๑. ชื่อโครงการ โครงการประชุมแลกเปลี่ยนทางวิชาการ ระหว่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู กับ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
๒. วัตถุประสงค์ ๑. การบรรยายเพื่อให้ความรู้และแลกเปลี่ยนทางวิชาการ ในหัวข้อ ดังนี้
๑.๑ พิพิธภัณฑ์และชุมชนในบริเวณของสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
โดยนายสหภูมิ ภูมิฐฤติรัฐ ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
๑.๒ แหล่งมรดกโลกบ้านเชียง
โดยนายทศพร ศรีสมาน ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
๓. กำหนดเวลา ระหว่างวันที่ ๑๖ – ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๗
๔. สถานที่ ๑. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว กรุงโตเกียว ระหว่างวันที่ ๑๖ – ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๗
๒. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู เมืองฟูกุโอกะ ระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗
๕. หน่วยงานผู้จัด พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว, สำนักกิจการวัฒนธรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น
๖. หน่วยงานผู้สนับสนุน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว ร่วมกับ สำนักกิจการวัฒนธรรมแห่งประเทศญี่ปุ่นและ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู
๗. กิจกรรม มีกิจกรรมที่ดำเนินการและเข้าร่วมดังนี้
วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๗
๑๐.๒๕ น. ออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ โดยสายการบินออลนิปปอนแอร์เวย์ ถึงท่าอากาศยาน Haneda เวลา ๑๘.๓๐ น. จากนั้นคณะเดินทางได้พบกับ Ms. Ayumi Harada ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู และ Mr.Koizumi Yoshihide หัวหน้าฝ่ายแผนฯ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว (ผู้ประสานงานการเดินทาง) แล้วจึงเดินทางเข้าที่พักโรงแรม Hotel Parkside ueno
วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๗
๐๙.๓๐ น. ออกจากที่พักโดยมี Ms. Ayumi Harada และ Mr.Koizumi Yoshihide ผู้ประสานงานการเดินทางมารับและเดินทางไปยัง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว เพื่อเข้าพบผู้บริหารของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว
๑๐.๓๐ น. ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้เข้าพบกับ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว Mr.Zeniya Masami และ คณะ ได้มีการหารือแลกเปลี่ยนกันสรุปได้ดังนี้
เรื่องการจัดนิทรรศการความสัมพันธ์ ไทย – ญี่ปุ่น ครบรอบ ๑๓๐ ปี ใน พ.ศ.๒๕๖๐ หรือ ค.ศ.๒๐๑๗ โดยการจัดนิทรรศการกำหนดจัดขึ้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว ส่วนการยืมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุชิ้นสำคัญ คือ บานประตูไม้แกะสลักของวัดสุทัศน์ (งานฝีพระหัตถ์ในรัชกาลที่ ๒) ซึ่งได้รับทุนจากมูลนิธิ ซูมิโตโม่ มาดำเนินการอนุรักษ์ นั้น ทางญี่ปุ่นมีความประสงค์จะขอยืมมาจัดแสดงในครั้งนี้ด้วย เบื้องต้นกำหนดระยะเวลาและสถานที่ในการจัดแสดงไว้คือ จัดที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู ก่อนเดือนเมษายน ปี พ.