราหมณ์ อีกพระหัตถ์จับงวงช้างไว้
.
- ด้านที่ 4 “ออกมหาภิเนษกรมณ์”
เป็นตอนในพุทธประวัติ หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะ ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง 4 คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ที่เทวดาแสร้งนิมิตไว้ แล้วทรงสังเวช แสวงหาอุบายแก้ทุกข์ จึงตัดสินใจออกผนวช
ฉากที่เลือกมาเขียน เป็นฉากในตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จไปยังปราสาท เพื่อทอดพระเนตรพระนางพิมพา (พระมเหสี) และพระราหุล (พระโอรส) ที่เพิ่งประสูติ ซึ่งทั้งสองกำลังบรรทมอยู่ และมีเหล่านางกำนัลกำลังหลับใหล ที่ด้านนอกปราสาทมีนายฉันทะที่เตรียมม้ากัณฐกะรออยู่ เพื่อเสด็จออกจากพระนครเพื่อออกผนวช
---------------------------------------------------
อ้างอิง
- ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ฉบับญาณวชิระ. สมุทรปราการ : เมืองโบราณ, 2565.
- วชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา. พุทธประวัติ เล่ม 1. พระนคร : โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, 2455.
(จำนวนผู้เข้าชม 459 ครั้ง)