รายงานผลการเดินทางไปราชการ ณ ราชอาณาจักรนอร์เวย์
๑. ชื่อโครงการ
การเดินทางสำรวจสภาพในพิพิธภัณฑสถานไทย ณ เมืองนอร์ดแคปป์ และสำรวจพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ เมืองเบรวิก ราชอาณาจักรนอร์เวย์
๒. วัตถุประสงค์
๒.๑ เพื่อสำรวจพื้นที่จัดแสดงบริเวณหินพระปรมาภิไธยย่อ จปร. และพิพิธภัณฑสถานไทย ณ เมืองนอร์ดแคปป์ ราชอาณาจักรนอร์เวย์ สำหรับนำมาจัดทำแบบปรับปรุงนิทรรศการในพื้นที่ดังกล่าว
๒.๒ เพื่อสำรวจสภาพความเสียหายของแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ประดิษฐาน ณ เมืองเบรวิก เพื่อนำกลับมาเป็นข้อมูลในการออกแบบปรับปรุงซ่อมแซมแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ
๓. กำหนดเวลา ระหว่างวันที่ ๖ – ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๙
๔. สถานที่ เมืองนอร์ดแคปป์ และ เมืองเบรวิก ราชอาณาจักรนอร์เวย์
๕. หน่วยงานผู้จัด กรมศิลปากร และกระทรวงการต่างประเทศ โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล
๖. หน่วยงานสนับสนุน เทศบาลเมืองพอร์สกรุนน์ (เมืองเบรวิกขึ้นกับเทศบาลเมืองพอร์สกรุนน์)
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวนอร์ดแคปป์ เขตเทศบาลเมือง Honningsvag
๗. กิจกรรม
วันจันทร์ที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๙
๐๗.๒๕ น. - เดินทางถึงกรุงออสโล โดยเที่ยวบิน TG ๙๕๔
- เดินทางไปเมือง Brevik สำรวจพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๕ และหารือกับผู้รับเหมาท้องถิ่น
๑๖.๓๐ น. - เดินทางกลับกรุงออสโล
วันอังคารที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๙
- สำรวจวัสดุก่อสร้างในพื้นที่
- เยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ และโอเปร่าเฮาส์
วันพุธที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๙
๐๗.๕๕ - เดินทางจากกรุงออสโล ไปเมือง Tromso โดยเที่ยวบิน SK ๔๔๐๙
๑๐.๒๕ - เดินทางจากเมือง Tromso ไปยังเมือง Honningsvag โดยเที่ยวบิน WF ๙๔๐
๑๑.๔๘ - เดินทางถึงเมือง Honningsvag
บ่าย - สำรวจพิพิธภัณฑสถานไทย ณ Nordkapp
วันพฤหัสที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๙
๑๐.๐๐ น. - ประชุมสรุปงาน
๑๖.๐๐ น. - ออกเดินทางจาก Honningsvag ไปยังเมือง Alta (โดยรถยนต์)
วันศุกร์ที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๙
๐๗.๓๐ น. - เดินทางจากเมือง Alta กลับกรุงออสโล โดยเที่ยวบิน SK ๔๔๐๙
๑๐.๒๐ น. - เดินทางถึงกรุงออสโล
บ่าย - สำรวจวัสดุก่อสร้างในพื้นที่
วันเสาร์ที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๙
- เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ในกรุงออสโล
วันอาทิตย์ที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๙
๑๔.๑๕ น. - เดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยเที่ยวบิน TG ๙๕๕
๘. คณะผู้แทนไทย
นางสาววิมลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ มัณฑนากรชำนาญการพิเศษ
นายวุฒินันท์ จินศิริวานิชย์ มัณฑนากรชำนาญการ
