...

รายงานการเดินทางไปราชการ ณ เมืองนารา ประเทศญี่ปุ่น The Training Course on Cultural Heritage Protection in the Asia Pacific Region ๒๐๑๖: Research, Analysis, Preservation and Utilisation of Archaeological Sites and Remains ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๙ – ๒๙ กันยายน ๒๕๕๙

รายงานการเดินทางไปราชการ ณ เมืองนารา ประเทศญี่ปุ่น

 

๑. ชื่อโครงการ

The Training Course on Cultural Heritage Protection in the Asia Pacific Region ๒๐๑๖: Research, Analysis, Preservation and Utilisation of Archaeological Sites and Remains

๒. วัตถุประสงค์

เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถให้แก่ผู้ที่ทำงานในด้านการวิจัย วิเคราะห์ อนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์จากโบราณสถานและโบราณวัตถุ ให้สามารถนำวิธีการและเทคโนโลยีที่ได้เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ในการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมในประเทศของตนได้

๓. กำหนดเวลา

๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๙ – ๒๙ กันยายน ๒๕๕๙

๔. สถานที่

Asia – Pacific Cultural Centre for UNESCO (ACCU Nara Office) จังหวัดนารา ประเทศญี่ปุ่น

๕. หน่วยงานผู้จัด

Asia – Pacific Cultural Centre for UNESCO (ACCU)

๖. หน่วยงานสนับสนุน  

-          Agency for Cultural Affairs, Japan (Bunkacho)

-          Asia – Pacific Cultural Centre for UNESCO (ACCU)

-          International Centre for the Study of the Preservation and Restoration of Cultural Property (ICCROM)

-          National Institutes for Cultural Heritage, Tokyo

-          National Research Institute for Cultural Properties, Nara

-          Japan Consortium for International Cooperation in Cultural Heritage, Ministry of Foreign Affairs of Japan

-          Nara Prefectural Government

-          Nara City Government

๗. กิจกรรม

กิจกรรมในการฝึกอบรมสามารถแบ่งออกเป็นหัวข้อใหญ่ได้ดังนี้

-          การศึกษาวิธีการสงวนรักษาและการใช้ประโยชน์จากโบราณสถานและโบราณวัตถุ

-          การศึกษาระบบการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมในประเทศญี่ปุ่น

-          การศึกษาวิธีการบันทึกข้อมูลหลักฐานทางโบราณคดีด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การถ่ายภาพ การวาดภาพ การสำเนาจารึก เป็นต้น

-          การศึกษาวิธีการจัดการแหล่งโบราณคดี และการมีส่วนร่วมของชุมชนในการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรม

-          การศึกษาวิธีการสงวนรักษาหลักฐานทางโบราณคดีด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เช่น ผลกระทบจากความเค็มและมลทินภายในดินต่อหลุมจัดแสดงหรือโบราณวัตถุ การอนุรักษ์โบราณวัตถุจากไม้และอินทรียวัตถุ วิธีการเก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมภายในอาคารจัดแสดงหรือแหล่งโบราณคดีด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

-          การศึกษาเรื่ององค์กรระหว่างประเทศและการขึ้นทะเบียนมรดกโลก

-          การทัศนศึกษาแหล่งโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ในจังหวัดนารา ได้แก่ Kasuga-taisha Shrine, Gango-ji Temple, Todai-ji Temple, Nara Palace Site, Palaitial Garden in Nara Capital Site, Isui-en Garden, Asuka Historical Museum, The Museum and Archaeological Institute of Kashihara, Horyu-ji Temple และ Ikaruga Centre for Cultural Heritage

-          การทัศนศึกษาแหล่งโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ในจังหวัดนางาซากิ ได้แก่ Oura Church, Glover Garden, Dejima และ Nagasaki Museum of History and Culture

๘. คณะผู้แทนไทย

          นางสาวทิพย์วรรณ วงศ์อัสสไพบูลย์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ ๙ ขอนแก่น

๙. สรุปสาระของกิจกรรม

          ในการเข้าร่วมการฝึกอบรมในครั้งนี้ สาระสำคัญของกิจกรรมคือ การศึกษาวิธีการวิจัย วิเคราะห์ อนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์จากโบราณสถาน – โบราณวัตถุตามแนวทางของประเทศญี่ปุ่น โดยการไปศึกษายังสถานที่ทำงาน พิพิธภัณฑ์ และโบราณสถานที่มีการพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว โดยเฉพาะโบราณสถานที่มีการสร้างอาคารขึ้นมาใหม่ (Reconstruction) โดยอาศัยการวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีที่พบจากการขุดค้นและจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างอาคารจำลองที่มีขนาดและสัดส่วนใกล้เคียงกับของจริงมากที่สุดขึ้นมาบนสถานที่และตำแหน่งเดิม และพัฒนาสถานที่เหล่านั้นให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ – โบราณคดี ตลอดจนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติให้เข้ามาเที่ยวชมได้อย่างต่อเนื่อง เช่น Nara Palace site, Palatial Garden, Dejima เป็นต้น

