พระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย
แบบศิลปะ / สมัย ศิลปะล้านนา ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒
วัสดุ (ชนิด) สำริด
ขนาด หน้าตักกว้าง ๑๘.๕ เซนติเมตร สูง ๕๖ เซนติเมตร
ประวัติความเป็นมา เดิมเป็นสมบัติส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มอบให้
ความสำคัญ ลักษณะและสภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
พระพุทธรูปทรงเครื่อง พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่งต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรเซาะร่องลึก พระนาสิกโด่ง พระหนุเป็นปม พระอังสากว้าง พระวรกายเพรียวบาง ทรงมงกุฎ กุณฑล สังวาล พาหุรัด ทองพระกรและพระธำมรงค์ ทับทรวงประดับพลอยสีแดง มีการตกแต่งจีวรด้วยลายลูกประคำ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร บนฐาน ๒ ชั้น โดยฐานตอนบนเป็นฐานปัทม์มีเกสร ตกแต่งส่วนบัวคว่ำด้วยลวดลายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะจีน ตอนล่างเป็นฐานหน้ากระดานหกเหลี่ยม ฐานล่างสุดมีขา หรือส่วนของสายชนวนสำหรับเททอง ๓ ด้าน
พระพุทธรูปทรงเครื่องพบในศิลปะล้านนาค่อนข้างน้อย คติการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องมีที่มาจากความเชื่อเรื่องพระอนาคตพุทธเจ้า หรือพุทธประวัติ ตอนทรงทรมานพญาชมภูก็เป็นได้ จากรูปแบบเครื่องประดับ สันนิษฐานว่าพระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒ ซึ่งเป็นเวลาที่ศิลปะภาคเหนือได้รับอิทธิพลจากศิลปะสมัยอยุธยา ส่งผลให้รูปแบบศิลปกรรมมีความหลากหลายยิ่งขึ้น
(จำนวนผู้เข้าชม 266 ครั้ง)