๑. ชื่อโครงการ Myanmar History from Myanmar Perspectives
ประวัติศาสตร์เมียนมาจากมุมมองของเมียนมา
๒. วัตถุประสงค์
เป็นตัวแทนจากประเทศไทย ตามคำเชิญของศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์และประเพณีขององค์การซีมีโอ (SEAMEO Regional Centre for History and Tradition) หรือศูนย์ซีมีโอแชท (SEAMEO CHAT) เพื่อเข้าร่วมสัมมนาประจำปี หัวข้อ ประวัติศาสตร์เมียนมาจากมุมมองของเมียนมา (Myanmar History from Myanmar Perspectives) พุทธศักราช ๒๕๖๐
๓. กำหนดเวลา ๑๙-๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐
๔. สถานที่ ๑. เมืองย่างกุ้ง ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
๒. เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
๓. เมืองพุกาม ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
๕. หน่วยงานผู้จัด
ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์และประเพณีขององค์การซีมีโอ (SEAMEO Regional Centre for History and Tradition) หรือศูนย์ซีมีโอแชท (SEAMEO CHAT) เมืองย่างกุ้ง ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ (Southeast Asian Ministers of Education Organization) หรือองค์การซีมีโอ (SEAMEO) มีบทบาทเป็นศูนย์กลางการศึกษาประวัติศาสตร์และประเพณีของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
๖. หน่วยงานสนับสนุน -
๗. กิจกรรม
การเดินทางเพื่อเข้าร่วมสัมมนาหัวข้อ “ประวัติศาสตร์เมียนมาจากมุมมองของเมียนมา” ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐๘. ผู้แทนประเทศไทย นายพิทักษ์พงศ์ เก้าเอี้ยน นักอักษรศาสตร์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
๙. สรุปสาระของกิจกรรม
ในอดีตชาวต่างชาติมักรับรู้ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์เมียนมาจากมุมมองที่แตกต่างหลากหลายของนักวิชาการต่างชาติ เนื่องจากนักวิชาการเมียนมามักเผยแพร่ผลงานเป็นภาษาเมียนมา กิจกรรมการสัมมนาหัวข้อ “ประวัติศาสตร์เมียนมาจากมุมมองของเมียนมา” จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาจากนานาประเทศได้ศึกษาความรู้ ความคิด ความเข้าใจ การตีความประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมียนมา จากมุมมองของนักวิชาการชาวเมียนมาโดยตรง กิจกรรมนี้ประกอบด้วยการบรรยายหัวข้อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เมียนมาจากนักวิชาการชั้นนำของเมียนมา ๖ หัวข้อ เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ซักถามข้อสงสัยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อกัน ทำให้ได้เห็นภาพรวมของเมียนมาในอดีต พัฒนาการ พื้นฐานทางวัฒนธรรมประเพณี ข้อเด่นข้อด้อยและการปรับตัวของเมียนมา หลังจากนั้นเป็นการทัศนศึกษาสถานที่สำคัญต่าง ๆ ของเมียนมาใน ๓ เมืองสำคัญ ได้แก่ เมืองย่างกุ้ง เมืองมัณฑะเลย์ และเมืองพุกาม ได้เห็นถึงความงดงามและเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมของเมียนมาที่มีพัฒนาการบนพื้นฐานความศรัทธาในพระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน
๑๐. ข้อเสนอแนะจากการจัดกิจกรรม
กรมศิลปากรน่าจะส่งเสริมให้บุคลากรได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการและศิลปวัฒนธรรมในต่างประเทศในรูปแบบเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บุคลากรได้มีความรู้และประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของชาติต่าง ๆ ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายทางวิชาการระหว่างประเทศ อันจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินงานของกรมศิลปากรต่อไป
นายพิทักษ์พงศ์ เก้าเอี้ยน ผู้สรุปผลการเดินทางไปราชการ
(จำนวนผู้เข้าชม 1183 ครั้ง)