รายงานการเดินทางไปราชการ ณ เมืองเว้ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
๑. ชื่อโครงการ
โครงการเข้าร่วมการประชุม MOWCAP General Meeting ครั้งที่ ๗ และสัมมนาทางวิชาการ Recommendation Concerning the Preservation of, and Access to, Documentary Heritage Including in Digital Form
๒. วัตถุประสงค์
๒.๑ เพื่อเข้าร่วมการประชุม MOWCAP General Meeting ครั้งที่ ๗
๒.๒ เพื่อเข้าร่วมสัมมนาทางวิชาการ Recommendation Concerning the Preservation of, and Access to, Documentary Heritage Including in Digital Form
๒.๓ เพื่อศึกษาดูงานทางด้านวัฒนธรรม
๓. กำหนดเวลา
ระหว่างวันที่ ๑๗ – ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙
๔. สถานที่
เมืองเว้ (Hue) สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
๕. หน่วยงานผู้จัด
คณะกรรมการแห่งภูมิภาคว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก UNESCO Memory of the World Regional Committee for Asia and the Pacific (MOWCAP)
๖. หน่วยงานสนับสนุน
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร
สำนักบริหารกลาง กรมศิลปากร
๗. คณะผู้แทนไทย
นางสาวนัยนา แย้มสาขา ผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
นางสาวกรพินธุ์ ทวีตา นักจดหมายเหตุชำนาญการพิเศษ
๘. กิจกรรม
- การประชุม UNESCO Memory of the World Regional Committee for Asia and the Pacific (MOWCAP) General Meeting ครั้งที่ ๗
- การสัมมนาทางวิชาการ Recommendation Concerning the Preservation of, and Access to, Documentary Heritage Including in Digital Form
- การศึกษาดูงานทางด้านวัฒนธรรม
๙. สรุปสาระของกิจกรรม
๙.๑ การประชุม UNESCO Memory of the World Regional Committee for Asia and the Pacific (MOWCAP) General Meeting ครั้งที่ ๗
สาระของการประชุม ได้แก่ รายงานของเลขาธิการสำนักงาน (Bureau) คณะกรรมการแห่งภูมิภาคว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ได้รายงานผลการดำเนินงานระหว่างปี ๒๐๑๒ – ๒๐๑๔ ในส่วนเรื่องงบประมาณก็ไม่ได้รับงบประมาณอย่างเป็นทางการและไม่มีบัญชีการเงินของตนเอง ซึ่งงบประมาณแต่ละรายการเบิกจาก UNESCO Bangkok Office ส่วนของเว็บไซต์อยู่กับหน่วยดูแล (host) Udamain ที่ฮ่องกง เอกสารรายงานของประเทศ (Country Report) สำนักงานฯ ได้รับรายงานของประเทศออสเตรเลีย กัมพูชา จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐเกาหลี ซามัว ไทย ติมอร์เลสเต ตูวาลู อุสเบกิสถาน วานูอาตู และเวียดนาม สำนักงานของแผนงานมรดกความทรงจำแห่งโลก แต่เดิมอยู่ที่สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ต่อไปนี้จะไปตั้งอยู่ที่ Asian Culture Center (ACC) ที่เมืองกวางจู (Gwanggiu) สาธารณรัฐเกาหลี บัดนี้ได้มีการลงนามในข้อตกลงแล้ว
การเสนอรายงานของประเทศสมาชิก จำนวน ๑๐ ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐสังคมนิยมเกาหลี ประเทศออสเตรเลีย ประเทศนิวซีแลนด์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ประเทศกัมพูชา ประเทศซามัว ประเทศทาจิกิสถาน ประเทศคาซาลสถาน ประเทศติมอร์เลสเต ประเทศตูวาลู และประเทศไทย โดย ดร.