นายดิษพงษ์ เนตรล้อมวงศ์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการ
นายภราดร เชิดชู ประติมากรชำนาญการ
นายณรงค์ฤทธิ์ ทองแสง สถาปนิกปฏิบัติการ
๙. สรุปสาระของกิจกรรม
๙.๑ การสำรวจพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ เมืองเบรวิก
คณะทำงานได้ดำเนินการสำรวจ รังวัด ถ่ายภาพ สภาพความเสียหายของแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่ได้ทำการก่อสร้างประกอบติดตั้งแล้วเสร็จ ณ เมืองเบรวิก ราชอาณาจักรนอร์เวย์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งเมื่อระยะเวลาล่วงเลยผ่านมา ๖ ปี จากสภาพอากาศที่มีความแตกต่างจากประเทศไทยมาก อีกทั้งพื้นที่ตั้งอยู่ติดริมทะเล มีไอทะเลกัดกร่อน ทำให้ส่งผลต่อเนื้อหินและวัสดุประสานเนื้อหินต่างๆที่เตรียมไปจากประเทศไทย เกิดการชำรุด เปื่อย หลุดร่อน เป็นบางจุด จึงต้องดำเนินการสำรวจความเสียหายทั้งหมด เพื่อวางแนวทางและจัดทำแบบปรับปรุงซ่อมแซมโดยเร็ว โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล ตลอดจนหน่วยงานผู้เกี่ยวข้องจากเมืองเบรวิก และเทศบาลเมืองพอร์สกรุนน์ ราชอาณาจักรนอร์เวย์ ได้ร่วมสำรวจและหารือเรื่องสภาพความเสียหายทั้งหมด พร้อมทั้งได้แสดงความตั้งใจที่จะร่วมมือดำเนินการให้สำเร็จ
การสำรวจสภาพความเสียหายของพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และส่วนแท่นฐาน โดยการรังวัด ถ่ายภาพ ส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบพกพา พบว่าพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ อยู่ในสภาพสมบูรณ์ มีสนิมจับตามสภาพกาลเวลา ซึ่งเป็นลักษณะตามธรรมชาติ ไม่ได้เกิดความเสียหายกัดกร่อนหรือมีชิ้นส่วนแตกหักแต่อย่างใด ส่วนแท่นฐานนั้น มีสภาพความเสียหายพอสมควร ประมาณ ๓๐% เนื่องจากเมื่อครั้งการก่อสร้างประกอบติดตั้งได้ใช้หินและวัสดุยาแนวหรือวัสดุประสานเนื้อหินต่างๆ รวมทั้งกรรมวิธีการก่อสร้างจากประเทศไทย ใช้ช่างไทยเดินทางไปประกอบติดตั้งทั้งหมด โดยได้ทำการก่อสร้างประกอบติดตั้งแล้วเสร็จ ณ เมืองเบรวิก ราชอาณาจักรนอร์เวย์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งเมื่อระยะเวลาล่วงเลยผ่านมา ๖ ปี จากสภาพอากาศของเมืองเบรวิกที่มีความแตกต่างจากประเทศไทยมาก ในรอบปีมีอุณหภูมิที่แตกต่างกันมาก ตั้งแต่ -๓๐ ถึง ๒๐ องศาเซลเซียส อีกทั้งพื้นที่ตั้งอยู่ติดริมทะเล มีไอทะเลกัดกร่อน ทำให้ส่งผลต่อเนื้อหินและวัสดุประสานเนื้อหินต่างๆที่เตรียมไปจากประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลเกิดการชำรุด เปื่อย หลุดร่อน เป็นบางจุด โดยปูนยาแนวนั้นหลุดร่อนออกเกือบทั้งหมด อันเป็นความเสียหายเสื่อมสภาพตามธรรมชาติ (หากเป็นวัสดุและกรรมวิธีการก่อสร้างแบบเดียวกันนี้ ที่ทำการก่อสร้างในประเทศไทย กว่าสภาพความเสียหายจะปรากฏก็ใช้ระยะเวลาประมาณ ๑๐ ปีขึ้นไป) ซึ่งด้วยสภาพอากาศ ณ เมืองเบรวิคที่เปลี่ยนแปลงรุนแรงนี้ ทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อหินและวัสดุประสานดังกล่าวภายใต้ระยะเวลาที่เร็วขึ้นกว่าการก่อสร้างในประเทศไทย จึงต้องดำเนินการสำรวจความเสียหายทั้งหมด เพื่อกำหนดแผนการทำงาน วางแนวทางและจัดทำแบบปรับปรุงซ่อมแซมเสนอตามแผนงานต่อไป
