องค์ความรู้ เอกสารโบราณหนังสือสมุดไทย มรดกทางภูมิปัญญาของคนไทย
ในปัจจุบันหนังสือสมุดไทยหรือสมุดไทยจัดว่าเป็นเอกสารโบราณ เป็นโบราณวัตถุซึ่งประเมินค่าไม่ได้ เป็นสิ่งของหายากและไม่ปรากฏว่ามีการผลิตวัสดุนี้ขึ้นใหม่มารองรับการเขียนอีก นับว่าเป็นเอกสารโบราณที่สำคัญ เป็นผลผลิตของคนไทยในสมัยโบราณที่มีคุณค่ายิ่ง ทั้งเนื้อหาสาระรูปแบบของหนังสือสมุดไทย รวมทั้งงานศิลปกรรม ที่ปรากฏในแต่ละเล่ม
หนังสือสมุดไทยหรือสมุดไทย คือหนังสือที่มีรูปเล่มแบบไทย ลักษณะเป็นกระดาษพับกลับไปกลับมา รูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางตามแนวระนาบ เวลาเปิดต้องเปิดจากด้านล่างขึ้นไปหาด้านบน ต่างกับ สมุดฝรั่ง ซึ่งมีรูปแบบและรูปเล่มอย่างหนังสือที่เห็นกันอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน เปิดจากด้านขวามือไปหาด้านซ้ายมือ เอกสารสมุดไทยใช้บันทึกความรู้สรรพตำราต่างๆ ในสมัยที่ยังไม่มีการพิมพ์ ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวการพิมพ์หนังสือตามวิธีของชาวตะวันตกเป็นที่แพร่หลาย สมุดไทยหรือสมุดข่อยแบบโบราณจึงค่อยเสื่อมคลายความนิยมลงโดยลำดับ แต่สรรพวิทยาการนานาสาขาที่บันทึกไว้เป็นหลักฐานในลักษณะของ “เอกสารโบราณ” ยังคงมีความสำคัญยิ่งต่อการศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิต สังคม ศิลปะ และวัฒนธรรม
ความเป็นมาของหนังสือสมุดไทย หลักฐานที่เกี่ยวกับหนังสือสมุดไทยซึ่งเก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทยนั้นมีอายุไม่เกินสมัยอยุธยา เช่น หนังสือเรื่องสมุดภาพไตรภูมิสมัยอยุธยา เรื่องนันโทปนันทสูตรคำหลวง เป็นต้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะกระดาษมีความเสื่อมสลายเร็ว ฉีกขาด เปื่อย และถูกทำลายง่ายกว่าเอกสารโบราณประเภทอื่น
หนังสือสมุดไทยฉบับเก่าแก่ที่สุด ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ คือ หนังสือสมุดไทยดำ เรื่องพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2223
ชนิดและขนาดของสมุดไทย สมุดไทยที่ทำขึ้นจากกระดาษข่อย จำแนกตามสีของกระดาษเป็น 2 อย่าง คือ สมุดไทยขาว และ สมุดไทยดำ
กระดาษข่อยที่ยังเป็นแผ่นยังไม่ได้พับเข้าเล่มเป็นสมุดไทยเรียกว่า “กระดาษเพลา” เมื่อพับเข้าเล่มเป็น สมุดไทยแล้วหน้ากระดาษสมุดไม่มีเส้นบรรทัด เมื่อจะเขียนหนังสือต้องใช้แท่งตะกั่วนมเหลาให้แหลม ขีดเส้นบรรทัดตามความยาวของหน้ากระดาษ และเขียนอักษรใต้เส้น จำนวนบรรทัดจึงไม่แน่นอน แล้วแต่ความประสงค์ของผู้เขียน แต่ที่พบเห็นโดยทั่วไปมักเขียนอักษรหน้าละ 4 บรรทัด
พระยากสิการบัญชา (เล็ก บุราวาศ) อธิบายถึงชนิดและขนาดของสมุดไทยไว้ในปาฐกถาเรื่องการทำกระดาษข่อย (พระยากสิการบัญชา, 2477 : 22-23) ไว้ดังนี้
“ การที่จะทำเล่มสมุดนั้น เรียกหลายชนิด ที่เรียกกันว่าสมุด 50 มาลัยตัด สมุด 40 และสมุด 40 ไขหน้า เส้นตอก และสมุด 30 สมุดโหร สมุดคืบ การเข้าเล่มสมุดนี้ ผู้ทำมีแบบทุกชนิด ที่เรียกสมุด 50, 40, 30 เหล่านี้คือ สมุด 50 กลีบ 40 กลีบ 30 กลีบ หรือจะเรียกอีกอย่างว่า สมุด 100 หน้า 80 หน้า 60 หน้า สมุดโหรคือสมุดที่โหรจดปฏิทิน และสมุดคืบคือสมุด 11 กลีบ แบบสมุดพระมาลัย กว้างราว 13 ½ เซ็นต์ ยาวราวๆ 65 เซ็นต์ สมุด 40 ไขหน้า เส้นตอก กว้าง 12 ½ เซ็นต์ ยาว 35 เซ็นต์...”
