แหล่งเตาเผาบ้านบางปูน
"การศึกษาภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาเผาบ้านบางปูน สะท้อนให้เห็นเรื่องราวของผู้คนในอดีต"
      
             แหล่งเตาเผาบ้านบางปูน เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี หรือแม่น้ำท่าจีน  พบร่องรอยเตาเผาและชิ้นส่วนภาชนะกระจายเป็นทางยาวประมาณ ๗ กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ในเขตตำบลรั้วใหญ่ ตำบลพิหารแดง ตำบลโพธิ์พระยา และตำบลสนามชัย อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองสุพรรณบุรีไปทางทิศเหนือราว ๗.๕ กิโลเมตร

          เตาเผาบ้านบางปูนมีลักษณะเป็นเตาแบบระบายความร้อนแนวนอนหรือแนวระนาบ (crossdraft kilns)หลังคาเตาโค้งรีคล้ายประทุนเรือหรือหลังเต่า ใช้ไม้ไผ่เป็นโครงสร้างหลังคาแล้วพอกด้วยดินเหนียวจนทั่ว อาจมีการสุมไฟเพื่อไล่ความชื้นและทำให้โครงสร้างเตาที่ประกอบด้วยดินผสมวัสดุอื่น ๆ อยู่ตัว แต่โครงสร้างที่มีเพียงดินยึดกันเช่นนี้ ทำให้ส่วนหลังคาเตายุบตัวลงก่อนเสมอ

ส่วนประกอบของเตาแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน

๑.  ห้องบรรจุเชื้อเพลิง (fire box)อยู่ต่ำกว่าส่วนอื่น พื้นห้องลาดเอียงราว ๑๐-๑๕ องศา มีช่องใส่ฟืนด้านหน้าเป็นรูปโค้ง และเป็นช่องสำหรับนำภาชนะเข้าไปในเตา

๒. ห้องวางภาชนะ (firing chamber) พื้นห้องยกสูงขึ้นจากห้องบรรจุเชื้อเพลิงราว ๖๐ เซนติเมตร มีพื้นที่มากกว่าส่วนอื่น เพราะต้องนำภาชนะเข้ามาจัดวางเพื่อเผา ผนังหนาประมาณ ๑๐-๒๐ เซนติเมตร มักแตกร้าวเพราะการหดตัวของดิน

๓.  ปล่องไฟ (Chimney) เป็นปล่องระบายความร้อนและควันไฟ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม แตกต่างจากปล่องไฟของแหล่งเตาอื่นที่มีลักษณะเป็นวงกลม



    เครื่องปั้นดินเผาที่ได้จากแหล่งเตาบ้านบางปูน เป็นภาชนะทรงชาม อ่าง ไหก้นกลม และไหเท้าช้างมีการขึ้นรูปด้วยวิธีขดดินเป็นเส้นและใช้แป้นหมุน เมื่อนำไปเผาด้วยอุณหภูมิความร้อนที่ไม่เท่ากัน จึงทำให้ได้ภาชนะทั้งประเภทเนื้อดิน (earthenware) และเนื้อแกร่ง (stoneware) ซึ่งมีความคงทนแตกต่างกัน



การตกแต่งภาชนะมีทั้งการเคลือบน้ำดิน เขียนสี ขุดเป็นลายรูปเมล็ดข้าว ลายซี่หวี ลายขูดขีดโครงร่างรูปสัตว์ และลายกดประทับในกรอบสี่เหลี่ยม ซึ่งนับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของแหล่งเตาเผาบ้านบางปูน

          ลวดลายกดประทับที่พบ ได้แก่

๑.      ลายหงส์

๒.      ลายกลีบบัว คล้ายลายเฟื่องอุบะหรือลายกรุยเชิง

๓.      ลายเทพนม เป็นภาพบุคคลสวมเครื่องประดับ พนมมือไว้ที่อก ขาทั้งสองข้างอยู่ในลักษณะคล้ายท่าเหาะ

๔.      ลายในกรอบรูปกลีบบัว เป็นบุคคลสวมเครื่องประดับนั่งชันเข่า มือซ้ายวางบนเข่า ส่วนมือขวายกเสมอศีรษะ

๕.     ลายบุคคลคล้องช้าง เป็นบุคคลสวมเครื่องประดับ ถือคันจาม (ไม้ยาวติดเชือกบาศ ใช้ถือเวลาคล้องช้าง) ด้านหน้าบุคคลมีช้างสวมเครื่องประดับ แสดงให้เห็นว่าการคล้องช้างเป็นประเพณีของชนชั้นสูงที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อนอยุธยา-รัตนโกสินทร์

๖.      ลายพระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นภาพบุคคลสวมเครื่องประดับถือคันไถเทียมวัว ๑ คู่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนที่มีการทำนา ปลูกข้าวเป็นหลัก จึงได้เกิดพระราชพิธีตามความเชื่อ เพื่อบูชาเทวดาและทำขวัญพืชพันธุ์ให้มีความอุดมสมบูรณ์

๗.      ลายนักรบบนหลังม้า

๘.      ลายบุคคลกำลังขึ้นม้า

๙.      ลายนักรบถืออาวุธและโล่

๑๐.  ลายนักรบบนหลังช้าง



    ลักษณะการทำลวดลายในกรอบสี่เหลี่ยมเป็นสิ่งที่พบเห็นได้จากหลักฐานในวัฒนธรรมทวารวดี เช่น ภาพปูนปั้นประดับฐานเจดีย์ อาจแสดงให้เห็นความสัมพันธ์บางประการที่สืบเนื่องต่อมาในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ส่วนรายละเอียดของลวดลายนั้นมีความคล้ายคลึงกับลายบนภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ และเครื่องถ้วยเขมร ที่พบในประเทศกัมพูชา เช่น ลายคลื่น ลายเม็ดพริก ลายเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ รวมไปถึงลายรูปบุคคลที่มีการสวมเครื่องประดับและแต่งกายคล้ายภาพสลักที่ปรากฏบนปราสาทบายน ในประเทศกัมพูชา นอกจากนี้ยังพบว่า ลวดลายกลีบบัวคล้ายกับลายกรุยเชิงประดับปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และวัดไก่เตี้ย จังหวัดสุพรรณบุรี ในสมัยอยุธยาตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ส่วนลายกระหนกที่ใช้ประกอบรูปบุคคลในกรอบสี่เหลี่ยม คล้ายกับลายกระหนกที่ใช้ตกแต่งบนแผ่นทองกรอบสี่เหลี่ยมฉลุรูปม้า ซึ่งได้จากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะเช่นกัน






          "การศึกษาภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาบ้านบางปูน ทำให้เห็นความสัมพันธ์ของเมืองต่าง ๆ ผ่านการรับส่งอิทธิพลซึ่งกันและกัน
ดังลวดลายที่ปรากฏบนภาชนะ และยังสะท้อนให้เห็นเรื่องราวของผู้คนใน
อดีต ทั้งด้านวิถีชีวิต ด้านความเชื่อ ด้านประเพณี ด้านการรบ
รวมไปถึงความรู้ด้านเทคนิคเทคโนโลยีในการผลิตภาชนะของแหล่งเตาเผาบ้านบางปูน"




เรียบเรียงโดย นางสาวสโรชินี หง่าสงฆ์

ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี

 


 

(จำนวนผู้เข้าชม 5288 ครั้ง)