๙.๒ การสำรวจพื้นที่พิพิธภัณฑสถานไทย ณ นอร์ดแคปป์
คณะทำงานได้เดินทางไปสำรวจ รังวัด ถ่ายภาพ และเก็บข้อมูลพื้นที่ในอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่แหลมเหนือ หรือนอร์ดแคปป์ (Nordkapp) ซึ่งเป็นที่ตั้งของหินสลักพระปรมาภิไธยย่อ จปร. และพิพิธภัณฑสถานไทย ณ นอร์ดแคปป์ รวมทั้งได้สำรวจพื้นที่ภายในและภายนอกอาคารของศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ตลอดจนได้สำรวจพื้นที่บริเวณ Hornvika ซึ่งเป็นจุดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นจากเรือพระที่นั่งเพื่อปีนหน้าผาและเสด็จพระราชดำเนินต่อมายังบริเวณแหลมเหนือ ทั้งหมดนี้เพื่อนำข้อมูลมาพิจารณาในการปรับปรุงการจัดแสดงทั้งบริเวณหินพระปรมาภิไธยและภายในพิพิธภัณฑ์
อาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเป็นอาคารขนาดใหญ่ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ตั้งอยู่บริเวณปลายแหลมด้านเหนือสุดของแผ่นดินประเทศนอร์เวย์ (ละติจูดที่ ๗๑ องศาเหนือ ๑๐ ลิปดา ๒๑ ฟิลิปดา) ภายในอาคารประกอบด้วยโถงต้อนรับซึ่งเป็นที่ตั้งของหินพระปรมาภิไธย จปร. เชื่อมไปสู่ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายของที่ระลึก ลานชมทัศนียภาพนอกอาคาร และมีชั้นใต้ดินลงไปอีกสามชั้น ทำทางเดินเป็นอุโมงค์ยาวเพื่อนำนักท่องเที่ยวลงไปยังห้องรับรองขนาดใหญ่ (เรียกว่า Grotto) ซึ่งเดิมเจาะเป็นช่องแสงเปิดออกสู่ด้านหน้าของผาเพื่อชมทัศนียภาพของท้องทะเล (ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุง) ตลอดเส้นทางเดินลงสู่ห้องรับรองจะมีห้องฉายภาพยนตร์และพื้นที่จัดนิทรรศการเล่าเรื่องต่างๆ ทั้งภูมิศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา ประวัติศาสตร์ โบราณคดีและเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในบริเวณนี้ โดยห้องพิพิธภัณฑสถานไทยก็ตั้งอยู่บนเส้นทางดังกล่าว
หินสลักพระปรมาภิไธยย่อ จปร. ตั้งอยู่ในโถงต้อนรับภายใน ถัดจากประตูทางเข้าอาคาร มีขอบยกพื้นและตั้งเสาสแตนเลสกรุผนังกระจกใสเป็นรั้วกั้นโดยรอบก้อนหิน เป็นพื้นที่จุดหมายตาสำคัญของโถงต้อนรับ ในแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวโยนเหรียญลงไปในบ่อหินเป็นจำนวนมาก เงินจำนวนนี้จะถูกรวบรวมและนำไปมอบให้องค์กรการกุศลเพื่อเด็กยากไร้ทั่วโลก ตามโครงการ Children of the Earth ซึ่งก่อตั้งโดยศูนย์ท่องเที่ยวนอร์ดแคปป์เอง ด้วยเหตุนี้ทางศูนย์ฯ จึงนำป้ายข้อมูลของโครงการดังกล่าวและตู้รับบริจาคอีกตู้หนึ่ง มาติดไว้ใกล้กันที่ผนังด้านหลังหินพระปรมาภิไธย ทำให้เรื่องราวของหินและประวัติศาสตร์การเสด็จฯ เยือนนอร์ดแคปป์ถูกลดความสำคัญลงและกลับกลายให้ผูกโยงกับการรับบริจาคโดยปริยาย
