...

องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “วันสงกรานต์ 13 เมษายน”
องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “วันสงกรานต์ 13 เมษายน”
วันสงกรานต์ ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี คำว่า "สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า การเคลื่อนที่ หรือการ เคลื่อนย้าย หมายถึงการเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งสู่อีกราศีหนึ่ง คือวันขึ้นปีใหม่นั่นเองตามความหมายในภาษาสันสกฤตสงกรานต์จึงเกิดขึ้นทุกเดือน ส่วนระยะเวลาที่คนไทยเรียก "สงกรานต์” นั้น เป็นช่วงที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ นับว่าเป็นมหาสงกรานต์ เพราะเป็นวันและเวลาตั้งต้นปีใหม่ตามสรุยคติ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ คือ วันที่ 13-14-15 เมษายน โดยเรียกวันที่ 13 เมษายน ว่าวันมหาสงกรานต์ วันที่ 14 เมษายน เป็นวันเนา วันที่ 15 เมษายน เป็นวันเถลิงศก
สมัยก่อนถือวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย ตรงกับช่วงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหาร คนสมัยโบราณจึงคิดทำกิจกรรมเพื่อเป็นการพักผ่อนหลังจากทำงาน และเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้พบกันและเล่นสาดน้ำกัน เพื่อคลายความร้อนในเดือนเมษายน
ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงให้พิธีสงกรานต์นั้นเป็นเทศกาลสงกรานต์ ในพิธีสงกรานต์จะใช้ น้ำ เป็นสัญลักษณ์ที่เป็นองค์ประกอบหลักของพิธี แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ในวันนี้จะใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ มีการรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ต่อมาในสังคมไทยสมัยใหม่เกิดเป็นประเพณีกลับบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นับว่าวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว อีกทั้งยังมีประเพณีที่สืบทอดมาตั้งแต่ดั้งเดิม อย่าง การสรงน้ำพระที่นำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข
การสรงน้ำพระ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ การเล่นสาดน้ำในคนรุ่นราวคราวเดียวกัน หรือเยาว์กว่า เป็นความงดงามของประเพณี การสืบทอดจรรโลงประเพณีสงกรานต์จึงน่าจะช่วยกันรักษาคุณค่าทางใจ ความมีน้ำใจ การมีสัมมาคารวะและกตัญญู การช่วยเหลือเกื้อกูลต่อธรรมชาติต่อสิ่งแวดล้อม
เชื่อว่า คนไทยทุกคนรู้จัก "นางสงกรานต์" แต่เราอาจจะยังไม่รู้ว่า นางสงกรานต์ มีที่มาจากไหน
โดยตำนานเกี่ยวกับนางสงกรานต์นั้น ได้มีปรากฏในศิลาจารึกที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ ท่าเตียน โดยย่อว่า เมื่อวันสงกรานต์ตรงกับวันใดในแต่ละปี ก็จะมีนางสงกรานต์ประจำวันนั้นๆ
เมื่อวันสงกรานต์ตรงกับวันใดในแต่ละปี ก็จะมีนางสงกรานต์ประจำวันนั้นๆ
ตรงกับวันอาทิตย์ จะชื่อ “ทุงษเทวี” ตรงกับจันทร์ ชื่อ “โคราดเทวี” ตรงกับวันอังคาร ชื่อ”รากษสเทวี” ” ตรงกับวันพุธ ชื่อ”มัณฑาเทวี” ตรงกับวันพฤหัสบดีชื่อ “กิริณีเทวี” ตรงกับวันศุกร์ ชื่อ “กิมิทาเทวี” ตรงกับวันเสาร์ ชื่อ”มโหทรเทวี”
ธรรมบาลกุมาร เป็นเทพบุตรที่พระอินทร์ประทานให้ลงไปเกิดในครรภ์ภรรยาเศรษฐี เมื่อโตขึ้นก็ได้เรียนรู้ภาษานก และเรียนไตรเภทจบเมื่ออายุได้เพียง 7 ขวบ จึงได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่างๆ แก่คนทั้งหลาย จนวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ โดยถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสียเอง โดยธรรมบาลกุมารได้ขอตอบคำถามใน 7 วัน
