ประเพณีไหว้พระแข วัดสามทอง ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี
ประเพณีไหว้พระแข วัดสามทอง ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี

การบูชาพระจันทร์เป็นประเพณีสำคัญในท้องถิ่นที่นับถือธรรมชาติ เรามักคุ้นเคยกับประเพณีไหว้พระจันทร์แบบจีนเพราะมีคนไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่มากในประเทศไทย แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าประเทศเพื่อนบ้านแนบชิดอย่างกัมพูชาก็มีประเพณีไหว้พระจันทร์เช่นกัน

 

พิธีไหว้พระจันทร์ในกัมพูชา

          ในกัมพูชาเรียกพิธีนี้ว่า សំពះព្រះខែសំពះព (Sampeah Preah Khae) หรือพิธีไหว้พระจันทร์ (พระแขหมายถึงพระจันทร์) เป็นส่วนหนึ่งในงานเทศกาล បុណ្យអុំទ (Bon Om Touk) ซึ่งจัดขึ้นทั้งแบบหลวงและแบบชาวบ้านในช่วงเวลาที่พระจันทร์โคจรอยู่เหนือศีรษะในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เป็นประจำทุกปี เพื่อทำนายสภาพฟ้าฝนปีถัดไป ผลทำนายจะทำให้ชาวบ้านรู้ทิศทางเตรียมตัวทำเกษตรกรรม ขณะเดียวกันตำนานมูลเหตุแห่งการจัดพิธียังเชื่อมโยงกับอรรถกถา สสปัณฑิตชาดก๒ สะท้อนถึงคติความเชื่อทางพุทธศาสนาและการกล่อมเกลาผู้คนให้บูชาคุณงามความดีจากการเสียสละ

          พิธีไหว้พระจันทร์แบบหลวงจัดเป็นพระราชพิธีในพระบรมมหาราชวัง มีการเตรียมกล้วย ข้าวเม่า ข้าวหลาม อาหารและผลไม้อื่นๆ เป็นเครื่องไหว้ สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือโครงเทียน โครงเทียนแบบหลวงถูกตกแต่งอย่างสวยงาม มีเทียนยึดติดกับโครงทั้งหมด ๑๔ เล่ม เป็นสัญลักษณ์แทน ๑๔ จังหวัดในกัมพูชา เมื่อถึงเวลาหลังพราหมณ์หลวงประกาศคำบูชาเทวดาแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงจุดเทียน จากนั้นพราหมณ์หลวงจะหมุนโครงเทียน ๓ รอบ ให้หยดน้ำตาเทียนตกลงบนใบตองที่ปูรองไว้ด้านล่าง เมื่อเทียนละลายหมดและพราหมณ์หลวงประกาศคำทำนายก็เป็นอันจบพระราชพิธี

          ส่วนพิธีแบบชาวบ้านมีการเตรียมกล้วย ข้าวเม่า และข้าวหลามเช่นเดียวกัน แต่อาหารและผลไม้เครื่องไหว้อื่นๆ อาจแตกต่างไปตามแต่ละท้องที่ ผู้ประกอบพิธีเป็นพระสงฆ์ทำหน้าที่สวดมนต์บูชาเทวดา และมีการอุปโลกน์ชายผู้เคร่งครัดในศาสนาเป็นพราหมณ์ทำหน้าที่จุดเทียนและหมุนโครงเทียน รวมถึงทำนายฟ้าฝนจากหยดน้ำตาเทียน หลังจากนั้นผู้ร่วมพิธีจะแบ่งปันข้าวเม่าที่ใช้เป็นเครื่องไหว้ และเพ่งจิตไปยังพระจันทร์เพื่ออธิษฐานขอพรก่อนที่จะรับประทานข้าวเม่านั้นลงไป

 

พิธีไหว้พระจันทร์ในสุพรรณบุรี

          จังหวัดสุพรรณบุรีมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งจังหวัด สำหรับกลุ่มคนไทยเชื้อสายเขมรจะอาศัยรวมเป็นกลุ่มใหญ่ในเขตตำบลบ้านโพธิ์และตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมืองสุพรรณบุรี โดยเฉพาะแถววัดสามทอง วัดสุวรรณนาคี วัดสกุลปักษี และวัดประชุมชน ส่วนใหญ่มีบรรพบุรุษอพยพมาจากกัมพูชาตั้งแต่ช่วงปลายสมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ และปัจจุบันยังคงสืบทอดประเพณีบางอย่างที่บรรพบุรุษเคยถือปฏิบัติไว้ซึ่งรวมถึงพิธีไหว้พระจันทร์ด้วย