พิพิธภัณฑสถานไทย ณ นอร์ดแคปป์ ตั้งอยู่เยื้องกับโบสถ์ขนาดเล็ก (St Johannes Kappel) ก่อนจะถึงห้องรับรอง บริเวณปลายอุโมงค์ เป็นห้องนิทรรศการขนาดเล็ก มีพื้นที่จัดแสดงภายในประมาณ ๒๐ ตารางเมตร หน้าห้องมีป้ายชื่อพิพิธภัณฑ์และตู้จัดแสดงเรือสุพรรณหงส์จำลอง ภายในห้องด้านซ้ายมือประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขนาดครึ่งพระองค์ พร้อมด้วยแท่นพานพุ่ม โต๊ะวางของถวายและแท่นกราบ ที่ผนังด้านในมีตู้จัดแสดงสามตู้ ตู้กลางจัดแสดงวัสดุอุปกรณ์ในวันเปิดพิพิธภัณฑ์ (สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เปิดเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๓๒) มีตู้กระจกสองตู้จัดแสดงวัตถุสิ่งของจากประเทศไทย ประกอบด้วยเหรียญกษาปณ์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และงานประณีตศิลป์เครื่องถ้วยและเครื่องโลหะ ผนังโดยรอบตกแต่งด้วยแผงไม้แกะสลักย้อมสีและปิดทอง กรุกระจกเงาและไม้อัดสัก จัดแสดงภาพจดหมายเหตุเล่าเรื่องการเสด็จประพาสและพระราชวงศ์ของไทย
การจัดแสดงห้องพิพิธภัณฑ์นี้ เดิมทีเป็นการติดตั้งในห้องที่กั้นล้อมหินพระปรมาภิไธย ซึ่งเป็นบริเวณที่สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ เสด็จฯ เปิด ในปี ๒๕๓๒ แต่ต่อมามีการปรับปรุงขยายพื้นที่โถงต้อนรับ ห้องดังกล่าวถูกรื้อถอนออกไปให้เป็นโถงต้อนรับขนาดใหญ่ ซึ่งมีหินจปร. ตั้งอยู่กลางโถง และมีการหารือกันระหว่างกำหนดพื้นที่จัดแสดงใหม่ที่ห้องด้านล่าง ครุภัณฑ์และวัตถุจัดแสดงจึงถูกเคลื่อนย้ายลงมา โดยมีเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร (นายสุเทพ วิริยะบุศย์ และนางสาววิมลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ เป็นมัณฑนากรผู้ออกแบบ) เดินทางไปร่วมกำหนดรูปแบบและตำแหน่งการจัดวางใหม่ โดยให้ช่างท้องถิ่นดำเนินการต่อจนแล้วเสร็จในปี ๒๕๔๐ ทั้งบริเวณหินจปร.และห้องพิพิธภัณฑ์นี้ได้รับการดูแลโดยศูนย์บริการท่องเที่ยวนอร์ดแคปป์และมีการปรับปรุงซ่อมแชมเล็กน้อยอยู่เป็นระยะ ผ่านการหารือและประสานงานกับฝ่ายรัฐบาลไทย ผ่านทางสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงออสโล
ในการประชุมสรุปงานร่วมกันระหว่างคณะเดินทางกับท่านเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงออสโล และอัครราชทูตที่ปรึกษา รวมทั้งเจ้าหน้าที่คนไทยที่บริหารงานอยู่ภายในศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มีความเห็นตรงกันที่จะให้มีการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์และบริเวณหินแกะสลัก จปร. ครั้งใหญ่ โดยต้องเริ่มทำงานตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบเนื้อหา การจัดหาวัตถุและสื่อจัดแสดงและเทคนิคการจัดแสดง โดยเน้นวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารเรื่องราวสำคัญที่เกี่ยวข้องกับบริบททางประวัติศาสตร์และพื้นที่ รวมทั้งต้องพยายามฟื้นฟูการเชื่อมโยงเรื่องราวจากหินพระปรมาภิไธยกับพิพิธภัณฑสถานไทยที่ตั้งอยู่ห่างกัน และไม่ลืมที่จะสร้างความต่อเนื่องกลมกลืนของประสบการณ์โดยรวมสำหรับผู้ชม ทั้งที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศซึ่งมีพื้นฐานการรับรู้และความคาดหวังที่แตกต่างกัน
สรุปรายการปรับปรุงและแผนการดำเนินงานเบื้องต้น
๑. งานปรับปรุงพื้นที่บริเวณรอบหินแกะสลักพระปรมาภิไธยย่อ จปร.