การบันทึกหนังสือสมุดไทยหรือสมุดไทย เนื่องจากสมุดไทยแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ สมุดไทยขาวและสมุดไทยดำ การบันทึกตัวอักษรหรือภาพลงบนสมุดไทยแต่ละชนิด จึงต้องใช้วัสดุต่างกันคือ
สมุดไทยขาวเส้นหมึกดำ เขียนด้วยหมึกจีนหรือเขม่าไฟผสมกับกาวยางไม้ลงบนกระดาษขาวซึ่งส่วนมากเป็นสมุด 40 ไขหน้า สมุดไทยขาวเส้นหมึกปรากฏหลักฐานแพร่กระจายอยู่ตามวัดวาอารามต่างๆ ทั้งในพระนครและหัวเมือง ส่วนมากเนื้อกระดาษข่อยคุณภาพไม่ดี มีทั้งหนังสือประเภทตำรายา เวทมนตร์คาถา วรรณกรรม และแบบเรียน เช่น ประถม ก กา ประถมมาลา เป็นต้น หนังสือสวดสมุดไทยขาวเส้นหมึกยังพบว่ามีเส้นสีแดง เส้นสีเหลือง สอดแทรกเพิ่มเติมอยู่ในเส้นหมึกบางตอนด้วย
สมุดไทยขาวเส้นดินสอดำ เขียนด้วยดินสอดำซึ่งในสมัยโบราณทำมาจากผงขี้เถ้าแกลบบดอัดเป็นแท่ง เนื่องจากวัสดุที่ใช้ไม่คงทนทำให้สมุดไทยขาวที่บันทึกด้วยดินสอดำชำรุดลบเลือนในเวลาอันรวดเร็ว จึงได้รับความนิยมน้อย
สมุดไทยดำเส้นทอง เป็นการบันทึกตัวอักษรลงในสมุดไทยดำที่ประณีตงดงามด้วยการใช้กาวที่ได้จากยางไม้เขียนตัวอักษรลงบนสมุดแล้วปิดทับด้วยทองคำเปลว ทำให้เส้นทองลวดลายเป็นสีทองอร่าม เช่น ต้นฉบับสมุดไทยบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งอาลักษณ์ในแผ่นดิน กรุงธนบุรีเป็นผู้ชุบเมื่อพุทธศักราช 2323
สมุดไทยดำเส้นมุก เป็นการใช้ผงเปลือกหอยมุกบดละเอียด ผสมกับรงเขียนตัวอักษรเป็นเส้นมุกแวววาว แล้วปิดทองคำเปลวทับ เช่น บางส่วนของต้นฉบับสมุดไทยหนังสือจินดามณี
สมุดไทยดำเส้นหรดาล หรดาลเป็นวัตถุธาตุชนิดหนึ่ง มีสีเหลืองสด บางชนิดอมแดง ต้องนำมาบดให้ละเอียดตามกรรมวิธี แล้วผสมกับกาวยางมะขวิด นำไปเขียนตัวอักษรลงในสมุดไทยดำ เอกสารสมุดไทยของราชสำนักกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ที่อาลักษณ์เป็นผู้ชุบ ส่วนมากเป็นสมุดไทยดำเส้นหรดาล
สมุดไทยดำเส้นรง รงเป็นยางไม้ชนิดหนึ่ง มีสีเหลืองอมเขียว นำมาบดละเอียดผสมกาวยางมะขวิด
สมุดไทยดำเส้นดินสอ ดินสอ หมายถึงดินขาว วัสดุที่นำมาทำเป็นดินสอสำหรับเขียนลงใสสมุดไทยดำมีหลายชนิด เช่น ดินสอพอง ดินสอแก้ว และดินสอศิลาซึ่งเป็นศิลาเนื้ออ่อนชนิดหนึ่ง ตัวอักษรมีลักษณะคล้ายฝุ่นสีขาวหรือขาวอมเหลือง
หนังสือสมุดไทย จากหอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ
ทั้งนี้ หอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ ร่วมกับกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ และเครือข่ายชุมชนในท้องถิ่นพื้นที่รับผิดชอบ 9 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี และชัยนาท สำรวจและรวบรวมทรัพยากรสารสนเทศประเภทเอกสารโบราณ รวมถึงการให้ความรู้ในด้านการจัดเก็บและการดูแลอนุรักษ์เพื่อให้คงสภาพที่ดี ช่วยยืดอายุให้อยู่ในสภาพที่จะเป็นหลักฐานสำคัญของชาติ ในอนาคตต่อไป
#ข้อมูลอ้างอิง
กรมศิลปากร สำนักหอสมุดแห่งชาติ. คู่มือสำรวจ จัดหา รวบรวมทรัพยากรสารสนเทศ เอกสารโบราณ ประเภทคัมภีร์ใบลานและหนังสือสมุดไทย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2552.
เลขหมู่ 091 ศ528ค
กรมศิลปากร สำนักหอสมุดแห่งชาติ. ความรู้ด้านการซ่อมอนุรักษ์หนังสือสมุดไทย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2554.
เลขหมู่ 090 ศ528ค
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. สมุดไทย : บันทึกภูมิปัญญาและวัฒนธรรมสยาม. กรุงเทพฯ : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, 2563.
เลขหมู่ 306.09593 ส145ส
ผู้เรียบเรียง นางอภิญญานุช เผ่าพงษ์คล้าย บรรณารักษ์ชำนาญการหอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ
ดาวน์โหลดไฟล์: เอกสารโบราณหนังสือสมุดไทย มรดกทางภูมิปัญญาของคนไทย.pdf
ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:
(จำนวนผู้เข้าชม 12482 ครั้ง)