...

รายงานการเดินทางไปราชการ ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระหว่างวันที่ ๔ – ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ โครงการหลักสูตรภาษาอังกฤษสำหรับใช้ในการปฏิบัติงาน (Intensive Language Course : ILC)

รายงานการเดินทางไปราชการ ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ระหว่างวันที่ ๔ – ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘

 

๑. ชื่อโครงการ 

                      โครงการหลักสูตรภาษาอังกฤษสำหรับใช้ในการปฏิบัติงาน

 (Intensive Language Course : ILC)

๒. วัตถุประสงค์

                        เพื่อพัฒนาความรู้และความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษให้แก่ข้าราชการ

และพนักงานรัฐวิสาหกิจให้อยู่ในระดับที่จะปฏิบัติงานในหน้าที่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ ที่เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน

๓. กำหนดเวลา 

                        อบรมระหว่างวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๘ – ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘

รวมระยะเวลา ๖ สัปดาห์ (๑๘๐ ชั่วโมง) ตั้งแต่วันจันทร์ – วันศุกร์ (๐๘.๓๐ – ๑๕.๓๐ น.) 

โดยเดินทางไปราชการ เพื่อศึกษาดูงาน ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระหว่างวันที่ ๔ – ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘  

๔. สถานที่      

                        ๑) อบรม ณ สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ถนนแจ้งวัฒนะ อาคารรัฐประศาสนศาสตร์  ระหว่างวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๘ – ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ และ ระหว่างวันที่ ๙ – ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘

                        ๒) เดินทางศึกษาดูงาน ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระหว่างวันที่ ๔ – ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘

๕. หน่วยงานผู้จัดโครงการ

                      สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ กระทรวงการต่างประเทศ

๖. หน่วยงานสนับสนุน

                      มหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนามฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

๗. กิจกรรม     

                       กิจกรรมระหว่างวันที่ ๔ – ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ เกี่ยวข้องกับการศึกษาดูงาน เรียนรู้วิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของประเทศ ในกลุ่มอาเซียน เพื่อเปิดโลกทัศน์ และสร้างประสบการณ์ในการนำทักษะ ที่ได้จากการฝึกอบรมในชั้นเรียนไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริง

๘. คณะผู้แทนไทย  

                            ข้าราชการของสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ กระทรวงการต่างประเทศและ ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ จากส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่ได้รับการคัดเลือก    เข้าอบรมในโครงการหลักสูตรภาษาอังกฤษ สำหรับใช้ในการปฏิบัติงาน (Intensive Language Course : ILC)

๙. สรุปสาระของกิจกรรม

                      ๑) ศึกษาขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม ของประชาชนในพื้นที่ เมืองฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

                      ๒) ศึกษารูปแบบการดูแลรักษาสถานที่ให้ความรู้ด้านวัฒนธรรมของประชาชน  ในพื้นที่เมืองฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

                      ๓) ศึกษารูปแบบการแสดงทางวัฒนธรรมประจำเมืองฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ที่มีความน่าสนใจ  โดยมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของประเทศระหว่างสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และประเทศไทย

๑๐. ข้อมูลสำคัญของลักษณะวิถีชีวิตของประชาชน ระบบการศึกษา และวัฒนธรรมของประชาชนในเมืองฮานอย  สามารถสรุปได้ดังนี้ 

                      ๑) วิถีชีวิตของประชาชน

                            - ประชาชนในเมืองฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มีลักษณะการดำรงชีวิตในรูปแบบเรียบง่าย ประชาชนชอบการเข้าสังคม มีความอดทน รอคอยสิ่งที่ต้องการในระดับสูง และชอบแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ  สำหรับในเรื่องอาหารนั้น อาหารมีความหลากหลาย แต่ในเรื่องความสะอาดในด้านโภชนาการของอาหารที่ตั้งในโรงแรมหรือภัตตาคารขนาดใหญ่ จะมีมาตรฐานสูงกว่าร้านค้าตามย่านชุมชน ดังนั้นควรเลือกทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ

                            - ประชาชนในเมืองฮานอย ส่วนใหญ่มีนิสัยไม่เร่งรีบในการดำเนินการในเรื่องต่างๆ  แต่หากมีการนัดหมายที่ชัดเจน จะเป็นคนที่ตรงต่อเวลาที่นัดหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าราชการ และทหาร มีความเคร่งครัดในเรื่องระเบียบ วินัย และ เวลานัดหมายทางราชการสูง

                            - ประชาชนในเมืองฮานอย ส่วนใหญ่มีนิสัยชอบดื่มน้ำชาและเบียร์ มากกว่าเครื่องดื่มชนิดอื่น