เมื่อถึงเวลา ท้าวกบิลพรหม ก็มาตามสัญญาที่ให้ไว้ ธรรมบาลกุมารจึงนำคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ทำให้ท้าวกบิลพรหมแพ้ในการตอบคำถามครั้งนี้ และก่อนจะตัดเศียร ท้าวกบิลพรหม ได้เรียก ธิดาทั้ง 7 องค์ ซึ่งเป็นนางฟ้า ให้เอาพานมารองรับ เนื่องจากเศียรของท้าวกบิลพรหมเป็นที่รวมแห่งความไม่ดีทั้งปวง ถ้าวางไว้บนแผ่นดินไฟจะไหม้โลก ถ้าโยนขึ้นไปบนอากาศฝนจะแล้ง ถ้าทิ้งลงในมหาสมุทรน้ำจะแห้ง
ธิดาทั้ง 7 จึงมีหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันดูแลเศียรของท้าวกบิลพรหม และในทุกๆ ปี ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหม แห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเวลา 60 นาที แล้วประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ จึงเป็นที่มาของ นางสงกรานต์ โดยแต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์นั่นเอง
คติความเชื่อของไทยถือว่าในวันสงกรานต์ถ้าหากได้มีการปล่อยนกปล่อยปลาแล้ว จะเป็นการล้างบาปที่ทำไว้ และเป็นการสะเดาะเคราะห์ร้าย ให้คงไว้แต่ความสุขความเจริญในวันขึ้นปีใหม่ การปล่อยนกปล่อยปลาที่ทำเป็นพิธีและติดต่อกันทุกๆปี จะเห็นได้ที่ปากลัดที่มีขบวนแห่ที่สวยงาม และเอกเกริกในตอนเย็น ตอนกลางคืนจะมีการละเล่นต่างๆ เช่น การเล่นสะบ้า คนหนุ่มสาวจะมีโอกาสได้ใกล้ชิดกัน
วันที่เกี่ยวข้องกับวันสงกรานต์คือวันตรุษไทย ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ซึ่งถือว่าเป็นวันสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ของไทยในสมัยโบราณคู่กับวันสงกรานต์ ที่เรียกว่า “ตรุษสงกรานต์” ตรุษ แปลว่า ยินดี หมายถึงยินดีที่มีชีวิตยั่งยืนจนถึงวันนี้ จึงจัดพิธีแสดงความยินดี โดยการทำบุญ ไม่ให้ประมาทในชีวิต ปกติจะจัด 3 วัน วันแรก คือแรม 14 ค่ำ เป็นวันจ่าย วันกลาง คือแรม 15 ค่ำ เป็นวันทำบุญ มีการละเล่นจนถึงวันที่ 3 คือขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปัจจุบันนิยมรวบยอดมาทำบุญและเล่นสนุกสนานในวันสงกรานต์ช่วงเดียว
วันสงกรานต์ ปี 2566 นางสงกรานต์ ทรงนามว่า "กิมิทาเทวี" ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จนั่งมาเหนือหลังมหิงสา (ควาย) เป็นพาหนะ
ปีเถาะ (มนุษย์ผู้หญิง ธาตุไม้) เบญจศก จุลศักราช 1385 ทางจันทรคติ เป็น อธิกมาส ทางสุริยคติ เป็น ปกติสุรทิน วันที่ 14 เม.ย. เป็น วันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันศุกร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 5 เวลา 16 นาฬิกา 01 นาที 02 วินาทีวันที่ 16 เม.ย. เวลา 20 นาฬิกา 12 นาที 24 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1385 ปีนี้วันเสาร์ เป็น ธงชัย , วันพุธ เป็น อธิบดี , วันศุกร์ เป็น อุบาทว์ , วันศุกร์ เป็น โลกาวินาศ
ปี 2566 นี้ วันจันทร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 500 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า ตกในมหาสมุทร 100 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 150 ห่า ตกในเขาจักรวาล 200 ห่า นาคให้น้ำ 2 ตัว
เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 6 ชื่อ ลาภะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ 9 ส่วน เสีย 1 ส่วน ธัญญาหาร พลาหาร มัจฉมังษาหาร จะบริบูรณ์ อุดมสมบูรณ์ เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีปัถวี (ดิน) น้ำงามพอด๊
อ้างอิง : ประชิด สกุณะพัฒน์, อุดม เชยกีวงศ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : ภูมิปัญญา, 2549.
บุญเติม แสงดิษฐ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : พัชรการพิมพ์. 2541.
คำทำนาย : จากฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง
ผู้เรียบเรียง : นายประพนธ์ รอบรู้
นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี

(จำนวนผู้เข้าชม 1533 ครั้ง)