ศ.๒๕๖๐ และจะนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน หรือกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ กำหนดเป็นระยะเวลา ๖ เดือน ทั้งนี้รวมถึงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ อื่น ๆ ด้วย (ระยะเวลาในช่วงการจัดนิทรรศการเป็นช่วงระยะเวลาที่กำหนดคร่าว ๆ ยังไม่ชัดเจนในรายละเอียด)
ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้แจ้งให้ทางญี่ปุ่นทราบว่า ขณะนี้ ทางกรมศิลปากรได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และมีความยินดีให้การสนับสนุน แต่เนื่องจากท่านอธิบดีกรมศิลปากรคือ ท่านอเนก สีหามาตย์ ได้เกษียณอายุราชการไปในเดือน กันยายน พ.ศ.๒๕๕๗ ทางสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จึงได้นำเสนอเรื่องการขอยืมบานประตูวัดสุทัศน์ ให้ท่านอธิบดีกรมศิลปากรท่านใหม่ คือ นายบวรเวท รุ่งรุจี ได้รับทราบแล้ว และในเบื้องต้น ทางกรมศิลปากรได้ขอให้ทางญี่ปุ่นจัดทำแผนการเคลื่อนย้าย และจัดแสดงบานประตูดังกล่าว รวมถึงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุอื่น ๆ ที่ฝ่ายญี่ปุ่นจะขอยืมมาเสนอ เพื่อประกอบการพิจารณาของกรมศิลปากรต่อไป
ในส่วนการยืมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ อื่น ๆ นั้น ขณะนี้ทางฝ่ายญี่ปุ่นได้นำเสนอรายการโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่จะขอยืมเพิ่มเติมไว้แล้ว และขอให้ทางกรมศิลปากร เป็นผู้พิจารณาถึงความเหมาะสมและการขออนุญาตต่อไป ในส่วนของเนื้อหาการจัดนิทรรศการความสัมพันธ์ ไทย – ญี่ปุ่น ครบรอบ ๑๓๐ ปี นั้น ทางฝ่ายญี่ปุ่นได้เสนอแนวคิดของการจัดแสดง โดยจะเน้นเรื่องของความสัมพันธ์ของพุทธศาสนาระหว่างสองประเทศ เป็นแนวคิดหลักในการนำเสนอ พร้อมนี้ท่านผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว ได้แจ้งว่าท่านมีความประสงค์อยากจะเดินทางมาศึกษาการทำงาน ของสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร รวมถึงพิพิธภัณฑ์ อื่น ๆ ที่สำคัญในประเทศไทย โดยกำหนดเดินทางเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๕๘ ในช่วงสุดท้ายของการหารือ ท่านผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว พร้อมคณะ ได้ขอให้ท่านผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และ ฝ่ายไทยให้การสนับสนุนการจัดนิทรรศการพิเศษ ความสัมพันธ์ ๑๓๐ ปี ไทย–ญี่ปุ่น ที่จะเกิดขึ้นใน ปี ค.ศ.๒๐๑๗ หรือ พ.ศ.๒๕๖๐ ด้วย (การจัดนิทรรศการพิเศษ เรื่องความสัมพันธ์ ไทย – ญี่ปุ่น นั้น เคยมีการจัดครั้งล่าสุด เมื่อประมาณ ๒๐ กว่าปีที่แล้วมา โดยการจัดครั้งนั้นเป็นการจัดนิทรรศการ ความสัมพันธ์ ไทย–ญี่ปุ่น ครบรอบ ๑๐๐ ปี ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว
๑๓.๐๐ น. เข้าพบท่านอธิบดีสำนักกิจการวัฒนธรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น Mr.Aoyagi masanori ที่สำนักกิจการวัฒนธรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (ห้องท่านอธิบดี) โดยมีประเด็นในการหารือสรุปได้ดังนี้