                      ๒) ระบบการศึกษา

                            - ประชาชนในเมืองฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ทั้งเพศชายและเพศหญิง ได้รับโอกาสจากภาครัฐ ในการเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนามฮานอย โดยรัฐบาลตั้งงบประมาณส่วนหนึ่งในการสนับสนุนค่าครองชีพ และค่าลงทะเบียนนักศึกษาของมหาวิทยาลัย เพื่อลดภาระของผู้ปกครองของนักศึกษา ทั้งนี้ นักศึกษาต้องมีระดับความรู้ความสามารถในเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด

                      ๓) วัฒนธรรม

                            - ภาครัฐและประชาชนในเมืองฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามให้ความสำคัญต่อการดูแลรักษา และการจัดแสดงโบราณวัตถุ โบราณสถานของส่วนราชการในระดับสูงพื้นที่ตั้งของโบราณสถานของส่วนราชการ มีความสะอาดมาก มีการติดป้ายอธิบายสถานที่ต่างๆ และป้ายห้ามกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอย่างชัดเจน  ในขณะที่ พื้นที่สาธารณะที่อยู่ภายนอกส่วนราชการมีระดับความสะอาดน้อยกว่า   

                            - ประชาชนในเมืองฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มีความเคร่งครัดในเรื่อง ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการเคารพผู้บังคับบัญชา หรือผู้นำของครอบครัว

                            - ประชาชนในเมืองฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มีการตรึกตรองคำพูดก่อนการบอกกล่าวออกมา โดยมีทัศนคติเชิงบวกสูง แม้ในการกล่าวปฏิเสธก็จะไม่กล่าวปฏิเสธโดยตรง และมักจะแสดงออกกลบเกลื่อนโดยการยิ้มแย้มเสมอ ซึ่งทำให้คู่สนทนาไม่ทราบความคิดที่แท้จริงของประชาชนชาวเวียดนาม

                            - ประชาชนในเมืองฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มีความหลากหลายของภาษาในการเจรจาภายในประเทศ เนื่องจากมีชาติพันธ์มากกว่า ๓๐ ชาติพันธ์  รวมทั้ง การออกเสียงวรรณยุกต์ของภาษาราชการของชาวเวียดนาม มีถึง ๖ วรรณยุกต์ ในขณะที่ ภาษาทางราชการของไทย มีเพียง ๕ วรรณยุกต์   ซึ่งการออกเสียงคำในแต่ละวรรณยุกต์ของภาษากลางของเวียดนามมีความหมายแตกต่างกันสูง เช่น มาแปลว่า ผี, “ม่าแปลว่า แต่, “ม้าแปลว่า แม่  เป็นต้น 

                            - การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างเมืองที่ตั้งในพื้นที่ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มีมากกว่า การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างเมืองที่ตั้งในพื้นที่ด้านทิศเหนือและทิศใต้ของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เนื่องจากภูมิประเทศเป็นรูปตัวเอส (S shape)

                            - ข้อห้ามทางวัฒนธรรมของชาวเวียดนาม มีจำนวนมาก ได้แก่  (๑) ห้ามจับหัว  หรือไหล่ของคู่สนทนา, (๒) การส่งของให้ผู้ใหญ่ที่มีคุณวุฒิหรือวัยวุฒิมากกว่า ต้องยื่นสิ่งของด้วยมือทั้งสองข้าง, (๓) ห้ามชี้นิ้วไปบุคคลที่สนทนาด้วย, (๔) ห้ามกอดอกเวลาสนทนา, (๕) ห้ามโยนสิ่งของข้ามหัวบุคคลอื่น, (๖) เพศหญิงห้ามจับมือกับเพศตรงข้าม, (๗) ระดับเสียงในการสนทนากับผู้สูงวัยกว่าต้องชัดเจนและไม่ดังเกินไป     

๑๑. ข้อเสนอแนะจากการจัดกิจกรรม สามารถสรุปได้ดังนี้                   

                      .เนื่องจากการดำเนินชีวิตของประชาชนมีรูปแบบเรียบง่าย และมีลักษณะดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ให้ความสำคัญกับการนัดหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนราชการ รวมทั้ง นิสัยประจำของชาวเวียดนาม ชมชอบการดื่มน้ำชาและเบียร์เป็นเครื่องดื่มหลัก จึงเป็นข้อมูลสำคัญที่ประเทศต่างๆ ต้องเรียนรู้ เพื่อสร้างและส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดี รวมถึง มีแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการค้าระหว่างกัน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อไปในอนาคต อันใกล้  ดังนั้น ภาครัฐของประเทศไทย ควรสนับสนุนการเรียนรู้ข้อมูลสำคัญทั้งด้านวัฒนธรรม, สังคมและเศรษฐกิจ เพื่อเป็นประโยชน์ในการติดต่อประสานงานกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่เป็นสมาชิกในอาเซียน

