...

ด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์
พระพุทธรูปปางมารวิชัย แกะสลักจากไม้

แบบศิลปะ / สมัย ศิลปะพื้นบ้านล้านนา ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ – ๒๕ วัสดุ (ชนิด) ไม้แกะสลักลงรักปิดทองล่องชาด ประดับกระจกจืน ขนาด หน้าตักกว้าง ๖.๙ เซนติเมตร สูง ๑๘ เซนติเมตร ประวัติความเป็นมา พุทธสถานเชียงใหม่ มอบให้ ความสำคัญ ลักษณะและสภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ พระพุทธรูปปางมารวิชัย แกะสลักจากไม้ ลงรักปิดทองล่องชาดและประดับกระจก พระพักตร์เรียวยาว พระวรกายเพรียวบาง พระรัศมีเป็นรูปดอกบัวตูม ชายสังฆาฏิยาว ส่วนชายตัดตรง ขอบสบงนูนขึ้นมามาก พระกรมีขนาดเล็กไม่สมส่วน จากลักษณะทางศิลปกรรมที่แสดงถึงความเป็นท้องถิ่นล้านนา ด้วยเทคนิคงานประดับตกแต่งที่มีความหลากหลายนี้ สันนิษฐานว่าพระพุทธรูปนี้สร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ – ๒๕ ตรงกับสมัยพระเจ้ากาวิละ ดังปรากฏว่าภายหลังจากการขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนา พระเจ้ากาวิละได้เริ่มต้นการฟื้นฟูบ้านเมือง ด้วยวิธี “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ด้วยการนำไพร่พลจากหลายพื้นที่เข้ามาอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ แล้วเร่งฟื้นฟูบ้านเมืองตลอดจนงานศิลปกรรม ยังผลให้เกิดการผสมผสานรูปแบบงานศิลปกรรมจากหลากหลายท้องถิ่น ทำให้ศิลปกรรมล้านนาในระยะนี้มีรูปแบบที่หลากหลาย

พระพุทธรูปปางมารวิชัยพระพักตร์สี่เหลี่ยมสั้น

แบบศิลปะ / สมัย ศิลปะล้านช้าง ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓ – ๒๔ วัสดุ (ชนิด) สำริด ขนาด หน้าตักกว้าง ๒๖.๓ เซนติเมตร สูงพร้อมฐาน ๖๖ เซนติเมตร ประวัติความเป็นมา ได้จากวัดศรีโขง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มอบให้ ความสำคัญ ลักษณะและสภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ พระพุทธรูปมีพระพักตร์สี่เหลี่ยมสั้นมีไรพระศก ขมวดพระเกศาเล็กแหลมแบบหนามขนุน พระอุษณีษะนูนขึ้นมามากรองรับชั้นกลีบบัวหงายรองรับพระรัศมีรูปเปลวไฟ พระขนงโก่ง พระกรรณด้านบนแหลม ในขอบพระกรรณตกแต่งลวดลายคล้ายลายก้นหอย พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกใหญ่โด่งเป็นสัน มุมพระโอษฐ์ทั้งสองข้างยกขึ้น พระวรกายทึบตัน ครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา ชายสังฆาฎิยาวส่วนปลายตัดตรง บริเวณบั้นพระองค์ทำเป็นแนวขอบสบงอย่างชัดเจน พระถันทำเป็นต่อมแหลม พระหัตถ์ขวาวางบนพระชงฆ์ นิ้วพระหัตถ์ยาวไล่เลี่ยกัน พระพุทธรูปแสดงปางมารวิชัยโดยประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐาน ๓ ชั้น ฐานชั้นล่างสุดเป็นฐานเขียงสูง ๖ เหลี่ยม ในตอนกลางเป็นฐานปัทม์เรียบเกลี้ยง ฐานตอนบนเป็นฐานปัทม์ ชั้นบนเป็นบัวหงายทำกลีบบัวรวน ส่วนบัวคว่ำปลายกลีบสะบัดงอนขึ้น เช่นเดียวกับลูกแก้วอกไก่ที่ทำปลายงอนขึ้นข้างบน เป็นแบบศิลปกรรมที่นิยมอยู่ในศิลปะล้านช้าง สกุลช่างเวียงจันทน์เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๒๓ จึงเป็นไปได้ที่พระพุทธรูปนี้ถูกสร้างขึ้นในศิลปะล้านช้าง สกุลช่างเวียงจันทน์ เมื่อช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๓ – ๒๔

พระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย

แบบศิลปะ / สมัย ศิลปะล้านนา ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒ วัสดุ (ชนิด) สำริด ขนาด หน้าตักกว้าง ๑๘.๕ เซนติเมตร สูง ๕๖ เซนติเมตร ประวัติความเป็นมา เดิมเป็นสมบัติส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มอบให้ ความสำคัญ ลักษณะและสภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ พระพุทธรูปทรงเครื่อง พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่งต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรเซาะร่องลึก พระนาสิกโด่ง พระหนุเป็นปม พระอังสากว้าง พระวรกายเพรียวบาง ทรงมงกุฎ กุณฑล สังวาล พาหุรัด ทองพระกรและพระธำมรงค์ ทับทรวงประดับพลอยสีแดง มีการตกแต่งจีวรด้วยลายลูกประคำ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร บนฐาน ๒ ชั้น โดยฐานตอนบนเป็นฐานปัทม์มีเกสร ตกแต่งส่วนบัวคว่ำด้วยลวดลายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะจีน ตอนล่างเป็นฐานหน้ากระดานหกเหลี่ยม ฐานล่างสุดมีขา หรือส่วนของสายชนวนสำหรับเททอง ๓ ด้าน พระพุทธรูปทรงเครื่องพบในศิลปะล้านนาค่อนข้างน้อย คติการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องมีที่มาจากความเชื่อเรื่องพระอนาคตพุทธเจ้า หรือพุทธประวัติ ตอนทรงทรมานพญาชมภูก็เป็นได้ จากรูปแบบเครื่องประดับ สันนิษฐานว่าพระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒ ซึ่งเป็นเวลาที่ศิลปะภาคเหนือได้รับอิทธิพลจากศิลปะสมัยอยุธยา ส่งผลให้รูปแบบศิลปกรรมมีความหลากหลายยิ่งขึ้น

พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งบนฐานหน้ากระดานซ้อนด้านบนด้วยฐานบัวคว่ำ

แบบศิลปะ / สมัย ศิลปะล้านนา สกุลช่างฝาง ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒ วัสดุ (ชนิด) สำริด ขนาด ฐานกว้าง ๔๖ เซนติเมตร สูง ๖๗.๕ เซนติเมตร ประวัติความเป็นมา พระครูพิพัฒน์ สุตะกิจ วัดสันทรายมูล อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ มอบให้ ความสำคัญ ลักษณะและสภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งบนฐานหน้ากระดานซ้อนด้านบนด้วยฐานบัวคว่ำ บัวหงาย มีเกสรบัวยาว ปลายเกสรบัวทำเป็นต่อมกลม ระหว่างบัวคว่ำกับบัวหงายทำคอดเข้าไปมากและไม่มีท้องไม้คั่น ส่วนบัวคว่ำทำส่วนปลายกลีบบัวงอนขึ้นคล้ายกับฐานบัวงอนในศิลปะล้านช้าง พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางมารวิชัยโดยวางพระหัตถ์ขวาที่กึ่งกลางพระชานุ ครองจีวรเรียบ มีขอบจีวรคาดที่ใต้พระชานุซ้าย ส่วนขอบสบงปรากฏที่ข้อพระบาท พาดสังฆาฏิแผ่นใหญ่ ชายสังฆาฏิยาวลงมาจนถึงพระนาภี พระวรกายเพรียวบาง พระศอเป็นปล้อง ส่วนพระพักตร์ทรงผลมะตูม พระหนุเป็นต่อมกลมนูน สัดส่วนพระพักตร์เมื่อเทียบกับองค์ประกอบของพระพักตร์ เช่น พระเนตร พระนาสิก พระโอษฐ์ สัดส่วนพระพักตร์จะเล็กกว่าอย่างเห็นได้ชัด มีไรพระศก ขมวดพระเกศาขนาดเล็กเรียวแหลม อุษณีษะนูนสูงรับกับพระรัศมีทรงเปลว หรือบางครั้งพบว่ามีการทำพระรัศมีเป็นรูปหยดน้ำ ลักษณะของพระพุทธรูปสกุลช่างฝาง อาจจะให้อิทธิพลแก่ศิลปะล้านช้าง