ท่านผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้นำเรียนถึงเรื่องความคืบหน้าในการเตรียมการเรื่องการจัดนิทรรศการความสัมพันธ์ ไทย-ญี่ปุ่น ครบรอบ ๑๓๐ ปี ว่าขณะนี้ ทางอธิบดีกรมศิลปากรท่านใหม่ได้รับทราบในเรื่องดังกล่าวแล้ว และ มีความยินดีในการให้ความสนับสนุน พร้อมกันนี้ ได้มีการประสานงานกันอยู่เป็นระยะ ในเรื่องของการเตรียมการโดยเฉพาะเรื่องของการขอยืมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่จะนำมาจัดแสดงที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทางฝ่ายญี่ปุ่นได้กำหนดในรายละเอียด ของรายการโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่จะขอยืมไว้แล้วเป็นเบื้องต้น โดยในรายการโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เหล่านี้ มีโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ชิ้นสำคัญ คือ บานประตูวัดสุทัศน์ (งานฝีพระหัตถ์ในรัชกาลที่ ๒) ซึ่งขณะนี้ได้ประสานขอให้ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู ทำแผนการเคลื่อนย้ายและการจัดแสดงเสนอให้ทางกรมศิลปากร เป็นผู้พิจารณาประกอบการตัดสินใจต่อไป
ในส่วนของท่านอธิบดีสำนักกิจการวัฒนธรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้กล่าวถึง การจัดกิจกรรมนิทรรศการพิเศษความสัมพันธ์ ไทย–ญี่ปุ่น ในครั้งนี้ ว่าทางฝ่ายญี่ปุ่นมีความเข้าใจที่ดีและเห็นว่าทั้งสองประเทศ มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมายาวนาน โดยเฉพาะในเรื่องของพุทธศาสนา และทางญี่ปุ่นก็ยินดีให้การสนับสนุนในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ร่วมกับทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู และขอให้ทางฝ่ายไทยพิจารณาให้การสนับสนุนในเรื่องดังกล่าวด้วย เพื่อความสัมพันธ์ที่ดีของสองประเทศสืบไป นอกจากนี้ ท่านยังได้แสดงความเห็นว่าอยากให้ชาวญี่ปุ่นได้มีโอกาสเข้ามาเยี่ยมชมนิทรรศการครั้งนี้ให้มาก เพื่อการเรียนรู้ ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง ๒ ประเทศ อีกทั้งคนไทยและคนญี่ปุ่น มีนิสัยในเรื่องความสุภาพอ่อนโยนที่คล้ายคลึงกัน รวมถึงท่านยังได้กล่าวถึงประเทศไทยว่ามีความก้าวหน้าในงานด้านการอนุรักษ์และดูแลรักษาโบราณสถานมากว่าในอดีตที่ผ่านมา ที่ท่านเคยเห็นเมื่อกว่า ๓๐ ปี มาแล้ว ในช่วงสุดท้ายของการหารือ ท่านผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้เสนอแนวคิดเรื่องการจัดการแสดงนาฏศิลปะไทย มาร่วมในกิจกรรม การจัดนิทรรศการ ความสัมพันธ์ ไทย – ญี่ปุ่น ๑๓๐ ปี โดยถ้ามีกิจกรรมนี้ จะทำให้การทำงานมีความสมบูรณ์มากขึ้น และคงต้องมีการประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศและส่วนงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ของกรมศิลปากรต่อไป
วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๗
๑๐.๐๐ น. ออกเดินทางจากที่พักเพื่อไปยังหอประชุม Kuroda (kurodo memorial hall) เพื่อเตรียมการบรรยายในช่วงบ่าย
๑๓.๓๐ น. การบรรยายในหัวข้อ พิพิธภัณฑ์และชุมชนในบริษัทของสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
โดยท่านผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นายสหภูมิ ภูมิฐฤติรัฐ
