...

ประติมากรรมดินเผารูป พระเจ้าสุทโธทนะ


พบจากการขุดแต่งเจดีย์หมายเลข ๑๑ เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

           ประติมากรรมดินเผาขนาดเล็ก รูปบุรุษนั่งประนมมือ ขัดสมาธิราบ สวมศิราภรณ์หรือเครื่องประดับศีรษะทรงสูงยอดแหลม มีกรอบหน้านาง ด้านข้างประดับลายกระจัง พระพักตร์ของประติมากรรมค่อนข้างกลม พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระนาสิกใหญ่และโด่งเป็นสัน พระโอษฐ์หนา พระกรรณยาว สวมตุ้มหูทรงกลมขนาดใหญ่ ไม่แสดงรายละเอียดของเครื่องแต่งกาย อันแสดงถึงอิทธิพลศิลปะอินเดียแบบคุปตะ คือนิยมนุ่งห่มด้วยผ้าเนื้อบางแนบติดกับลำตัว ไม่นิยมแสดงริ้วหรือร่องรอยของเนื้อผ้า ที่พระพาหาประดับด้วยพาหุรัดหรือกำไลแขน ลายเป็นรูปใบไม้สามเหลี่ยม นุ่งผ้ายาวครึ่งแข้ง จากรูปแบบศิลปกรรม กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว)

           แต่เดิมมีการตีความว่าประติมากรรมดินเผานี้เป็นรูปพระโพธิสัตว์ เทวดา บุคคลชั้นสูงหรือกษัตริย์ ต่อมามีการตีความใหม่เมื่อมีผู้อ่านและแปลความหมายของจารึกที่ใต้ฐานของประติมากรรมดังกล่าว ซึ่งเป็นอักษรหลังปัลลวะ ภาษาสันสกฤต กำหนดอายุตรงกับรูปแบบศิลปกรรม คือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ จารึกบรรทัดบนอ่านว่า “ศุทฺโธ” บรรทัดที่ ๒ ซึ่งค่อนข้างสมบูรณ์กว่า อ่านว่า “ศุทฺโธทน” จึงเชื่อได้ว่าประติมากรรมรูปบุคคล ดังกล่าว หมายถึง “พระเจ้าสุทโธทนะ” หรือพระพุทธบิดา 

            พระเจ้าสุโธทนะทรงเป็นพระพุทธบิดา เดิมนั้นทรงมุ่งหวังให้เจ้าชายสิทธัตถะ สืบราชบัลลังก์เป็นกษัตริย์แห่งศากยวงศ์ต่อจากพระองค์ ต่อมาเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช และตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเสด็จโปรดพระบิดา พระเจ้าสุทโธนะได้มีโอกาสสดับพระธรรมเทศนา ทรงเกิดความเลื่อมใสและบรรลุโสดาบัน เป็นอุบาสก ต่อมาในพรรษาที่ ๕ ของพระพุทธเจ้า พระเจ้าสุทโธทนะประชวรหนัก พระพุทธองค์ได้เสด็จจากกุฎาคาร ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี มายังเมืองกบิลพัสดุ์ ทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดา เป็นเวลา ๗ วัน ในวันสุดท้าย พระเจ้าสุทโธทนะได้บรรลุพระอรหัตผลและพระนิพพาน

           ประติมากรรมรูปพระเจ้าสุทโธทนะ ทำมาแล้วตั้งแต่ศิลปะอินเดียสมัยโบราณ เช่น ภาพสลักพุทธประวัติหลายตอนบนซุ้มประตูทางเข้าสถูปสาญจี ประติมากรรมดินเผารูปพระเจ้าสุทโธทนะกำลังทำอัญชลีมุทรานี้ น่าจะหมายถึงทรงกำลังฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์ ประติมากรรมชิ้นนี้ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพบจากการขุดแต่งเจดีย์หมายเลข ๑๑ เมืองโบราณอู่ทอง และมีจารึกที่สามารถระบุได้ว่าหมายถึง “พระเจ้าสุทโธทนะ” พระพุทธบิดา อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงการแต่งกายของบุคคลชั้นสูงในวัฒนธรรมทวารวดีอีกด้วย

 

เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถาน เมืองเก่าอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี. พระนคร : ศิวพร, ๒๕๐๙.

กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๒ สุพรรณบุรี กรมศิลปากร จัดพิมพ์, ๒๕๔๕.

กรมศิลปากร. ศิลปะทวารวดี ต้นกำเนิดพุทธศิลป์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๕๒.

ปีเตอร์ สกิลลิ่ง และศานติ ภักดีคำ. “จารึกพระสาวกและจารึกพระเจ้าศุทโธทนะ พบใหม่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี”, เอกสารประกอบการประชุมสัมมนา เรื่อง ความก้าวหน้าในการศึกษาโบราณคดีและเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดี, กรมศิลปากร, วันที่ ๒๔ – ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ณ โรงแรมสองพันบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี. และใน Fragile Palm Leaves (December 2545/2002) : 11-14.

(จำนวนผู้เข้าชม 2122 ครั้ง)