ประจักษ์ วัฒนานุสิทธิ์ ผู้แทนประเทศไทย รายงานผลการดำเนินงาน ของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกฯ ของประเทศไทย ๒๐๑๔ – ๒๐๑๕ โดยกล่าวถึงองค์ประกอบ โครงสร้างของคณะกรรมการฯ จุดประสงค์ ที่มาของงบประมาณคือจากกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวัฒนธรรม การดำเนินงานในรอบสองปีที่ผ่านมา เช่น การประชุมประจำเดือน การประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ ได้จัดการประชุมสัมมนา คุณค่าของภาพยนตร์จดหมายเหตุ ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๘ การประชุมเชิงปฏิบัติการของคณะอนุกรรมการจัดทำทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งชาติและพิธีขึ้นทะเบียนเอกสารมรดกความทรงจำแห่งชาติ ในวันที่ ๒๑ – ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๘ ที่โรงแรมบียอนสวีท เขตบางพลัด กรุงเทพฯ
การขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ปี ๒๐๑๖ ประเทศสมาชิกต่างๆ นำเสนอเอกสารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งภูมิภาค เอเชียแปซิฟิก ๑๖ รายการ ที่ประชุมฯ พิจารณาแล้วและตัดสินขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ๑๔ รายการ ประกอบด้วย Archives of Confucius’ Family of the Ming and Qing Dynasties : Qufu Committee on Cultural Heritage, The Archives of Suzhou silk Samples of Modern and Contemporary Times : Suzhou Industrial and Commercial Archives Management Center, Archives and Manuscripts of Macao Kong Tac Lam Temple (1645 – 1980) : the Macau documentation and information society, Chapas Sinica, Mo ye Do Bo Tong Ji : Comprehensive Illustrated Manual of Martial Arts : National Library of DPR Korea, Arafat-al-Ashiqinva Arasulal-Arifin : Malek National Library and Museum Institution, Suiheisha and Hyeongpyengsa (records of cross border solidarity between the minorities that have been discriminated against), Kitab Ilmu Bedil : Book of Traditional Weaponry : Institute of Language and Literature, Tibetan Dictionary of Definitions and Term entitled as The Space for Attaining Wisdom, King Bayinnong Bell Inscription : Department of Archeology and National Museum, Pyeon-aek : Hanging Wooden Plaque in Korea : Advanced Centre for Korean Studies, Turkestan Collection of the National Library of Uzbekstan, PhucGiang School Woodblocks (18th – 20th Centuries) : Hatinh Museum, Royal Literature on Hua Royal Architecture (1802 – 1945) : Hue Monuments Conservation Center-Thua Thien’s Hue People Committee
๙.๒ การสัมมนาทางวิชาการ Recommendation Concerning the Preservation of, and Access to, Documentary Heritage Including in Digital Form
การจัดการให้ผู้ใช้เข้าถึงมรดกด้านเอกสารโดยสะดวก รวมทั้งในรูปแบบดิจิทัล ประเทศสมาชิกต่างตระหนักถึงความบอบบางของเอกสารมรดกโลก เนื่องจากเสื่อมสภาพไปตามธรรมชาติ ความขัดแย้ง/สงคราม และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ได้แสดงความเห็นให้มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงในการดูแลรักษาเอกสารมรดกโลก โดยให้มีกฎหมาย นโยบาย และกลยุทธ์ที่เหมาะสม ทั้งนี้หลังจากการประชุมหลายครั้ง เช่น โปแลนด์ แคนาดา จนกระทั่งในที่สุดก็ได้รับการรับรองจากการประชุมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ (Intergovernmental meeting) ให้ประเทศสมาชิกริเริ่มตามขั้นตอนที่เหมาะสมในการรับเครื่องมือใหม่นี้ไปใช้ เผยแพร่อย่างกว้างขวางในหลายประเทศ ดำเนินการตามรูปแบบ นโยบาย กลยุทธ์ กฎหมาย ทำให้บังเกิดผลและประเมินทุก ๔ ปี เนื้อหาของ Recommendation ประกอบด้วย ความเบื้องต้น คำจำกัดความ ตัวตนของเอกสาร การอนุรักษ์เอกสารมรดก การดำเนินให้ผู้ใช้เข้าถึงเอกสารมรดกโลก มาตรการด้านนโยบาย และความร่วมมือในระดับชาติและนานาชาติ