- ขอย้ายแผงนิทรรศการของโครงการ Children of the Earth และตู้บริจาค ไปไว้บริเวณอื่น (ตามที่ทางศูนย์เห็นเหมาะสม)
- ติดตั้งภาพพระบรมฉายาลักษณ์กับคณะตามเสด็จและช่างผู้แกะสลักหิน อัดขยายขนาดใหญ่พร้อมข้อมูลการเสด็จเยือนในปี ค.ศ. ๑๙๐๗ (พ.ศ. ๒๔๕๐) และส่งเรื่องราวต่อไปยังห้องพิพิธภัณฑ์
- ปรับปรุงระบบแสงสว่าง โดยติดตั้งดวงโคมส่องสว่างที่ฐานหินโดยเฉพาะด้านที่แกะสลักพระปรมาภิไธย เพื่อให้เกิดแสงเงาที่สวยงามและเห็นรอยแกะสลักที่ชัดเจนขึ้น (ต้องขอความอนุเคราะห์เจ้าหน้าที่เดินสายไฟใต้พื้นมาที่ด้านข้างแท่นหิน)
๒. งานปรับปรุงห้องพิพิธภัณฑสถานไทย ณ นอร์ดแคปป์
- บริเวณผนังหน้าห้องพิพิธภัณฑ์และด้านตรงข้าม จัดแสดงข้อมูลสังเขปเกี่ยวกับการเสด็จประพาส อาทิ แผนที่เส้นทางการเสด็จเยือนนอร์เวย์ ประกอบภาพถ่ายหรือเอกสารจดหมายเหตุ เพื่อเชิญชวนและทำความเข้าใจผู้ชมเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์
- ภายในห้อง ดำเนินการปรับปรุงทั้งกายภาพและเนื้อหานิทรรศการ ซึ่งภัณฑารักษ์จะเป็นผู้กำหนดเนื้อหาและสื่อจัดแสดงทั้งหมดก่อนแล้วจึงนำมาออกแบบกายภาพนิทรรศการต่อไป โดยโครงสร้างทางกายภาพและสิ่งจัดแสดงที่จะยังคงไว้ในพิพิธภัณฑ์ ได้แก่
๑) คงโครงสร้างผนังและพื้นเดิมของห้องพิพิธภัณฑ์ ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากของการปรับแก้งานระบบที่ซ่อนอยู่ภายในผิวอาคาร (ได้แก่ระบบป้องกันความชื้น ระบบระบายน้ำ ระบบทำความร้อน ฯลฯ) ซึ่งเชื่อมต่อกับระบบใหญ่ของอาคาร
๒) พระบรมรูปฯ ให้ประดิษฐานไว้ดังเดิม โดยออกแบบแท่นฐานใหม่และจัดพื้นที่ถวายของให้เป็นสัดส่วน และน่าจะปรับตำแหน่งพระบรมรูปไปฝั่งตรงข้าม เพื่อให้พระพักตร์ผินไปทางประตูทางเข้า
๓) วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้เมื่อครั้งสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ เสด็จเปิดพิพิธภัณฑ์
๔) ป้ายจำลองพระนาม “สิรินธร” ซึ่งทางศูนย์ท่องเที่ยวได้เก็บรักษาไว้และยังอยู่ในสภาพดี
๓. ขั้นตอนการดำเนินงานโดยสังเขป
-เนื่องจากในปี ๒๕๖๐ จะเป็นวาระครบรอบ ๑๑๐ ปี การเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ ทางสถานเอกอัครราชทูตไทยฯ เห็นควรที่จะปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ให้แล้วเสร็จภายในกรอบเวลาของปี ๒๕๖๐ เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสดังกล่าว อย่างไรก็ดี ทางศูนย์บริการนักท่องเที่ยวนอร์ดแคปป์ มีข้อเสนอแนะว่าการดำเนินการก่อสร้างติดตั้งนิทรรศการควรให้แล้วเสร็จก่อนเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วง High Season ของทุกปี โดยจะเริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก และอีกปัจจัยหนึ่งคือเส้นทางขนส่งวัสดุอุปกรณ์เข้าพื้นที่ จำเป็นจะต้องรอเข้าสู่เดือนพฤษภาคม ให้หิมะละลายไปพอสมควรและรถใหญ่สามารถวิ่งได้โดยสะดวก ดังนั้นเวลาที่เหมาะสมในการเข้าพื้นที่ น่าจะเป็นสัปดาห์ที่สามและสี่ของเดือนพฤษภาคม โดยมีขั้นตอนการเตรียมแบบของบประมาณและการเตรียมงาน ดังนี้
สิงหาคม ๒๕๕๙
