องค์ความรู้จากสมุดไทยดำ
ถ่ายถอดโดย นางสาวเอมอร เชาวน์สวน นักภาษาโบราณเชี่ยวชาญ
ผู้เรียบเรียง นางภควรรณ คุณากรวงศ์ บรรณารักษ์ชำนาญการ
จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเมืองโบราณ พบหลักฐานทางโบราณคดี มีอายุไม่ต่ำกว่า ๓,๕๐๐ - ๓,๘๐๐ ปี โบราณวัตถุที่ขุดพบมีทั้งยุคหินใหม่ ยุคสัมฤทธิ์ ยุคเหล็ก และสืบทอดวัฒนธรรมต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิ ฟูนัน อมราวดี ทวารวดี ศรีวิชัย สุพรรณบุรี เดิมมีชื่อ "ทวารวดีศรีสุพรรณภูมิ หรือ "พันธุมบุรี"
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมืองสุพรรณบุรี เป็นเมืองหน้าด่านและเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญ ต้องผ่านศึกสงครามหลายต่อหลายครั้งสภาพบ้านเมือง ตลอดจนประวัติศาสตร์ โบราณสถาน ถูกทำลายปรักหักพัง จนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เมืองสุพรรณได้ฟื้นตัว และตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีน(ลำน้ำสุพรรณ) มาจนตราบทุกวันนี้
ความสำคัญของสุพรรณบุรี ในด้านประวัติศาสตร์ การกอบกู้เอกราชไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้แก่ ชัยชนะแห่งสงครามยุทธหัตถีที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา ณ สมรภูมิดอนเจดีย์ เป็นมหาวีรกรรมคชยุทธ อันยิ่งใหญ่ที่ได้ถูกจารึกไว้ และด้านวรรณคดี เป็นเมืองต้นกำเนิดแห่งตำนาน "ขุนช้างขุนแผน" วรรณคดีไทยเรื่องราวและสถานที่ที่ปรากฏตามท้องเรื่องยังคงมีให้เห็นในปัจจุบัน อาทิบ้านรั้วใหญ่ วัดเขาใหญ่ ท่าสิบเบี้ยไร่ฝ้าย วัดป่าเลไลยก์ วัดแค อำเภออู่ทอง และอำเภอศรีประจันต์ เป็นต้น
การเรียนรู้เรื่องราวสำคัญทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และความเป็นมาของสถานที่สำคัญต่าง ๆ หรือชื่อบ้านนามเมืองนั้น ต้องมีการศึกษาข้อมูลอ้างอิงจากเอกสารต่าง ๆ ที่บรรพชนได้มีการบันทึกเรื่องราวไว้ อาทิ เช่น พงศาวดาร หนังสือหายาก หรือ เอกสารโบราณ เป็นต้น
โดยเฉพาะเอกสารโบราณ ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาอันล้ำค่าของบรรพชนไทยที่ได้สร้างขึ้นเพื่อบันทึกข้อมูลวิทยาการสาขาต่างๆ เรื่องราวหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชาติไทยทั้งเป็นภาพสะท้อนให้เห็นอารยธรรม และศิลปวัฒนธรรมที่วิวัฒนาการสืบทอดมานับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องอักษรและภาษาที่ใช้บันทึกข้อมูล ทำให้การศึกษาองค์ความรู้ในเอกสารยังถูกจำกัด ไม่แพร่หลายเท่าที่ควร
ในการนี้ หอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ จึงเล็งเห็นความสำคัญขององค์ความรู้ที่มีอยู่ในเอกสารโบราณที่จัดเก็บอยู่ที่ห้องศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น หอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ จึงขอความอนุเคราะห์กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ โดยนางสาวเอมอร เชาวน์สวน นักภาษาโบราณ-เชี่ยวชาญ ดำเนินการถ่ายถอด สมุดไทยดำ ที่เป็นเอกสารของกรมการเมืองบันทึกการฟ้องร้องคดีความต่างๆ ไว้หลายคดี ศักราชในเอกสารฉบับนี้ตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๑๙ ปรากฏชื่อตำแหน่งต่างๆ เช่น พระไชราชรักษา หลวงพรมสุภาขุนเกษตรสาลี ขุนศรีมงคน ฯลฯ และชื่อสถานที่ต่างๆ ในแขวงเมืองสุพรรณบุรี เช่น บ้านศีรษะปั่น บ้านโพคอย บ้าน พลูหลวง บ้านโพเจ้าพญา ฯลฯ เป็นต้น
ดาวน์โหลดไฟล์: องค์ความรู้จากสมุดไทยดำ.pdf
ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:
(จำนวนผู้เข้าชม 520 ครั้ง)