รายงานผลการเดินทางไปราชการ ณ ประเทศสิงคโปร์
1. ชื่อการประชุม
ASEAN Digital Library 2nd Regional Meetings
วันที่ 17 – 19 พฤษภาคม 2559
ณ หอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์
2. วัตถุประสงค์ของการประชุม
เพื่อร่วมปรึกษาหารือในการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของแต่ละประเทศในอาเซียน และนำเสนอความคืบหน้าในการพัฒนาและนำเข้าทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลของแต่ละประเทศในเว็บไซต์ http://www.aseanlibrary.org รวมถึงปัญหาหรืออุปสรรคที่แต่ละประเทศประสบในการนำเข้าทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลที่ผ่านมา
3. หน่วยงานผู้จัดการประชุม
หอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์
4. ผู้เข้าร่วมประชุม
นายประสิทธิชัย เลิศรัตนเคหกาล บรรณารักษ์ชำนาญการ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
นางสาวงามเพ็ญ ยาวงษ์ บรรณารักษ์ปฏิบัติการ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
5. องค์กร / ประเทศที่เข้าร่วมการประชุม
ประเทศที่เข้าร่วมประชุมมีทั้งหมด 10 ประเทศ ประเทศละ 2 คน ได้แก่ บรูไนดารุสซาราม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม และสิงคโปร์ประเทศเจ้าภาพ มีผู้เข้าร่วมการประชุม 4 คน
6. เนื้อหา / กิจกรรมของการประชุม
หอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ (National Library Board: NLB) ได้จัดการประชุมเรื่อง ASEAN Digital Library 2nd Regional Meetings เมื่อวันที่ 17 – 19 พฤษภาคม 2559 ณ ประเทศสิงคโปร์ ภายใต้ชื่อโครงการ The ASEAN Digital Library (ADL) เดิมใช้ชื่อ The National Library Asia Pacific: NL-AP) การประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 2 สำหรับการประชุมในครั้งที่ 1 จัดเมื่อวันที่ 12 - 14 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งผลการการประชุมในครั้งนั้นหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรได้แบ่งปันคอลเลกชั่นภาพถ่ายเก่าของหอสมุดดำรงราชานุภาพ จำนวน 200 ภาพ เพื่อนำเข้าและเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ http://www.aseanlibrary.org
วัตถุประสงค์ในการประชุม ASEAN Digital Library 2nd Regional Meetings ในครั้งนี้คือ เพื่อร่วมปรึกษาหารือในการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของแต่ละประเทศในปี 2559 - 2560 และการนำเสนอความคืบหน้าในการพัฒนาและนำเข้าทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลของแต่ละประเทศในเว็บไซต์ http://www.aseanlibrary.org รวมถึงปัญหาหรืออุปสรรคที่ประสบในการนำเข้าทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลที่ผ่านมา
สำหรับการประชุมครั้งนี้มีตัวแทนจากหอสมุดแห่งชาติทั้ง 10 ประเทศ ประเทศละ 2 คน ได้แก่ บรูไนดารุสซาราม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม และประเทศเจ้าภาพคือสิงคโปร์ มีผู้เข้าร่วม 4 คน สำหรับประเทศไทย หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรได้มอบหมายให้ นายประสิทธิชัย เลิศรัตนเคหกาล บรรณารักษ์ชำนาญการ และนางสาวงามเพ็ญ ยาวงษ์ บรรณารักษ์ปฏิบัติการ กลุ่มบริการทรัพยากรสารสนเทศ เข้าร่วมในการประชุมดังกล่าว สำหรับกิจกรรมในการประชุม ASEAN Digital Library 2nd Regional Meetings ทั้ง 3 วันรวมแล้วมีทั้งหมด 3 กิจกรรมดังนี้