สรุปเนื้อหาเบื้องต้น กำหนดรูปแบบรายการและประมาณราคาโดยสังเขป เพื่อให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถนำไปของบประมาณประจำปี รวมทั้งขอสนับสนุนจากภาคเอกชน
กันยายน-ธันวาคม ๒๕๕๙
จัดทำบทนิทรรศการอย่างละเอียด จัดทำแบบนิทรรศการและประมาณราคาโดยละเอียดเพื่อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง
มกราคม-มีนาคม ๒๕๖๐
จัดทำโครงสร้าง วัสดุ สื่อและอุปกรณ์นิทรรศการ ทั้งหมดในประเทศไทย
เมษายน ๒๕๖๐
ส่งวัสดุอุปกรณ์ทางเรือไปยังประเทศนอร์เวย์
พฤษภาคม ๒๕๖๐
ขนส่งวัสดุอุปกรณ์เข้าพื้นที่ บริษัทผู้รับจ้างเข้าติดตั้งและทดสอบนิทรรศการ
ตรวจสอบทะเบียนครุภัณฑ์และวัตถุส่งคืน พร้อมขนส่งไปยังพื้นที่เป้าหมาย
ตรวจสอบความเรียบร้อยเพื่อเตรียมเปิดให้บริการ
มิถุนายน ๒๕๖๐
ทดลองเปิดให้บริการ
๑๐. ข้อเสนอแนะจากการจัดกิจกรรม
๑๐.๑ กรณีการสำรวจพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ
งานก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ในต่างประเทศเป็นงานละเอียดอ่อน ทั้งในแง่การออกแบบ การติดต่อ ประสานงาน การวางแผนดำเนินงาน ในกรณีการก่อสร้าง ณ เมืองเบรวิก ราชอาณาจักรนอร์เวย์ นี้ ถือเป็นกรณีศึกษาที่ดี เพราะถือได้ว่าเป็นพระพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ กลางแจ้งในต่างประเทศแห่งแรกๆ ที่ออกแบบโดยกรมศิลปากร แทบจะไม่มีกรณีศึกษาเทียบเคียงก่อนหน้า ปัญหาที่พบเกิดขึ้นเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันมากกับประเทศไทย ทำให้วัสดุและกรรมวิธีการก่อสร้างแบบประเทศไทยไม่เหมาะกับสภาพแวดล้อมที่ราชอาณาจักรนอร์เวย์ และด้วยงบประมาณอันจำกัดเมื่อครั้งดำเนินการก่อสร้าง (๕๐๐,๐๐๐ บาท) ทำให้ต้องเลือกใช้หินในประเทศไทย และต้องใช้วิธีการประกอบหินเป็นชิ้นเล็กๆ เพราะหากใช้หินชิ้นใหญ่สลัก จะมีราคาสูง ซึ่งด้วยสภาพหินและจำนวนรอยต่อ รอยยาแนวต่างๆที่มีมาก เนื่องจากเป็นการประกอบหินชิ้นเล็ก ทำให้ฝน หิมะ ไอทะเลต่างๆ กัดกร่อนทะลุเข้าไปภายในเนื้อหินตามแนวรอยต่อเหล่านี้ได้โดยง่าย เกิดการเร่งระยะเวลาความเสียหายให้เกิดขึ้นโดยเร็วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ในการก่อสร้างภายหน้าที่มีโครงการใกล้เคียงกับกรณีศึกษานี้ จึงเสนอการวางแนวทางในการดำเนินงานโครงการให้มีการจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่ตั้งและเตรียมรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่ เช่น สามารถเลือกใช้หินหรือใช้วัสดุการก่อสร้างจากประเทศที่ตั้งได้ แม้ราคาจะสูงกว่าในประเทศไทย แต่ก็จะทำให้โครงการมีสภาพที่สมบูรณ์ขึ้น อยู่ได้นาน ยืดระยะเวลาความเสื่อมสภาพได้ และงานก่อสร้างในต่างประเทศนั้น เป็นงานที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษ ทั้งด้านวิชาช่างและการติดต่อประสานงาน ซึ่งกรมศิลปากรได้มีส่วนรับผิดชอบโครงการโดยตลอด จึงเห็นควรให้มีการจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้แก่บุคลากรภายใน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
๑๐.๒ กรณีการสำรวจพิพิธภัณฑสถานไทย ณ นอร์ดแคปป์