นอกจากนี้ ได้มีการจัดกิจกรรมไปทัศนศึกษาวิธีการจัดแสดงนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับงานโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งประเทศญี่ปุ่นจะมีการสร้างพิพิธภัณฑ์เฉพาะเรื่องหรือเฉพาะแหล่งเอาไว้เกือบทุกสถานที่ท่องเที่ยวทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม โดยพิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งจะจัดแสดงเนื้อหาที่มีความสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีหรือโบราณสถานนั้นๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ในพื้นที่เกาะ Dejima ที่นอกเหนือไปจากการก่อสร้างอาคารจำลองขึ้นมาใหม่แล้ว ยังมีการจัดแสดงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการค้าทางทะเล สภาพวิถีชีวิตของผู้คนในเกาะ Dejima หลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดพบในพื้นที่ และวิธีการก่อสร้างอาคารต่างๆ เป็นต้น

๑๐. ข้อเสนอแนะจากการจัดกิจกรรม

          จากการเข้าร่วมการฝึกอบรมในครั้งนี้ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าประเทศไทยสามารถนำวิธีการจัดการและการใช้ประโยชน์จากแหล่งโบราณคดีและมรดกทางวัฒนธรรมที่ประเทศญี่ปุ่นใช้ มาปรับประยุกต์ใช้กับประเทศไทยได้หลายประการ เช่น

-          การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในสถานที่ท่องเที่ยว เช่น ห้องสุขา ทางลาดสำหรับผู้พิการหรือผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น ทางเดินและป้ายบรรยายสำหรับผู้พิการทางสายตา การจัดเส้นทางเดินเพื่อการท่องเที่ยวแบบทางเดียว (One Way) ซึ่งสะดวกต่อการจัดระบบการท่องเที่ยว การจัดทำป้ายบอกทางหรือป้ายสัญลักษณ์เตือนต่างๆ ที่เข้าใจง่าย เป็นต้น

-          การป้องกันอุบัติเหตุและการรับมือในกรณีฉุกเฉินในสถานที่ท่องเที่ยว เช่น อุปกรณ์ช่วยชีวิต (AED – Automated External Defibrillator) อุปกรณ์การปฐมพยาบาล หรือถังดับเพลิง โดยสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะถูกติดตั้งไว้ที่ประตูทางเข้าอาคารในจุดที่มองเห็นได้ง่าย เป็นต้น

-          การสร้างความร่วมมือกับประชาชนในการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งโบราณคดี โดยการจัดตั้งองค์กรอาสาสมัครในการดูแลรักษามรดกทางวัฒนธรรม อาสาสมัครกลุ่มนี้จะปฏิบัติหน้าที่และกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับรัฐบาลและภาคประชาชน เช่น กิจกรรมทำความสะอาดโบราณสถาน กิจกรรมถ่ายทอดความรู้ทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์แก่นักเรียนในโรงเรียน กิจกรรมสำรวจแหล่งโบราณคดีร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ กิจกรรมมัคคุเทศก์อาสาสมัครตามสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ อาสาสมัครในการขุดค้นทางโบราณคดี หรือการเป็นผู้ช่วยนักโบราณคดี เป็นต้น

-          จากการเข้าฝึกอบรมข้าพเจ้าพบว่า ประเทศญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับรายละเอียดของโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้น โดยมีการศึกษาในรายละเอียดอย่างลึกซึ้ง และไม่เน้นปริมาณหรือจำนวนแหล่งที่ขุดค้นได้ในแต่ละปี (เฉพาะแหล่งขุดค้นเพื่อการศึกษา) เนื่องจากต้องการสงวนรักษาแหล่งโบราณคดีเอาไว้ให้คนรุ่นถัดไปได้มีพื้นที่ศึกษา

-          จากการเข้าฝึกอบรมพบว่าประเทศญี่ปุ่นมีระบบการจัดแบ่งประเภทของมรดกทางวัฒนธรรมที่ชัดเจนและเป็นแบบแผนของตนเอง (เอกสารอัดสำเนา ๑) ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าประเทศไทยสามารถนำรูปแบบดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการจัดแบ่งมรดกทางวัฒนธรรมของเราได้ ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการและการอนุรักษ์ทำได้ง่ายและชัดเจนมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าหากในปีถัดไปทางประเทศญี่ปุ่นมีการจัดกิจกรรมเช่นนี้ขึ้นอีก ก็ควรส่งข้าราชการของกรมศิลปากรเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้และทักษะในการทำงานด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ อันจะเป็นประโยชน์ที่สามารถนำมาพัฒนาการทำงานด้านวัฒนธรรมในประเทศไทยต่อไปในอนาคต

 

 

                                                                   ลงชื่อ.........................................................................

                                                                             (นางสาวทิพย์วรรณ  วงศ์อัสสไพบูลย์)

                                                                                ผู้สรุปผลการเดินทางไปราชการ

(จำนวนผู้เข้าชม 1003 ครั้ง)