๑๕.๐๐ น. การบรรยายในหัวข้อ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
โดย ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นายทศพร ศรีสมาน
๑๗.๐๐ น. จบการบรรยาย
๑๘.๐๐ น. รับประทานอาหารเย็น
๒๐.๓๐ น. กลับที่พัก
วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๗
๐๙.๐๐ น ออกเดินทาง จากโรงแรม โดย Ms. Ayumi Harada และ Mr.Koizumi Yoshihide ผู้ประสานงานมารับจากนั้นจึงเดินทางโดยรถไฟจากกรุงโตเกียวไปยังเมืองคามาคูระ จังหวัดคะงะนะวะ
๑๐.๐๐ น. เข้าเยี่ยมชม ศาลเจ้าชีรุงะโอกะ ฮาจิมังกุ (Tsurugaoka Hachimangu Shrine)
ศาลเจ้าซึรุงะโอกะ ฮาจิมังกุ เป็นศาลเจ้าชินโตที่สำคัญที่สุดในเมืองคามาคุระ ตั้งอยู่บนเนินเขา สร้างขึ้นเมื่อปีค.ศ. ๑๐๖๓ โดยในตอนแรกนั้นศาลเจ้าตั้งอยู่บริเวณริมชายหาด ต่อมาท่านโยริโมโตะ มินาโทโมะ (Minamoto Yoritomo) โชกุนคนแรกของเมืองคามาคุระได้ย้ายศาลเจ้ามาตั้งในตำแหน่งปัจจุบันเมื่อปีค.ศ. ๑๑๘๐ ศาลเจ้าซึรุงะโอกะสร้างขึ้นโดยมีการอัญเชิญ “ฮาจิมัง” (Hachiman) เทพแห่งสงครามมาสถิตที่ศาลเจ้าแห่งนี้เพื่อให้คุ้มครองตระกูลมินาโทโมะ ด้านหน้าศาลเจ้ามีโทริอิอันบ่งบอกถึงอาณาเขตศาลเจ้าชินโต ศาลเจ้าซึรุงะโอกะเป็นหนึ่งในศาลเจ้าที่ได้รับความนิยมอย่างมากของญี่ปุ่นโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่จะมีชาวญี่ปุ่น (รวมทั้งชาวต่างชาติ) เดินทางมาสักการะเทพเจ้าที่ศาลเจ้ากว่า ๒ ล้านคน
๑๑.๐๐ น. เข้าเยี่ยมชมวัดเคนโคจิวัดเคนโชจิ (Kenchoji Temple) เป็นวัดในศาสนาพุทธ นิกายเซน ที่ใหญ่และสำคัญที่สุดในคามาคุระสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.๑๒๕๓ ใช้เป็นโรงเรียนสอนพระสงฆ์ในนิกายเซน แห่งแรกของญี่ปุ่น จนถึงในปัจจุบัน ภายในมีศาลาหรือวิหารตั้งอยู่ถึง ๔๙ หลัง แต่ที่โดดเด่นคือวิหารหลักของวัดที่สร้างด้วยไม้ทั้งหลังเพื่อเป็นที่เก็บรักษาระฆังทองแดงโบราณซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติของชาติ วัดเคนโชจิ เป็นวัดที่มีพระหรือนักบวชชาวจีน นามว่า รังเคอิ โดริว เป็นหัวหน้านักบวชท่านแรกของวัด ท่านเกิดที่มณฑลเสฉวนของจีน ใน ปี ค.ศ.๑๒๑๓ และได้เป็นนักบวชเมื่ออายุ ๑๓ ปี ช่วงนั้นเป็นยุคที่ศาสนาพุทธรุ่งเรืองในจีน ทำให้ท่านได้รับอานิสงส์จากการศึกษาขั้นสูงสุด จากนั้นในปี ค.ศ.๑๒๔๖ เมื่อได้ทราบว่าศาสนาพุทธ นิกายเซนในญี่ปุ่นกำลังถูกสอนและปฏิบัติแบบผิดวิธี ท่านจึงตัดสินใจเดินทางจากประเทศจีนมาถ่ายทอดความรู้ ที่ถูกต้องตามแบบแผน โดยเมื่อเดินทางมาถึงครั้งแรกท่านได้พำนักอยู่ที่วัดเอนงาคุจิที่ฮาคาตะ จากนั้นก็ย้ายไปพำนักที่วัดเซนนิวจิในเกียวโต แล้วก็วัดจูฟูคุจิกับโจราคุจิในคามาคุระ ก่อนที่ท่านจะได้รับคำเชิญให้ไปพำนักที่วัดเคนโชจิ
๑๓.๓๐ น. เข้าเยี่ยมชมวัดเองงะคุจิ (Engakuji Temple) ได้เข้าพบท่านเจ้าอาวาสคือพระมิคากูโซซ็ง วัดนี้เป็นวัดใหญ่วัดหนึ่งของวัดพุทธในนิกายเซนที่หลงเหลืออยู่ในคามาคุระสร้างขึ้นโดยพระชาวจีนนามว่า โฮโจ โทคิมุเนะ (Hojo Tokimune) ในปี ค.ศ.๑๒๘๒ เพื่ออุทิศให้กับเหล่าผู้คนที่ล้มตายในช่วงที่กองทัพมองโกลบุก เข้ารุกรานญี่ปุ่น วัดเองงะคุจิเป็นวัดที่มีระฆังขนาดสูง ๒.๕ เมตร ซึ่งเป็นระฆังที่ใหญ่ที่สุดในเมืองคามาคูระตั้งอยู่ ทั้งนี้เชื่อกันว่าเสียงของระฆังจะนำดวงวิญญาณของผู้คนที่ล้มตายในช่วงสงครามกลับคืนสู่ร่าง ท่านเจ้าอาวาสได้พาคณะเข้าไปเยี่ยมชมอาคารที่เป็นสถานที่เก็บรักษาอัฐิธาตุของพระจีนผู้สถาปนาวัดแห่งนี้ ซึ่งมีอายุกว่า ๖๐๐ ปี อาคารหลังนี้ เป็นอาคารไม้เก่าแก่ ที่ผ่านการซ่อมแซมมาหลายครั้ง ไม้ที่ใช้ในการก่อสร้างและซ่อมแซมอาคารเป็นไม้สน ที่มีชื่อว่า ฮิโนกุ