การเดินทางไปสำรวจครั้งนี้ ทำให้คณะเดินทางได้ศึกษาตัวอย่างของพิพิธภัณฑ์ในอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในประเทศและมีโอกาสหารือกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อทำความเข้าใจหลักและวิธีการในการพัฒนาทั้งด้านการวางแผน งานกายภาพ และงานบริหารจัดการ
-การวางแผนและการประสานงานผู้เกี่ยวข้อง
หากพิจารณาจากประวัติการก่อตั้งและรูปแบบการบริหารจัดการ พิพิธภัณฑ์นี้มีลักษณะแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์ทั่วไปในหลายๆ ด้าน ทั้งการที่พิพิธภัณฑ์ถูกสร้างด้วยงบประมาณของประเทศไทย แต่ต้องไปติดตั้งในต่างประเทศ ทั้งการดูแลและบริหารจัดการก็เป็นของหน่วยงานในอีกประเทศหนึ่ง ดังนั้น จึงควรทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องในทุกระดับ (ตั้งแต่รัฐบาลประเทศถึงระดับท้องถิ่นและองค์กรหน้างาน) รวมทั้งพิจารณาหากลไกของการบริหารจัดการที่เหมาะสมกับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เมื่อเปิดใช้งานแล้ว เพื่อให้พิพิธภัณฑ์สามารถดำเนินงานได้ในระยะยาว ไม่สร้างความลำบากให้กับผู้ดูแลอาคารและสนับสนุนกิจการของพื้นที่ไปพร้อมกัน
-การติดตั้งและบริหารกายภาพพื้นที่
การติดตั้งนิทรรศการในพื้นที่ห่างไกลและมีลักษณะภูมิศาสตร์ที่แตกต่างจากประเทศไทย จำเป็นต้องคิดวางแผนงานด้านกายภาพอย่างรอบคอบ พิพิธภัณฑสถาน ณ นอร์ดแคปป์ถือเป็นกรณีศึกษาที่ชัดเจนที่สุด ทั้งในเรื่องตำแหน่งที่ตั้งของอาคารในพื้นที่ห่างไกล การคมนาคมขนส่งไม่สะดวก รวมทั้งสภาพอากาศที่หนาวจัดรุนแรงเกือบทั้งปี ส่งผลต่อการเลือกใช้วัสดุ อุปกรณ์ หรือสื่อนิทรรศการต่างๆ และขั้นตอนการดำเนินงานที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ทั้งในช่วงการขนส่ง ติดตั้ง และการบำรุงรักษาในระยะยาว นอกจากนี้ยังต้องศึกษาไปถึงมิติอื่นๆ เช่นกฎหมายเทศบัญญัติ นโยบายการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม มาตรฐานวัสดุอุปกรณ์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดรูปแบบทางกายภาพของพิพิธภัณฑ์ด้วย
-การบริหารจัดการ “พิพิธภัณฑ์”
พิพิธภัณฑ์ของไทยที่ตั้งอยู่ต่างประเทศมีบทบาทที่แตกต่างจากพิพิธภัณฑ์ในประเทศที่มีวิธีการบริหารจัดการแบบปกติ เมื่อก่อสร้างหรือปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว ณ ช่วงส่งมอบพื้นที่จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนระหว่างเจ้าของเรื่อง (รัฐบาลไทย) กับเจ้าของพื้นที่ (รัฐบาลนอร์เวย์ และศูนย์ท่องเที่ยวนอร์ดแคปป์) ในการทำให้พิพิธภัณฑ์นี้อยู่ในสภาพที่ให้บริการผู้ชมได้เต็มประสิทธิภาพตลอดเวลา สามารถสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายหลากหลายกลุ่มที่มีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันแต่สะท้อนวัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งได้ ตลอดจนต้องวางกรอบของการจัดกิจกรรม (ทั้งฝ่ายอาคาร บริษัทนำเที่ยว นักท่องเที่ยวกลุ่มต่างๆ หรือชาวไทยในนอร์เวย์ เป็นต้น) ภายใต้ระเบียบปฏิบัติที่เหมาะสม พร้อมทั้งตั้งมาตรการการจัดการกับอนาคตทั้งปัญหากายภาพและการจัดการ รวมทั้งความยั่งยืนของพิพิธภัณฑ์ โดยกำหนดหน้าที่ของภาคส่วนต่างๆ ไว้อย่างรัดกุม
(จำนวนผู้เข้าชม 869 ครั้ง)