...

พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งบนฐานหน้ากระดานซ้อนด้านบนด้วยฐานบัวคว่ำ

         แบบศิลปะ / สมัย ศิลปะล้านนา สกุลช่างฝาง ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒

         วัสดุ (ชนิด) สำริด

         ขนาด ฐานกว้าง ๔๖ เซนติเมตร สูง ๖๗.๕ เซนติเมตร

         ประวัติความเป็นมา พระครูพิพัฒน์ สุตะกิจ วัดสันทรายมูล อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ มอบให้ 

         ความสำคัญ ลักษณะและสภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ 

         พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งบนฐานหน้ากระดานซ้อนด้านบนด้วยฐานบัวคว่ำ บัวหงาย มีเกสรบัวยาว ปลายเกสรบัวทำเป็นต่อมกลม ระหว่างบัวคว่ำกับบัวหงายทำคอดเข้าไปมากและไม่มีท้องไม้คั่น ส่วนบัวคว่ำทำส่วนปลายกลีบบัวงอนขึ้นคล้ายกับฐานบัวงอนในศิลปะล้านช้าง พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางมารวิชัยโดยวางพระหัตถ์ขวาที่กึ่งกลางพระชานุ ครองจีวรเรียบ มีขอบจีวรคาดที่ใต้พระชานุซ้าย ส่วนขอบสบงปรากฏที่ข้อพระบาท พาดสังฆาฏิแผ่นใหญ่ ชายสังฆาฏิยาวลงมาจนถึงพระนาภี พระวรกายเพรียวบาง พระศอเป็นปล้อง ส่วนพระพักตร์ทรงผลมะตูม พระหนุเป็นต่อมกลมนูน 

สัดส่วนพระพักตร์เมื่อเทียบกับองค์ประกอบของพระพักตร์ เช่น พระเนตร พระนาสิก พระโอษฐ์ สัดส่วนพระพักตร์จะเล็กกว่าอย่างเห็นได้ชัด มีไรพระศก ขมวดพระเกศาขนาดเล็กเรียวแหลม อุษณีษะนูนสูงรับกับพระรัศมีทรงเปลว หรือบางครั้งพบว่ามีการทำพระรัศมีเป็นรูปหยดน้ำ ลักษณะของพระพุทธรูปสกุลช่างฝาง อาจจะให้อิทธิพลแก่ศิลปะล้านช้าง   

 

(จำนวนผู้เข้าชม 389 ครั้ง)


Messenger