๑๕.๓๐ น เข้าเยี่ยมชมพระพุทธรูปใหญ่ ไดบุสสึ หรือหลวงพ่อโต พระใหญ่แห่งเมืองคามาคุระ ภายในวัดโคโตกุ (Kotoku Temple) คำว่าไดบุทสึ หมายถึงพระพุทธรูปองค์ใหญ่ (The great buddha) นอกจากที่คามาคุระแล้วยังมีการสร้างขึ้นอีกหลายแห่ง แต่ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือไดบุทสึแห่งเมืองนารา (Nara Daibutsu) ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดโทไดจิ (Todaiji) สำหรับไดบุทสึแห่งเมืองคามาคุระนี้ สร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนองค์พระอมิตาภะพุทธเจ้า ในศาสนาพุทธมหายานนิกายโจโด (Jodo sect หรือ Pure Land sect) ซึ่งมีผู้เลื่อมใสศรัทธาจำนวนมาก เนื่องจากไม่ได้มีคำสอนที่กีดกันสตรี โดยกล่าวว่าหากใครก็ตาม ไม่ว่าหญิงหรือชาย เชื่อมั่น และศรัทธาในองค์พระ อมิตาภะพุทธเจ้า และเอ่ยพระนามของพระองค์เป็นนิจแล้ว ก็ย่อมได้ไปเกิดยังแดนสุขาวดีที่พระองค์ประทับอยู่ พระพุทธรูปไดบุทสึแห่งคามาคุระ สร้างขึ้นในปี ค.ศ.๑๒๕๒ โดยประติมากร ๒ ท่านคือท่าน โอโน โกโรเอมอน (Ono Goroemon) และท่านทันจิ ฮิซาโตโม (Tanji Hisatomo) โดยการอุปถัมภ์ทางด้านการเงินจากสตรีนามว่าอิดาโนโนะ สึโบเนะ (Idano no Tsubone) และพระอาจารย์โจโก (Joko) ซึ่งภายหลังได้เป็นผู้สร้างพระมหาวิหารครอบองค์ ไดบุทสึ
องค์พระพุทธรูปไดบุทสึ สร้างจากสำริด (bronze) มีน้ำหนักทั้งสิ้น ๑๒๒ ตัน สูง ๑๓.๓๕ เมตร มีลักษณะพุทธศิลปแบบญี่ปุ่น พระเศียรประกอบด้วยพระเกศาแบบก้นหอย จำนวนทั้งสิ้น ๖๕๖ องค์ พระนลาฏมีพระอุณาโลมรูปก้นหอยสร้างจากเงินบริสุทธิ์ น้ำหนัก ๑๓.๕ กิโลกรัม พระขนงโค้งเป็นรูปครึ่งวงกลมพระเนตรมองต่ำ พระโอษฐ์แย้มพระสรวลเล็กน้อย องค์พระพุทธรูปอยู่ในปางสมาธิเพชร พระหัตถ์ทั้งสองวางบนพระพาหา พระอังคุฐทั้งสองชนกัน ในขณะที่นิ้วพระหัตถ์อีก 4 นิ้วงอเข้าหาฝ่าพระหัตถ์ ซึ่งเป็นรูปแบบการสร้างพระอมิตาพุทธเจ้าที่พบเห็นทั่วไป ในปี ๑๔๙๕ ได้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ (Tsunami) พัดพาพระมหาวิหารที่ครอบองค์ไดบุทสึพังทลายไป เหลือเพียงศิลาฤกษ์ (foundation stone) และองค์ไดบุทสึอยู่เท่านั้น หลังจากนั้นได้มีภัยธรรมชาติเกิดขึ้นหลายครั้ง อาทิ แผ่นดินไหว แต่องค์ไดบุทสึก็ไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด การซ่อมแซมองค์ไดบุทสึครั้งล่าสุด เสร็จสิ้นในปี ๑๙๖๐ ซึ่งได้สร้างเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เพื่อป้องกันองค์ไดบุทสึพังทลายเนื่องจากแผ่นดินไหว บริเวณรอบ ๆ องค์ไดบุทสึ ได้มีการสร้างศาลารายล้อมรอบทั้ง ๔ ทิศ นอกเขตศาลารายเป็นเนินเขาเตี้ย ๆ มีต้นไม้สีเขียว ซึ่งทำให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงาม
๑๗.๓๐ น เดินทางกลับที่พัก
วันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๗
๑๓.๓๐ น. เข้าพบท่านผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู และ คณะพร้อมทั้งมีการหารือร่วมกันในประเด็นสำคัญที่หารือร่วมกันสรุปได้ดังนี้
การดำเนินงานโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู ในเรื่องโครงการแลกเปลี่ยนภัณฑารักษ์ การวิจัย และโครงการด้านการอนุรักษ์โบราณวัตถุโดยการสนับสนุนของทุนชูมิโตโม่ (กรณีการอนุรักษ์บานประตูวัดสุทัศน์) จนถึงเรื่องการจัดนิทรรศการพิเศษความสัมพันธ์ ไทย – ญี่ปุ่น ครบรอบ ๑๓๐ ปี โดยในส่วนของการจัดนิทรรศการนี้ ท่านผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู กล่าวว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่มีความสำคัญ และมีระยะเวลาเตรียมการอีก ๒ ปี โดยเฉพาะในส่วนของการจัดนิทรรศการ ซึ่งทางญี่ปุ่น (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู) ได้มีการเตรียมข้อมูลของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่จะขอยืมมาจัดแสดงนิทรรศการไว้แล้ว ซึ่งในรายการโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ดังกล่าวก็จะรวมถึงบานประตูวัดสุทัศน์ที่ได้รับทุนของมูลนิธิซูมิโตโม่ด้วย และได้ขอให้ฝ่ายไทย (กรมศิลปากร) ช่วยพิจารณาถึงการยืมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ดังกล่าวด้วย และ ถ้าหากการยืมบานประตูวัดสุทัศน์ไม่สามารถนำมาได้ก็ขอให้ทางฝ่ายไทยพิจารณา โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ อื่น ๆ ที่มีความสำคัญและคุณค่าใกล้เคียงกัน ในส่วนการนำเสนอแนวคิดในการจัดนิทรรศการความสัมพันธ์ ไทย – ญี่ปุ่น ครั้งนี้โดยส่วนตัวท่านอยากจะเน้นเรื่องราวความสัมพันธ์ ทางด้านศิลปวัฒนธรรมระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ให้มากขึ้น ส่วนแนวคิดการจัดแสดงนาฏศิลป์ไทย ประกอบในการจัดนิทรรศการ นั้น ทางญี่ปุ่นมีความยินดีมาก แต่ก็ขอให้ฝ่ายไทยประสานกับกระทรวงการต่างประเทศและส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
นอกจากนี้ท่านยังกล่าวถึงเรื่องการคาดคะเนของญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ กรณี ของมูลนิธิซูมิโตโม่ นั้น จุดมุ่งหมายคือการสร้างความร่วมมือในการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรม ซึ่งฝ่ายไทยเองก็ยังคงมีโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ อีกมาก ซึ่งยังคงต้องมีการประสานความร่วมมือกันต่อไป
ในส่วนของผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้กล่าวถึงกรมศิลปากรยินดีให้ความร่วมมือกับทางญี่ปุ่นในการจัดนิทรรศการ ความสัมพันธ์ ไทย – ญี่ปุ่น ๑๓๐ ปี และจะได้เร่งนำเอารายการโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ทางญี่ปุ่นจะขอยืมไปจัดแสดง เสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา โดยคงจะทราบผลก่อนที่ท่านผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู จะเดินทางไปประเทศไทย พร้อมคณะ ในระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ นี้ พร้อมกันนี้ จะได้ประสานให้ท่านผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู ได้พบกับ ท่านอธิบดีกรมศิลปากร เพื่อหารือในโอกาสที่ท่าน ผู้อำนวยการฯ จะมาเยี่ยม สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ ๒๔ – ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ต่อไป
วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๗
๑๐.๐๐ น. เดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์คิวชู (Kyshu Historical Mueum) เข้าพบท่านผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์และคณะ
พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ คิวชู เดิมเป็นพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้น ณ เมือง ไดไซฟู (DaizaiFu) ต่อมาเมื่อประมาณ ปี ค.ศ. ๒๐๑๐ ได้ย้ายมาตั้งที่เมือง ฟูกูโอกะ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีรูปแบบการบริหารจัดการขึ้นตรงกับเทศกาลเมือง ฟูกูโอกะ (ท้องถิ่น) ได้รับงบประมาณจากเทศบาลเมือง ฟูกูโอกะ ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานโดยตรง ๓๐ คน และมีเจ้าหน้าที่ ที่ทำงานในลักษณะของ part time ประมาณ ๔๐ – ๕๐ คน เปิดให้บริการทุกวัน อังคาร – วันอาทิตย์ เวลา ๐๙.๓๐ – ๑๖.๓๐ น. โดยเก็บค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์เท่ากันทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีผู้เข้าชมเฉลี่ยประมาณ ๒๕,๐๐๐ คน ต่อปี ผู้เข้าชมส่วนใหญ่เป็นประชาชนทั่วไป
พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ คิวชู นับเป็นพิพิธภัณฑ์เฉพาะทางที่เน้นการจัดแสดงหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเกาะคิวชู นอกจากนั้น พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังนับเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นหนึ่งหน่วยงานหลักในด้านการสำรวจ ขุดค้น และ ศึกษา ทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ของเกาะคิวชู ดังนั้น การดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์จึงค่อนข้างมีภารกิจที่ครอบคลุมและเบ็ดเสร็จในตัวเอง มีบุคลากรทั้งในส่วนการบริหารจัดการ นักโบราณคดี ภัณฑารักษ์ รวมถึงนักอนุรักษ์และอื่น ๆ ทำให้มีความคล่องตัวในการปฏิบัติงานในทุกขั้นตอน มีกรอบและแนวทางการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลกลาง ที่ส่งผ่านมายังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากนั้น คณะได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมในส่วนต่าง ๆ ของพิพิธภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นส่วนการอนุรักษ์ ส่วนของคลัง ส่วนของการวิเคราะห์และศึกษา หลักฐานทางโบราณคดีที่ได้มาจากการขุดค้นในที่ต่าง ๆ ของเกาะคิวชู รวมถึงส่วนจัดแสดง โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
๑๓.๓๐ เดินทางไปเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ โยชิโนการิ (Yoshinogari Hirtoricalpart) จังหวัด ซากะ โยชิโนการิ เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมยายอย มีอายุกว่า ๒,๕๐๐ ปี ปรากฏ มีร่องรอยของทางโบราณสถานในลักษณะของชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ภายหลังจากการขุดค้นทางโบราณคดี ได้มีการพัฒนาแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวในลักษณะของอุทยานประวัติศาสตร์ ภายใต้บริหารจัดการพื้นที่ร่วมกันระหว่างกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงคมนาคม ส่วนการบริหารจัดการอุทยานประวัติศาสตร์นั้น เป็นการบริหารจัดการร่วมกันระหว่างเทศกาลเมืองซากะ กับกระทรวงวัฒนธรรม
