พระพุทธรูปปางมารวิชัย (ชนะมาร)
พระพุทธรูปมารวิชัย หรือพระพุทธรูปชนะมาร หล่อด้วยสำริด ประทับขัดสมาธิเพชร พระบาททั้งสองไขว้กัน และเห็นฝ่าพระบาททั้งสองข้าง ฝ่าพระบาทเรียบเสมอกัน พระรัศมีเป็นเปลว พระศกขมวดเป็นก้นหอย มีเส้นขอบไรพระศก พระพักตร์กลม พระขนงโก่ง พระเนตรเรียว ฝังมุกและนิล พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เล็กหยักเป็นคลื่น พระวรกายอวบอ้วน พระอุระนูน บั้นพระองค์เล็ก ครองจีวรห่มเฉียง ชายผ้าสังฆาฏิสั้นเป็นรูปหางปลาอยู่เหนือพระถัน ประทับเหนือฐานสามเหลี่ยม หน้าพระเพลามีชายจีวรคลี่เป็นแฉกคล้ายรูปพัด
จากรูปแบบศิลปกรรมสามารถกำหนดอายุว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง พุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒ พระพุทธรูปศิลปะอยุธยากลุ่มนี้ สร้างขึ้นโดยได้รับอิทธิพลทางจากศิลปะสุโขทัยและล้านนา กล่าวคือ มีรัศมีเป็นเปลว แบบพระพุทธรูปสุโขทัย มีพระวรกายที่อวบอ้วน มีชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระถัน ขัดสมาธิเพชร และที่หน้าพระเพลามีชายจีวรคลี่เป็นรูปพัดแบบพระพุทธรูปล้านนา ในขณะเดียวกันมีลักษณะที่แสดงรูปแบบของพระพุทธรูปศิลปะอยุธยา คือ มีเส้นขอบพระเนตรกับพระขนงป้ายเป็นแผ่นวงโค้ง มีเส้นขอบไรพระศก และพระโอษฐ์หยักเป็นคลื่น ผสมผสานจนเกิดเป็นรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธรูปศิลปะอยุธยา โดยสามารถศึกษาเปรียบเทียบกับกลุ่มพระพุทธรูปศิลปะอยุธยาตอนกลาง ที่พบในพระอุระและพระพาหาของพระมงคลบพิตร ซึ่งพระพุทธรูปเหล่านั้น ล้วนสร้างขึ้นก่อนถูกนำมาบรรจุในพระอุระและพระพาหาขององค์พระมงคลบพิตรในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒ การพบรูปแบบพระพุทธรูปแบบศิลปกรรมสุโขทัยและล้านนา ปรากฏในพระพุทธรูปสมัยอยุธยาองค์นี้ เป็นหลักฐานสำคัญว่าช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒ อยุธยามีความสัมพันธ์กับหัวเมืองทางเหนือ ได้แก่ สุโขทัยและล้านนา
สำหรับคติการสร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัย แสดงพุทธประวัติเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าทรงสามารถชนะพระยามารที่ยกพลมาผจญพระองค์ และได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งแสดงสัญลักษณ์โดยวางพระหัตถ์ขวาเหนือพระชานุ นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงสู่พระธรณีเป็นกิริยาเรียกพระแม่ธรณีขึ้นมาเป็นพยานในพระบารมีที่ทรงบำเพ็ญมา พระแม่ธรณีจึงปรากฏกายขึ้นและบีบน้ำที่ทรงรดสรงในการบำเพ็ญทานในอดีตชาติ อันนับประมาณมิได้ จนท่วมทัพของพรยามารพ่ายแพ้ไป การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าถือเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ เหนือกว่าชัยชนะทั้งปวงของพระองค์ โดยนัย การบูชาพระพุทธรูปองค์นี้ จึงบูชาเพื่อชัยชนะทั้งทางโลกและทางธรรม ในทางโลกคือชัยชนะเหนือศัตรู ทางธรรมคือชัยชนะเหนือกิเลสทั้งปวง
เอกสารอ้างอิง
สันติ เล็กสุขุม, ศิลปะอยุธยา, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๔๔.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์, พระพุทธรูปสำคัญและพุทธศิลป์ในดินแดนไทย, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๕๔.
(จำนวนผู้เข้าชม 52800 ครั้ง)