ช่วงสายของวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ เรือหลวงศรีราชาได้แล่นเข้ามาใกล้กับเกาะราชาน้อยซึ่งเป็นที่หมายของเรา พร้อมเสียงผู้การเรือประกาศผ่านลำโพงแจ้งให้ทุกคนทราบ .... "เตรียมการจอดเรือ"
ทันทีที่สิ้นเสียงประกาศนักดำน้ำสำรวจทุกคนได้เตรียมชุดดำน้ำ และวางแผนการทำงานขั้นสุดท้าย โดยแบ่งชุดสำรวจออกเป็น ๓ ชุดด้วยกัน ชุดแรกนั้นมุ่งไปที่การหาจุดที่พบวัตถุรูปทรงคล้ายปืนใหญ่โบราณพร้อมแบ่งคนไปสำรวจด้านทิศเหนือ ชุดที่สองนั้นมุ่งสำรวจไปทางทิศใต้ สำหรับชุดที่สามนั้นเป็นชุดสนับสนุนจากทัพเรือ เมื่อเข้าใจการทำงานกันอย่างดีแล้ว ชุดดำชุดที่หนึ่งทยอยไต่ลงจากท้ายเรือหลวงไปที่เรือยางที่ทางทัพเรือภาคที่ ๓ เตรียมมาสนับสนุน และแล่นไปตามคลื่นเข้าหาที่หมาย ในเวลาเพียงไม่นานทีมงานที่เหลือบนเรือก็เห็นทุ่นสัญญาณลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ ซึ่งแน่นอนว่านั้นหมายถึงการพบวัตถุต้องสงสัยแล้ว เมื่อทราบดังนั้นชุดดำที่เหลือจึงไม่รอช้าปืนลงเรือยางเพื่อเข้าสู่ที่หมายเป็นลำดับต่อไป
สภาพแรกที่เห็นคือแท่นขนาดใหญ่ลักษณะเป็นที่เหลี่ยมคางหมู มีขนาดประมาณ ๑๒๐ x ๙๐ เซนติเมตร สูงไม่ต่ำกว่า ๗๐ เซนติเมตรจม ถัดมาเป็นวัตถุรูปทรงคล้ายปืนใหญ่จมอยู่ใต้ผิวทรายกว่าครึ่ง พื้นผิวภายนอกมีสนิมปกคลุม เบื้องต้นจึงจึงวิธีการเปิดพื้นผิวที่ปกคลุมวัตถุด้วยการโบกด้วยมือ (Hand Fan) เพื่อให้เห็นสภาพโดยรวมของวัตถุทั้งหมด ซึ่งมีขนาดความยาวประมาณ ๑ เมตร กว้างประมาณ ๒๐ เซนติเมตร เมื่อเห็นลักษณะรูปทรงทั้งหมดแล้วทีมงานกลับพบกับความแปลกใจเมื่อพบว่าวัตถุคล้ายปืนใหญ่นั้นถูกเชื่อมติดกันกับแท่นโลหะด้วยเหล็กฉาก ซึ่งหากเป็นปืนใหญ่โบราณจริงไม่ควรเป็นแบบนั้น ไม่เพียงเท่านี้ขนาดโดยรวมของปืนใหญ่ยังดูไม่สมมาตรเนื่องจากปากกระบอกปืนนั้นมีขนาดพอๆกันกับท้ายกระบอกปืน อีกทั้งรูที่สันนิษฐานว่าเป็นรูใส่กระสุนปืนยังมีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับตัวกระบอกปืน นั่นทำให้ตัวปืนมีความบางเกินกว่าที่จะเป็นปืนใหญ่ จากข้อสังเกตุดังกล่าวทำให้สรุปว่าวัตถุดังกล่าวนั้นเป็นท่อเหล็กที่ปลายด้านหนึ่งบานออกคล้ายปากกระบอกปืน ส่วนที่ท้ายปืนมีปุ่มยืนออกมาคล้ายกับท้ายปืนใหญ่ เมื่อถูกปกคลุมด้วยสนิมจึงมีลักษณะคล้ายคลึงกับปืนใหญ่โบราณ เมื่อสรุปได้ดังนั้น ทางทีมงานตัดสินใจที่จะนำท่อเหล็กดังกล่าวขึ้นเพื่อนำเก็บบันทึกและมาตรวจสอบต่อไป
(จำนวนผู้เข้าชม 2842 ครั้ง)