          พิธีไหว้พระจันทร์หรือไหว้พระแข เป็นพิธีกรรมที่ผสมผสานระหว่างพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์ ถือเป็นสิริมงคลแก่ผู้ร่วมพิธีและเสริมสร้างความสามัคคีของคนในท้องถิ่น การทำพิธีในสุพรรณบุรีมีเค้าโครงความเชื่อและรูปแบบการทำพิธีความคล้ายคลึงกับในกัมพูชา จะมีที่แตกต่างไปบ้างก็เพื่อปรับให้เหมาะสมกับท้องถิ่น

          เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๕ ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปสังเกตการณ์และร่วมพิธีไหว้พระจันทร์ที่วัดสามทอง ตำบลตลิ่งชัน และวัดประชุมชน (หรือวัดบ้านบึง) ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้เห็นการร่วมแรงร่วมใจกันของคนในชุมชน ความหวังในการพึ่งพิงธรรมชาติของคน รวมถึงการพยายามถ่ายทอดความรู้และคติจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว

          การเตรียมพิธี

          ก่อนถึงวันงาน พระสงฆ์จะชักชวนชาวบ้านใกล้เคียงให้มาร่วมแรงร่วมใจกันจัดงาน เพียงหนึ่งวันก่อนงานพิธีจะมีการทำประรำพิธีโดยกั้นพื้นที่ลานโล่งของวัดที่สามารถเห็นพระจันทร์ได้ชัดเจน เพื่อใช้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ประดับแตกแต่งด้วยฉัตร สายสิญจน์ ธงและหลอดไฟหลากสี เพื่อสร้างบรรยากาศ ภายในประรำพิธีจัดสรรพื้นที่สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป พื้นที่นั่งของพระสงฆ์และที่นั่งของฆราวาส ส่วนด้านนอกประรำพิธีมีการตั้งโครงเทียนสูงประมาณ ๑.๕๐ – ๒ เมตร ซึ่งอาจกว้างแตกต่างกันตามแต่จำนวนเทียนที่จะประกอบพิธี

          ในวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันประกอบพิธี ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ผู้ที่ได้รับการอุปโลกน์เป็นพราหมณ์ทำหน้าที่ประกอบพิธี จะหล่อเทียนสำหรับใช้เป็นสัญลักษณ์แทนแต่ละฤดูกาลหรือแทนเดือนในรอบปี โดยตัดด้ายสำลีจำนวน ๔๘ เส้น ปั่นเป็นไส้เทียน ยึดปลายไส้เทียนด้านหนึ่งกับก้นกระบอกไม้ไผ่ซึ่งเจาะรูและปิดด้วยก้อนดินหรือดินน้ำมัน จากนั้นนำน้ำตาเทียนและเศษเทียนที่พระสงฆ์ใช้ระหว่างสวดมนต์ช่วงเข้าพรรษา หลอมผสมกับน้ำตาเทียนจากพิธีไหว้พระจันทร์ในปีก่อน เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ เทลงในกระบอกไม้ไผ่ ค่อยๆ หล่อน้ำเทียนเพื่อให้เนื้อเทียนแน่นไม่เกิดฟองอากาศ รอจนเทียนขึ้นรูปดีแล้วจะผ่ากระบอกไม้ไผ่เพื่อนำเทียนออกอย่างระมัดระวังโดยไม่ให้เทียนหัก พร้อมทั้งตกแต่งเทียนแต่ละเล่มให้ได้น้ำหนักเท่ากัน๑๐ก่อนที่จะนำไปติดยึดกับโครงเทียน

 

  

การเตรียมงานไหว้พระแข ณ วัดสามทอง

          การทำพิธี

          ตกค่ำในวันงานชาวบ้านจะมาดูงานมหรสพที่ทางวัดจัดไว้หรือมาทำบุญไหว้พระเพื่อความเป็นสิริมงคล พร้อมกับจะนำกล้วย ข้าวเม่า และข้าวหลามมาถวายพระสงฆ์ ก่อนถึงเวลาทำพิธีประมาณห้าทุ่ม ชาวบ้านจะรวมตัวกันอยู่ในประรำพิธี พราหมณ์ ๓ คน แต่งกายชุดขาวเริ่มทำพิธีด้วยการนำสวดมนต์บูชาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ จากนั้นพระสงฆ์จะทำการสวดธรรมจักรกัปปวัฒนสูตร

