...

องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “วันครู 16 มกราคม”
องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “วันครู 16 มกราคม”
เหตุผลที่วันที่ 16 มกราคมของทุกปีถูกกำหนดให้เป็นวันครู อันเนื่องมาจาก ในปี 2488 ประเทศไทยมีการประกาศพระราชบัญญัติครูขึ้นมาในราชกิจจานุเบกษา จึงมีการกำหนดให้มีวันครูครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมา
ครู หมายถึง ผู้อบรมสั่งสอน ผู้ถ่ายทอดความรู้ ผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมและประเทศชาติ เป็นผู้ที่มีหน้าที่สอน อบรมเกี่ยวกับวิชาความรู้ การอ่านเขียน (คำว่าครูนั้นมาจากศัพท์ภาษาสันสกฤต คำว่า "คุรุ" และภาษาบาลี คำว่า "ครุ" , "คุรุ")
วันครูได้จัดให้มีขึ้น ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า "คุรุสภา" เป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครู ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นในเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ ควบคุมจรรยาและวินัยของครู จัดสวัสดิการการให้แก่ครูและครอบครัว ได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู
ทุกๆปี คุรุสภาจึงจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งซักถามปัญหาข้อข้องใจต่างๆเกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภา โดยมี คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบข้อสงสัย สถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุม "สามัคคยาจารย์" หอประชุมของจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ในระยะหลังจึงมาใช้หอประชุมของคุรุสภา
ปี พ.ศ. 2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวปราศัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า "ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่า"วันครู"ควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้ แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับคนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง"
จากแนวความคิดนี้ กอรปกับความคิดเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่นๆที่ล้วนเรียกร้อง ให้มี "วันครู" เพื่อให้เป็นการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติ และประชาชนเป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติ เห็นควรให้มี "วันครู" เพื่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอในหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครู และเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอีนดีระหว่างครูกับประชาชน
ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้วันที่ 16 มกราคม ของทุกปีเป็น "วันครู" โดยถือเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2488 เป็นวันครู และให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดัง กล่าวได้
การจัดงานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2500 ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงาน ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้ให้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญคือ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ
คำขวัญวันครูนั้นเป็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา ต่อมาก็เป็นคำขวัญของบุคคลทั่วไปที่ส่งเข้าประกวด และจากนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้คำขวัญเนื่องในโอกาสวันครู ครั้งที่ 67 ดังนี้ "ครูดี ศิษย์ดี มีอนาคต"
อ้างอิง : ประชิด สกุณะพัฒน์, อุดม เชยกีวงศ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : ภูมิปัญญา, 2549. บุญเติม แสงดิษฐ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : พัชรการพิมพ์. 2541.
ผู้เรียบเรียง : นายประพนธ์ รอบรู้
นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี

(จำนวนผู้เข้าชม 247 ครั้ง)