องค์ความรู้สุพรรณบุรี เรื่อง วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร วัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองสุพรรณบุรี
วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร สร้างในสมัยอู่ทอง เดิมสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานไว้ว่า น่าจะสร้างขึ้นในสมัยอู่ทองเป็นราชธานี เพราะมีพระพุทธรูปปางประทานปฐมเทศนาแบบทวารวดี เหมือนพระประธานองค์ที่พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ภายหลังมาแปลงเป็นปางป่าเลไลยก์ก่ออิฐถือปูน ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า หลวงพ่อโต หรือ หลวงพ่อวัดป่า พระพุทธรูปองค์นี้กว้าง 3 วา 1 ศอก 1 คืบ 6 นิ้ว สูง 11 วา 1 ศอก ส่วนวิหารเดิมเป็นรูปมณฑปครอบเฉพาะองค์พระเท่านั้น
ต่อมาในสมัยอยุธยาโปรดให้พระยาสีหราช เดไชย สร้างเสริมวิหาร สมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีการกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนขึ้นเสวยราชสมบัติได้เสด็จมาที่วัด ซึ่งไม่มีหลักฐานบันทึกชัดเจนถึงการเสด็จพระราชดำเนินและเมื่อขึ้นครองราชย์แล้วโปรดให้พระยานิกรบดินทรไปสร้างซ่อมแซม สร้างหลังคา ทำฝาผนังรอบนอกรวมหลังคาพระวิหารแล้วซ่อมองค์หลวงพ่อโต สร้างพระพุทธรูปในวิหาร 2 องค์ และมีการติดตรามงกุฎพระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 4 ที่หน้าบันพระวิหาร
วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร พระอารามหลวงแห่งแรกในจังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี จางวางเอก เสนาบดี ลงประกาศแจ้งความยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 21 เมษายน พุทธศักราช 2462
วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร พระอารามหลวงแห่งแรกในจังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี จางวางเอก เสนาบดี ลงประกาศแจ้งความยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 21 เมษายน พุทธศักราช 2462
ในองค์หลวงพ่อโตมีพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า 36 องค์ พงศาวดารเหนือกล่าวไว้ว่า “พระมหาเถรไลยลายองค์หนึ่ง เป็นเชื้อมาแต่พระรามเทพมาก่อน ได้พระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า 650 พระองค์ กับทั้งพระศรีมหาโพธิ์สองต้นมาแต่เมืองลังกาสีหล...” “...จึงเชิญพระบรมธาตุบรรจุไว้ด้วย ๓๖ พระองค์ จึงให้ชื่อวัดพระศรีมหาโพธิลังกา แล้วจึงบรรจุไว้พระเจดีย์บ้าง ในพระพุทธรูปรูปใหญ่บ้างในพระปรางค์บ้าง เป็นพระบรมธาตุ 36 พระองค์ด้วยกัน แล้วบรรจุไว้ในพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกนั้น 36 พระองค์ ในพระปาเลไลนอกเมืองพันธุมบุรีนั้น 36 พระองค์” จากประชุมพงศาวดาร ภาค 1 หน้า 31
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดป่าเลไลยก์วรวิหารเป็นโบราณสถานในเขตสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478
กรมศิลปากรได้ทำการบูรณะมาหลายครั้ง และเมื่อปี พ.ศ. 2561 สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี จัดสรรงบประมาณบูรณะซ่อมแซมภายในวิหารหลวงพ่อโตอีกครั้งหนึ่ง
ทุกๆ ปี จะมีการจัดงานไหว้พระปิดทองหลวงพ่อโตมาแต่โบราณกาลปีละ 2 ครั้ง ทางจันทรคติ โดยนับตาม คติการโคจรของดวงจันทร์ ครั้งแรกจัดขึ้นในเดือน 5 ขึ้น 5-6-7-8-9 ค่ำ ซึ่งตรงกับช่วงปลายเดือนมีนาคมถึง ต้นเดือนเมษายน และครั้งที่ 2 จัดขึ้นในเดือน 12 ขึ้น 5-6-7-8-9 ค่ำ ตรงกับช่วงเดือนตุลาคม และในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีประเพณีที่สำคัญอีกอย่างที่ยึดถือกันมาตลอดคือการสรงน้ำ “หลวงพ่อโตทองคำ”พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและยังเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
#ข้อมูลอ้างอิง
พระธรรมมหาวีรานุวัตร เจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร เจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี 5 ธันวาคม 2540. สุพรรณบุรี : สุพรรณการพิมพ์, 2540.
เลขหมู่ 959.373 พ335
มนัส โอภากุล. ประวัติวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี. สุพรรณบุรี : สุพรรณการพิมพ์, 2535.
เลขหมู่ 294.3135 ม164ป
สมโภชพระอารามหลวงครบ 100 ปี วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร. กรุงเทพฯ, : สามลดา, 2562.
เลขหมู่ 294.3135 ส272
ข้อมูลภาพ
สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรี
ภาพถ่ายเก่า เมืองสุพรรณบุรี โดย เจ้ากาวิละวงศ์ ณ เชียงใหม่
ผู้เรียบเรียง นางอภิญญานุช เผ่าพงษ์คล้าย บรรณารักษ์ชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ
(จำนวนผู้เข้าชม 6567 ครั้ง)