ในการดำเนินงานของอุทยาน โยชินิโกริ นั้น ปัจจุบันจะมีส่วนงานต่าง ๆ ที่สำคัญประกอบด้วย ส่วนการบริหารจัดการอุทยานประวัติศาสตร์ ส่วนจัดแสดงนิทรรศการกลางแจ้ง และภายในอาคาร (site museum) ส่วนการศึกษาด้านโบราณคดี และประวัติศาสตร์ ส่วนการอนุรักษ์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ส่วนการบริการการศึกษาและกิจกรรมและอื่น ๆ เป็นต้น
อุทยานประวัติศาสตร์ โยชิโนการิ มีการจัดแสดงในลักษณะของ sitemuseum ที่น่าสนใจคือความพยายามฟื้นฟู ซากอาคารโบราณสถานต่าง ๆ ที่เคยมีอยู่ ขึ้นมาใหม่ โดยใช้ข้อมูล หลักฐานทางโบราณคดี ไม่ว่าจะเป็นร่องรอยของโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ มาเป็นตัวกำหนด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอาคารประกอบพิธีกรรม หอสังเกตการณ์ แนวค่าย แนวคูน้ำ คันดินโบราณ หรือแม้แต่บ้านซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนในอดีต นอกจากนี้ภายในพื้นที่ของอุทยานยังมีการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ที่สร้างความน่าสนใจ ให้กับผู้ที่เข้าเยี่ยมชม อาทิ การแต่งกายในยุคสมัยยายอย ของเจ้าหน้าที่ต้อนรับและวิทยากร การจัดกิจกรรมให้นักเรียน นักศึกษาและผู้เข้าชม แต่งกายย้อนสมัยยายอย การจัดกิจกรรมการศึกษาโดยใช้โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เป็นสื่อกลาง เป็นต้น
๑๗.๐๐ น. เดินทางกลับที่พัก เมือง ฟูกูโอกะ
วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๒
๐๙.๐๐ น. ออกเดินทางจากเมือง ฟูกูโอกะ ไปยังสนามบินเพื่อเดินทางกลับประเทศไทย
๑๕.๐๐ น. เดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิ
๘. ข้อเสนอแนะ
จากการเดินทางไปราชการ ณ ประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ มีข้อเสนอแนะดังนี้
๑. กรมศิลปากร ควรมีการเตรียมการในเรื่องของการจัดนิทรรศการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และญี่ปุ่น ครบรอบ ๑๓๐ ปี ซึ่งจัดขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๖๐ หรือ ค.ศ. ๒๐๑๗ ในด้านต่าง ๆ อาทิ การมอบหมายผู้รับผิดชอบ การจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน การจัดสรรงบประมาณ รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
๒. การเตรียมการต้อนรับท่านผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว ที่กำหนดในเบื้องต้นว่าจะเดินทางเข้าเยือนสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในเดือนมกราคม ๒๕๕๘ โดยมอบหมายให้ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้ประสานและจัดเตรียมการในด้านต่าง ๆ
๓. กรมศิลปากรควรจะกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานในลักษณะการทำความร่วมมือ คือ MOU. ระหว่างสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
(จำนวนผู้เข้าชม 796 ครั้ง)