                      .ระบบการศึกษาของชาวเมืองฮานอย แม้มีการส่งเสริมในด้านการศึกษา แต่จากการสำรวจในชุมชน พบว่า ระบบการศึกษาในเมืองฮานอย ยังจำกัดในเรื่องงบประมาณ ส่งผลให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษา ยังไม่จำนวนไม่มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่สำเร็จการศึกษาส่วนใหญ่ เป็นทายาทของผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมในเมืองฮานอย  สำหรับในเนื้อหาการสอนทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคม  พบว่า ภาครัฐส่งเสริมงบประมาณการศึกษาด้านวัฒนธรรมมากกว่าหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อเทียบกับกระทรวงวัฒนธรรมของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรมศิลปากร จะพบว่า ในปัจจุบันระดับการส่งเสริมความรู้ด้านวัฒนธรรมของประเทศไทยยังมีระดับที่สูงมากกว่าการส่งเสริมของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม แต่เนื่องจากภาครัฐของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พยายามเรียนรู้ ความรู้จากประเทศต่างๆ ในประเทศอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง     ประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย โดยระดับความรู้ด้านวัฒนธรรมของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มีโอกาสเทียบเคียงกับประเทศไทยในอนาคตได้  ดังนั้น ภาครัฐของประเทศไทยควรสนับสนุนการศึกษาและการเรียนรู้ รวมถึงการต่อยอดความรู้ทั้งด้านวัฒนธรรม, สังคมและเศรษฐกิจ เพื่อเป็นประโยชน์ในการติดต่อประสานงานกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่เป็นสมาชิกในอาเซียน

                      .ในเรื่องวัฒนธรรมของชาวเวียดนาม นั้น ภาครัฐและประชาชนในเมืองฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ให้ความสำคัญต่อการดูแลรักษา และการจัดแสดงโบราณวัตถุ โบราณสถานของส่วนราชการในระดับสูง พื้นที่ตั้งของโบราณสถานของส่วนราชการ มีความสะอาด  ในระดับสูง มีการติดป้ายอธิบายสถานที่ต่างๆ และป้ายห้ามกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอย่างชัดเจน  ในขณะที่ พื้นที่สาธารณะที่อยู่ภายนอก ส่วนราชการมีระดับความสะอาดน้อยกว่า ซึ่งเมื่อเทียบกับ การให้บริการแหล่งความรู้ของกรมศิลปากร ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ อุทยานประวัติศาสตร์ และโรงละครแห่งชาติ พบว่า มาตรฐานในการดูแลรักษาโบราณวัตถุ โบราณสถาน อุทยาน ทั้งภายในและภายนอกตัวอาคาร นั้น  การบริหารจัดการของกรมศิลปากร ยังมีมาตรฐานที่ดีกว่าการบริหารจัดการของภาครัฐของสาธารณรัฐสังคมเวียดนาม ซึ่งจากการเข้าสอบถามเจ้าหน้าที่และประชาชนชาวเวียดนาม ของนายอุษณะ อำนาจสกุลฤทธิ์ พบว่าสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มีความคิดเห็นว่าประเทศไทยมีสถานที่ให้บริการด้านความรู้ทางวัฒนธรรมที่ดี และต้องการให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ระหว่างประเทศไทยและประเทศของตนมากขึ้น และมีความต่อเนื่อง แต่มีข้อวิจารณ์ของประชาชนชาวเวียดนามว่า การเดินทางเป็นกรุ๊ปทัวร์ของชาวเวียดนามมายังประเทศไทย ถูกจำกัดในเรื่องสถานที่เข้าเยี่ยมชม เนื่องจากเจ้าของกรุ๊ปทัวร์ ส่วนใหญ่ พาไปยัง พระบรมมหาราชวัง, วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และสถานที่จำหน่ายสินค้าของภาคเอกชนเป็นหลัก โดยไม่มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่างๆ ตามที่ตั้งใจไว้  ซึ่งหากต้องเดินทางมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติด้วยตนเอง ก็ไม่สามารถมาได้เนื่องจากชาวเมืองส่วนใหญ่ ไม่สามารถใช้ภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษได้ ดังนั้น กรมศิลปากร และกระทรวงวัฒนธรรมจึงควรมีการประสานงานกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกระทรวงการท่องเที่ยวมากขึ้น  รวมทั้งเพิ่มเติมแนวทางการประชาสัมพันธ์ สถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมของประเทศไทย  โดยใช้ภาษาอาเซียนมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในด้านวัฒนธรรมระหว่างประเทศต่างๆ  ในอาเซียนตั้งแต่ปัจจุบัน ต่อไปในอนาคตอันใกล้      

 

(จำนวนผู้เข้าชม 829 ครั้ง)