          กระทั่งเมื่อถึงเวลาพระจันทร์ตั้งตรงศีรษะหรือประมาณเที่ยงคืน หลังพระสวดชยันโตเสร็จแล้ว พราหมณ์จะจุดเทียนที่ติดยึดกับโครงเทียน โดยคนนำประกอบพิธีเป็นผู้ทำนายผลจากการสังเกตหยดน้ำตาเทียน หากน้ำตาเทียนค่อยๆ หยดแสดงว่าปีหน้าฝนจะตกน้อย ถ้าน้ำตาเทียนหยดถี่มากแสดงว่าฝนจะตกมาก ขณะที่หากไส้เทียนเผาไหม้ตกลงเป็นประกายไฟหมายถึงจะมีฝนฟ้าคะนองมาก จากนั้นพระสงฆ์จะนำชาวบ้านกล่าวคำอาราธนาศีล แล้วจึงโปรยกล้วยและข้าวเม่าให้ชาวบ้านได้เก็บไว้เพื่อถือเป็นสิริมงคลและเป็นสัญลักษณ์เริ่มต้นปีทำเกษตรกรรมอีกครั้ง

 

   

   

งานไหว้พระแข ณ วัดสามทอง

  

งานไหว้พระแข ณ วัดประชุมชน ตำบลบ้านบึง อำเภอเมืองจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งจัดในวันเดียวกัน

          งานไหว้พระจันทร์ในกัมพูชากับในสุพรรณบุรีคล้ายคลึงกันในเรื่องการจุดเทียนเพื่อทำนายฟ้าฝน รวมถึงการใช้กล้วย ข้าวเม่า และข้าวหลามเป็นเครื่องอุทิศถวาย อย่างไรก็ตาม พิธีในสุพรรณบุรีมีนัยของกล้วยและข้าวเม่าดูจะแปลงไปจากเดิม โดยเฉพาะพระสงฆ์และชาวบ้านที่วัดสามทองมองว่าเป็นสัญลักษณ์แทนเมฆและฝน ซึ่งหลังจากที่พระสงฆ์โปรยกล้วยและข้าวเม่าแล้ว ชาวบ้านจะเก็บกล้วยไว้กินและเก็บข้าวเม่าไว้บูชาหรือโปรยในนาที่จะปลูกข้าวเพื่อความเป็นสิริมงคล

          ขณะเดียวกัน แม้การทำนายจะคลาดเคลื่อนกันไปตามมุมมอง ทัศนคติและประสบการณ์ของผู้ทำนายแต่ละคน และในปัจจุบันชาวบ้านไม่จำเป็นต้องพึ่งพาฟ้าฝนอย่างเดียวเพราะมีคลองส่งน้ำไปถึงพื้นที่ทำเกษตรกรรมแล้ว แต่เหตุที่คนไทยเชื้อสายเขมรในสุพรรณบุรียังถือปฏิบัติพิธีนี้อยู่เป็นประจำทุกปีนั้น คงเนื่องมาจากแรงศรัทธาต่อผลการทำนายว่าเป็นจริง รวมถึงความต้องการสืบทอดคติความเชื่อดังเดิมของบรรพบุรุษอันแสดงถึงอัตลักษณ์ของชุมชนให้ดำรงสืบต่อไป

      


เชิงอรรถ

          ๑ โปรดดูวารสาร Cambodia – Japan Cooperation Center Newsletter, volume 2, issue 1, January – march 2008, หน้า 6. กล่าวถึงเทศกาล BonOm Toukว่าเป็นงานเฉลิมฉลองประจำปีจัดขึ้นรวม ๓ วัน ระหว่างวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และแรม ๑ ค่ำ ในเดือน ๑๒ ตามปฏิทินจันทรคติ