1. การเยี่ยมชมหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 หอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์เป็นอาคารสูง 16 ชั้น ตั้งอยู่บนถนนวิกตอเรีย หอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์อยู่ภายใต้การบริหารงานของคณะกรรมการหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ (National Library Board: NLB) ซึ่งหน่วยงานภายใต้ NLB ประกอบด้วยหอสมุดแห่งชาติ ห้องสมุดประชาชนจำนวน 26 แห่ง และหอจดหมายเหตุแห่งชาติ สำหรับหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์หรือที่ชาวสิงคโปร์เรียกกว่าห้องสมุด ลี คอง เชียน (Lee Kong Chian Reference Library) ซึ่งเป็นผู้บริจาคเงินในการพัฒนาห้องสมุด หอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์จะให้บริการที่ชั้น 7 – 13 ประกอบไปด้วยทรัพยากรสารสนเทศทั้งที่เป็นวัสดุตีพิมพ์และไม่ตีพิมพ์มากกว่า 530,000 รายการ เช่น คอลเลกชั่นจีน คอลเลกชั่นมาเลย์ คอลเลกชั่นภาษาทมิฬ ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ไมโครฟิล์ม รูปภาพ เป็นต้น
และตั้งแต่เดือนมกราคม – สิงหาคม 2559 มีการจัดนิทรรศการ“From the Stacks: Highlights of the National Library”เป็นการจัดแสดงทรัพยากรสารสนเทศที่หายากตั้งแต่ ค.ศ. 1819 จำนวนมากกว่า 100 รายการมาจัดแสดงให้คนรุ่นใหม่เห็นมุมมอง การดำเนินชีวิตในสมัยก่อนผ่านหนังสือ สิ่งพิมพ์และรูปภาพ ซึ่งทรัพยากรสารสนเทศเหล่านี้ล้วนมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์สำหรับชาวสิงคโปร์ เช่น พจนานุกรมภาษาอังกฤษที่จัดพิมพ์โดยมิชชันนารี วรรณกรรมจีน วรรณกรรมมุสลิม หนังสือที่เกี่ยวกับศิลปะการปรุงอาหารในปี 1929 เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าประเทศสิงคโปร์ไม่เพียงแต่เป็นศูนย์กลางทางการค้าเท่านั้น ยังเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมที่สำคัญของอาเซียนอีกด้วย
2. การประชุม ASEAN Digital Library 2nd Regional Meetings ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 โดยมี Ms. Tay Ai Cheng รองผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ให้เกียรติเปิดการประชุม มีการแนะนำคณะทำงาน ASEAN Digital Library ของหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ พร้อมนำเสนอและแนะนำการใช้งานเว็บไซต์ http://www.aseanlibrary.org จากนั้นเป็นการนำเสนอภาพรวมในการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัลของแต่ละประเทศ ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัลหรือการแปลงเอกสารต้นฉบับ และแผนในการแบ่งปันทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลของหอสมุดแห่งชาติทั้ง 10 ประเทศ ให้กับโครงการ ASEAN Digital Library ในปี 2559 – 2560
ในส่วนของหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรนั้น ได้มีการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัลชื่อ D-library เพื่อจัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลของหอสมุดแห่งชาติ ที่รองรับมาตรฐาน Open Archives Initiatives Protocol for Metadata Harvesting (OAI-PMH) ซึ่งเป็นมาตรฐานเปิดสำหรับการเก็บเกี่ยวเมทาดาทา ในปัจจุบันมีจำนวนรายการทั้งหมดมากกว่า 6,000 รายการ ในปี 2559 – 2560 ทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลที่หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรจะร่วมแบ่งปันให้กับโครงการ ASEAN Digital Library ได้แก่ หนังสือหายาก จำนวน 100 ชื่อเรื่อง หนังสือพิมพ์เก่า จำนวน 1,700 ฉบับ โดยระบบของ ASEAN Digital Library จะเก็บเกี่ยวเพียงเมทาดาทาจาก D-Library ขึ้นแสดงในเว็บไซต์ http://www.aseanlibrary.org เท่านั้น ซึ่งหากค้นผ่านเว็บไซต์ของดังกล่าว ระบบจะแสดงผลเฉพาะรายการเมทาดาทา หากต้องการดูเนื้อหาฉบับเต็มระบบจะเชื่อมต่อมายัง D-Library ของหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร
3. การศึกษาดูงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยจำนวน 2 แห่ง ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2559 ได้แก่
3.1 ห้องสมุด Lee Wee Nam และ Library Outpost ที่มหาวิทยาลัยเทคโนหนานหยาง (Nanyang Technological University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศสิงคโปร์ ห้องสมุด Lee Wee Nam เป็นหนึ่งใน 9 ของห้องสมุดในมหาวิทยาลัยเทคโนหนานหยาง ถูกออกแบบมาเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้ของนักศึกษา มีเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ทันสมัย เช่น Video Wall / Touchscreen PC / Learning Room พร้อม SMART Boards /ห้องบันทึกเสียง เป็นต้น สำหรับ Library Outpost เป็นห้องสมุดเล็กๆ ที่อยู่ในชั้นที่ 6 ของอาคาร The Hive ซึ่งมีลักษณะเหมือนรังผึ้ง สิ่งพิมพ์และโสตทัศนวัสดุที่ให้บริการจะคัดมาเฉพาะในแต่ละช่วง เช่น ภาพยนตร์ 100 เรื่องที่คุณควรดูก่อนจบการศึกษา หรือหนังสือเกี่ยวกับเครื่องบินที่น่าอ่าน แต่คุณไม่ใช่นักศึกษาสาขาวิศวกรรม เป็นต้น
3.2 การศึกษาดูงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีและการออกแบบ (Singapore University for Technology & Design: SUTD) ซึ่งห้องสมุด SUTD จะเน้นการออกแบบเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ (Designed to Inspire) ให้ผู้ใช้มีแรงบันดาลใจในการออกแบบ (Inspired to Design) เป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ วิจัย และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งทรัพยากรสารสนเทศที่ให้บริการมีทั้งที่เป็นตัวเล่มและสื่อดิจิทัล ลักษณะของตัวอาคารโดยรอบเป็นกระจก การจัดหรือออกแบบโซนต่าง ๆ ในห้องสมุด เช่น โซนนิทรรศการผลงานของนักศึกษา มุมศึกษาค้นคว้ากลุ่มพร้อม e-board หรือมุมสำหรับนำเสนอผลงานผ่านอุปกรณ์พกพาหรือโน๊ตบุ๊คแบบเรียลไทม์ เป็นต้น ซึ่งแต่จะมุมที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการห้องสมุดแห่งนี้มีจินตนาการในการสร้างสรรค์ผลงาน และนวัตกรรมใหม่ ๆ
7. ผลที่คาดว่าจะได้รับสำหรับการเข้าร่วมประชุม
1. ได้เครือข่ายและความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลที่ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติแต่ละประเทศ ทำให้ประชาชนของทั้ง 10 ประเทศอาเซียนได้เรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ในอดีต ฯลฯ
2. ได้มีโอกาสในการเรียนรู้และเห็นมุมมองใหม่ ๆ ในการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการจัดการทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลในห้องสมุดให้มีมาตรฐาน และเกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ
8. ข้อเสนอแนะ
1. ลิขสิทธิ์ถือเป็นปัญหาที่หอสมุดแห่งชาติหลายประเทศกังวล ดังนั้นก่อนการนำเข้าทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลลงในระบบ ควรมีการตรวจสอบหรือพิจารณาให้แน่ใจก่อนว่าทรัพยากรสารสนเทศนั้น ๆ เป็นลิขสิทธิ์ของห้องสมุดจริง
2. อุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นปัจจัยสำคัญในการแปลงหรืออนุรักษ์ต้นฉบับให้คงอยู่ รวมถึงระบบห้องสมุดดิจิทัลที่ดี ย่อมส่งผลให้การจัดเก็บ การสืบค้น การเข้าถึง และการใช้งานทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
3. ภาษาอังกฤษมีความสำคัญและจำเป็นมากสำหรับการประชุมในระดับนานาชาติ ฉะนั้นการพัฒนาตนเองให้มีทักษะในการสื่อสาร โต้ตอบและอภิปรายด้วยภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่ผู้เข้าร่วมประชุมต้องมีการเตรียมตัวก่อนประชุม
นางสาวงามเพ็ญ ยาวงษ์
ผู้สรุปผลการเดินทางไปราชการ
(จำนวนผู้เข้าชม 1041 ครั้ง)