โบราณคดีใต้น้ำ
เป็นสาขาหนึ่งของวิชาโบราณคดี ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ทุกๆด้านของมนุษย์และวัฒนธรรมสมัยโบราณ จากข้อมูลและหลักฐานโบราณวัตถุหรือสิ่งก่อสร้างซึ่งจมอยู่หรือเคยจมอยู่ใต้น้ำทุกประเภท ทั้งในมหาสมุทร ทะเล แม่น้ำ คลอง ลำธาร บึง หนอง กว๊าน ตระพัง สระ บาราย และหรืออ่างเก็บน้ำที่เกิดจากการสร้างเขื่อน โดยงานโบราณคดีใต้น้ำส่วนใหญ่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษในเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์กับน้ำและแหล่งน้ำ ได้แก่ เรื่องการคมนาคมทางน้ำ เรือ พาหนะทางน้ำ การต่อเรือ การเดินเรือ ท่าเรือ สินค้า แหล่งผลิตสินค้า ตลาด ยุทธนาวี ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในเรือ วิถีชีวิตชาวน้ำ และเมืองท่าต่างๆในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
แหล่งโบราณคดีใต้น้ำและแหล่งเรือจมเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของชาติ หลักฐานจมน้ำเช่นนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การคมนาคม การติดต่อค้าขายทางทะเล ตลอดไปจนถึงสินค้า แหล่งผลิตสินค้า เทคโนโลยีการต่อเรือ การเดินเรือ การสงคราม และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเรือ ทั้งนี้เพราะในเรือเดินทะเลลำหนึ่ง ๆ นั้นเป็นทั้งบ้าน สำนักงาน พาหนะเดินทาง และโรงงานไปพร้อมกัน จึงมีทั้งข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวเรือ เสื้อผ้าอาภรณ์ อาหาร อาวุธ เครื่องมือจับปลา เครื่องมือหาทิศ อุปกรณ์ซ่อมแซมเรือและสินค้านานาชนิด หากเรือมีอายุการใช้งานยาวนานและเดินทางไปมาหลายที่หลายแห่งก็มีประวัติและข้อมูลทางประวัติศาสตร์มากขึ้นตามระยะเวลาและจำนวนแห่งที่ไปมา
งานโบราณคดีใต้น้ำจำเป็นจะต้องมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาทำงานร่วมกันแบบสหวิทยาการ เช่น นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะ นักมานุษยวิทยา นักวิชาการสิ่งแวดล้อม นักวิทยาศาสตร์การอนุรักษ์ วิศวกรด้านการต่อเรือ วิศวกรอุปกรณ์ปฏิบัติงานใต้น้ำ รวมทั้งแพทย์และพยาบาลเกี่ยวกับโรคใต้น้ำ ช่างภาพ นักวิชาการสาขาอื่นๆ เข้ามาร่วมปฏิบัติงานภาคสนามในการสำรวจและขุดค้นเก็บข้อมูล
องค์กรหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่บริหารและจัดการโบราณคดีใต้น้ำ จะต้องทำหน้าที่ทั้งปฏิบัติการในสาขาของตนเองและประสานงานกับนักวิชาการสาขาอื่นๆ แต่การปฏิบัติงานโบราณคดีใต้น้ำในประเทศไทยที่ดำเนินการโดยกองโบราณคดีใต้น้ำ อันประกอบด้วย นักโบราณคดี ช่างเทคนิคผู้ปฏิบัติงานใต้น้ำ นักวิทยาศาสตร์หรือเจ้าหน้าที่เทคนิคด้านการสงวนรักษาโบราณวัตถุ ช่างภาพ ช่างเขียนแผนผังและอาสาสมัครเท่านั้น เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ และความสนใจของนักวิชาการสาขาที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้การบริหารและจัดการไม่มีความหลากหลายเหมือนในประเทศที่มีวิทยาการก้าวหน้า
แต่อย่างไรก็ตาม กองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ก็กำลังพัฒนางานโบราณคดีใต้น้ำในประเทศไทยให้ไปสู่ความเป็นสากลและเปิดโอกาสให้นักวิชาการสาขาต่างๆ เข้าร่วมปฏิบัติงานในทุกๆ ขั้นตอน เพื่อเป็นการขยายขอบเขตองค์ความรู้การศึกษาค้นคว้าจากงานโบราณคดีใต้น้ำให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
(จำนวนผู้เข้าชม 737 ครั้ง)