          ๒ อรรถกถา สสปัณฑิตชาดก มีเนื้อหากล่าวถึงเมื่อครั้งพระโพธิสัตว์ทรงเสวยชาติเป็นกระต่าย ในวันพระจันทร์เต็มดวงคืนหนึ่ง กระต่ายได้อธิฐานต่อพระจันทร์หมายจะสละเนื้อตนเป็นอาหารแก่พราหมณ์เฒ่า จากนั้นจึงกระโดดเข้าสู่กองเพลิง ด้วยผลบุญแห่งการกระทำทำให้ทันใดนั้นพระโพธิสัตว์ลอยขึ้นอยู่เหนืออากาศไปประทับอยู่บนดวงจันทร์

          ๓ โปรดดูหนังสือ Traditional Festivals of ASEANโดย ASEAN Committee on Culture and Information, Hanoi : The Committee, 2003, หน้า ๔๔ – ๔๕. ระบุว่าการใช้กล้วยเป็นเครื่องไหว้เนื่องจากเชื่อว่าเป็นอาหารโปรดของกระต่าย และใช้ข้าวเม่าเป็นสัญลักษณ์แทนพืชพันธุ์อาหารและความอุดมสมบูรณ์

          ๔ โปรดดูหนังสือ Traditional Festivals of ASEAN 2003หน้า ๔๔– ๔๕ และหน้า ๑๓๐ – ๑๔๐. กล่าวถึงการรับประทานข้าวเม่าหลังไหว้พระจันทร์ และในหนังสือเกร็ดโบราณคดีประเพณีไทย ชุดที่ 2โดยสมบัติ พลายน้อย (ห้างหุ้นส่วนจำกัดรวมสาส์น : ๒๕๑๖) หน้า ๓๖๔ – ๓๖๖. กล่าวถึงประเพณี “ออกอำบก” หรือการรับประทานข้าวเม่า

          ๕ คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสุพรรณบุรี. กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์คุรุสภา, ๒๕๔๔. หน้า ๑๕๘ และ ๑๙๐.

          ๖ ฐาปนี. พิธีกรรมและความเชื่อท้องถิ่น. กรุงเทพฯ :แสงดาว, ๒๕๔๙. หน้า ๗๖ – ๗๗.

          ๗ คุณลุงเกริ่น โกลากุล อายุ ๘๗ ปี ให้ข้อมูลว่า มีคำบอกเล่าต่อกันมาว่างานไหว้พระจันทร์หรือไหว้พระแขที่วัดสามทองจัดขึ้นมาก่อนที่พระอาจารย์เจียเป็นเจ้าอาวาส (พ.ศ.๒๔๓๕)

          ๘ พระสงฆ์ที่วัดสามทองให้ข้อมูลว่า ผู้ทำหน้าที่พราหมณ์ประกอบพิธีต้องเป็นบุคคลผู้ถือศีลในช่วงวันเข้าพรรษา ซึ่งปัจจุบันที่วัดสามทองมีผู้ทำหน้าที่พราหมณ์ ๓ คน คือ คุณลุงเกริ่น โกลากุล อายุ ๘๗ ปี คุณลุงโอ แกร่งเชื้อชัย อายุ ๘๕ ปี และคุณลุงบุญช่วย เอี่ยมสะอาด อายุ ๗๕ ปี

          ๙ การประกอบพิธีแต่ละแห่งอาจใช้จำนวนเทียนแตกต่างกัน เช่น เทียนเล่มหนึ่งแทน ๒ เดือน หรือแทน ๓ เดือน หรือแทนฤดูกาลใดฤดูกาลหนึ่ง โดยที่วัดสามทองใช้เทียนทำพิธีเพียง ๓ เล่ม วัดประชุมชนใช้เทียน ๖ เล่ม และวัดอินทร์เกษม (วัดหนองหิน) ใช้เทียน ๑๒ เล่ม เป็นต้น

          ๑๐ ผู้ประกอบพิธีที่วัดสามทองทั้ง ๓ คน ให้ข้อมูลว่า การหล่อเทียนจะต้องทำในวันประกอบพิธีเท่านั้น จะหล่อเทียนก่อนวันประกอบพิธีไม่ได้ ผู้ทำพิธีจะต้องบอกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดก่อนที่จะหล่อเทียน ซึ่งวัดบางแห่งอาจทำเทียนแต่ละเล่มหนักมากถึงครึ่งกิโลกรัม แต่สำหรับวัดสามทองใช้เทียนหนักเล่มละ ๑๒ บาท ตามมาตรการชั่งแบบไทย หรือหนักประมาณ ๒ ขีด 

(จำนวนผู้เข้าชม 4472 ครั้ง)

Messenger