พระพุทธรูปปางมารวิชัย รูปแบบศิลปกรรมผสมผสานระหว่างศิลปะสุโขทัยกับศิลปะล้านนา

แบบศิลปะ / สมัย ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒ วัสดุ (ชนิด) สำริด ขนาด หน้าตักกว้าง ๓๕ เซนติเมตร สูงพร้อมฐาน ๖๖.๕ เซนติเมตร ประวัติความเป็นมา ได้จากวัดศรีโขง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มอบให้ ความสำคัญ ลักษณะและสภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ พระพุทธรูปปางมารวิชัย รูปแบบศิลปกรรมผสมผสานระหว่างศิลปะสุโขทัยกับศิลปะล้านนา เช่น พระวรกายเพรียวบาง ครองสังฆาฏิที่ทำเป็นแผ่นขนาดใหญ่ พระรัศมีเป็นเปลว และชายจีวรที่คาดอยู่ใต้พระชานุ เป็นต้น รูปแบบศิลปกรรมพระพุทธรูปนี้คล้ายคลึงกับพระพุทธรูปพระเจ้าเก้าตื้อ พระเมืองแก้วโปรดฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๗ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๐๕๓ ส่วนฐานขององค์พระพุทธรูปเป็นฐานปัทม์ เกสรบัวมีต่อมกลม และส่วนปลายกลีบบัวงอนออก สันนิษฐานว่าพระพุทธรูปนี้ถูกสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ภายหลังมีการสลักตัวอักษรเพิ่มเติมที่ฐานด้านหน้า ความว่า “พระครูคำภิระ ให้นายจีนแม่ชื่นไว้เป็นที่รฤก เชียงใหม่”

พระพุทธรูปปางมารวิชัย 2

แบบศิลปะ / สมัย ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๑๘ – ๒๐ วัสดุ (ชนิด) สำริด ขนาด ตักกว้าง ๙๕ เซนติเมตร สูง ๑๑๔ เซนติเมตร ประวัติความเป็นมา พระธรรมราชานุวัตร เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์วรวิหาร อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ให้ยืมจัดแสดง ความสำคัญ ลักษณะและสภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร บนฐานหน้ากระดานเตี้ย รูปแบบศิลปกรรมเป็นพระพุทธรูปล้านนาที่เรียกว่า พระพุทธรูปแบบสิงห์ คือ มีพระพักตร์กลม พระเนตรเหลือบต่ำ พระขนงโก่งโค้งไม่ติดกัน พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์แย้ม พระหนุเป็นปมขนาดใหญ่ ขมวดพระเกศาใหญ่ พระรัศมีทำด้วยไม้สามารถถอดแยกออกจากส่วนพระเศียรได้ พระวรกายอวบอ้วน พระอังสากว้าง พระอุระนูน ครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา ชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระถัน ปลายหยักคล้ายเขี้ยวตะขาบ พระหัตถ์ขวาวางเหนือพระชานุ ปลายนิ้วพระหัตถ์ยาวไม่เท่ากัน พระพุทธรูปปางมารวิชัยมีร่องรอยของสลัก (แซว่) เชื่อมต่อระหว่างส่วนพระเศียรกับพระวรกายเข้าด้วยกัน เทคนิคการปั้นหล่อนี้ปรากฏหลักฐานในชินกาลมาลีปกรณ์ว่าพระพุทธรูปที่พระเจ้าติโลกราชโปรดฯ ให้หล่อขึ้นเพื่อประดิษฐานในวัดบุปผารามในพุทธศักราช ๒๐๔๘ มีที่ต่อถึง ๘ แห่ง อย่างไรก็ดีเทคนิคที่ปรากฏอยู่ในชินกาลมาลีปกรณ์อาจเป็นที่นิยมทำแพร่หลายอยู่ในล้านนามาก่อนก็เป็นได้


Messenger