๙.๓ การศึกษาดูงานทางด้านวัฒนธรรม
๙.๓.๑ ป้อมค่ายพระราชวังแห่งเว้ (The Citadel) ภายใต้ราชวงศ์เหวียนหรือเหงียน (Nguyen) 1802-1945 ซึ่งเป็นราชวงศ์เก่าแก่วงศ์สุดท้ายที่ปกครองของเวียดนาม สถานที่แห่งนี้ได้พัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางของประเทศ มีสถาปัตยกรรมโดเด่น เช่นป้อมค่าพระราชวังแห่งเว้ (The Citadel) วัด และสุสาน พระราชวังนี้ตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำหอม มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่กำแพงคูน้ำล้อมรอบภายในเขียวขจี เคยมีอาคารพระราชวังต่างๆ จำนวนมาก แต่เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลาขณะนี้ได้สร้างใหม่ขึ้นทดแทนอาคารเดิมแล้วหลายหลัง และกำลังดำเนินการอยู่หลายหลัง ปลุกให้พระราชวังแห่งนี้กลับมามีชีวิตชีวาดังเดิม ที่เห็นเด่นชัดคือประตูโหง่มอน ห้องพระโรง หอราชานุสรณ์ แสดงว่าได้รับอิทธิพลจีนมาก สมกับที่เคยมีอำมาตย์เป็นชาวจีนมาก (Mandarin) ผู้สนใจประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศิลปะ และสถาปัตยกรรมเวียดนามจึงไม่ควรพลาด
๙.๓.๒ สุสานพระเจ้ามินม่าง (Mausoleum of king Minh Mang) เป็นสุสานที่มีเนื้อที่ขนาดใหญ่ ออกแบบดี เป็นอุทยานที่น่ารื่นรมย์ อาคารสุสานเชื่อมต่อกันเข้าไปเป็นลำดับมีบ่อน้ำล้อมรอบ ที่ฝังพระศพจะอยู่ด้านในสุด ได้รับอิทธิพลจีนมาก
๙.๓.๓ สุสานพระเจ้าไค่ดิ๊น (Mousoleum of King khai Dinh) พระเจ้าหรือจักรพรรดิไค่ดิ๊นเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของเวียดนามโบราณก่อนที่ฝรั่งเศสจะเข้าไปปกครอง การออกแบบสุสาน วัสดุที่ใช้ก็ได้รับจากฝรั่งเศสเป็นอันมาก เลือกสถานที่บนไหล่เขาได้อย่างสวยงาม บรรยากาศดี รูปแบบศิลปะผสมผสานเก่าใหม่
๙.๓.๔ เจดีย์วัดเทียนมู่ (Thien Mu) เมืองเว้มีชื่อเสียงว่าเป็นเมืองที่มีประชากรนับถือพระพุทธศาสนา (มหายาน) มากที่สุดในเวียดนาม เจดีย์วัดเทียนมู่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญมากของประเทศนี้ และในช่วงที่มีการประชุมตรงกับเทศกาลวันวิสาขบูชา วัดทุกแห่ง รวมทั้งสถานที่สำคัญ แม้แต่กลางลำน้ำหอมพระราชวังก็ประดับด้วยสัญลักษณ์ดอกบัวชมพูเจ็ดดอก สวยงามและมีความหมายดีเยี่ยม
๑๐. ข้อเสนอแนะจากการจัดกิจกรรม
๑๐.๑ นักจดหมายเหตุ และบุคลากรของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ควรได้รับการสนับสนุนให้มีการเรียนรู้ภาษาอังกฤษอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถสื่อสาร แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการเข้าร่วมกิจกรรมในระดับสากลได้
๑๐.๒ ควรได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมด้านงบประมาณเพื่อเปิดโอกาสให้นักจดหมายเหตุรุ่นใหม่ได้ร่วมเดินทางไปฝึกประสบการณ์ตรงในต่างประเทศ เพื่อพัฒนาบุคลากรสายงานจดหมายเหตุให้มีความรู้และประสบการณ์ในการเข้าร่วมกิจกรรมในต่างประเทศ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาองค์กรให้มีความก้าวหน้า
นางสาวกรพินธุ์ ทวีตา ผู้สรุปรายงานการเดินทางไปราชการ
(จำนวนผู้เข้าชม 937 ครั้ง)