...

รายงานการเดินทางไปราชการ ณ ประเทศกัมพูชา โครงการศึกษาความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๓ มีนาคม ๒๕๕๗

รายงานการเดินทางไปราชการ ณ ประเทศกัมพูชา

 

๑. ชื่อโครงการ

            โครงการศึกษาความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

๒. วัตถุประสงค์ของคณะเดินทาง

                ๒.๑ สำรวจและศึกษาเปรียบเทียบโบราณสถานในประเทศกัมพูชาที่มีอิทธิพลต่อการก่อสร้างศาสนสถานในประเทศไทย

                ๒.๒ เพื่อสำรวจร่องรอยการกระจายตัวของศาสนสถานเขมรในพื้นที่รอยต่อระหว่างประเทศกัมพูชาและประเทศเวียดนาม

 

๓. กำหนดเวลา

          ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๓ มีนาคม ๒๕๕๗

๔. สถานที่

                จังหวัดพระวิหาร จังหวัดสตึงเตรง และจังหวัดรัตนคีรี

 

๕. หน่วยงานผู้จัด

๑. องค์การอัปสรา

๒. โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

๓. กรมศิลปากร

 

๖. หน่วยงานสนับสนุน

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

๗. กิจกรรม

                เป็นการสำรวจทางโบราณคดีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่องโครงการศึกษาความเชื่อมโยงทางวัฒน ธรรมในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทำการสำรวจค้นหาและศึกษาร่องรอยโบราณสถานในเขตประเทศเวียดนาม กัมพูชา สปป.ลาว ไทย และสหภาพเมียนมาร์ ในการสำรวจรอบนี้มุ่งทำการสำรวจในพื้นที่ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชาเนื่องจากเป็นเขตที่มีการสำรวจศึกษาน้อยเนื่องจากเป็นพื้นที่รกร้าง ยากแก่การเข้าถึง แต่มีความสำคัญในสถานะที่ปรากฏหลักฐานในสมัยก่อนเมืองพระนครอย่างหนาแน่น มีกิจกรรมการดำเนินงาน ดังนี้

            ๗.๑ การวางแผนการสำรวจ การจัดหาภาพถ่ายดาวเทียม แผนที่ และการจัดเตรียมแผนผังการสำรวจและการนำทาง การจัดเตรียมยานพาหนะ ได้แก่ จักรยานยนต์ รถฟาร์มเกษตร การจัดเตรียมเสบียง น้ำดื่มเพื่อเดินสำรวจระยะทางไกล

            ๗.๒ การสำรวจและวิเคราะห์หลักฐาน

๗.๒.๑ บันทึกข้อมูลทั่วไปของสถานที่ที่พบ ได้แก่ เส้นทางการเดิน (Tracks) พิกัดภูมิศาสตร์ (WGS84) ระยะเวลา ความเร็ว ความสูงของพื้นที่ ความลาดเอียงของภูมิประเทศ รวมทั้งอุณหภูมิ

๗.๒.๒ บันทึกข้อมูลด้านกายภาพ ได้แก่ ชื่อ ที่ตั้ง เขตการปกครอง รูปแบบสิ่งก่อสร้าง วัสดุการก่อสร้าง สภาพความเสียหาย รูปแบบศิลปะ อายุสมัยการก่อสร้าง ความสัมพันธ์ด้านตำแหน่งที่ตั้งกับโบราณสถานใกล้เคียง ร่องรอยอิทธิพลของรูปแบบศิลปะต่างถิ่น        

            ๗.๓ การสรุปข้อมูลศึกษาและจัดทำแผนที่ ทำการพล็อตตำแหน่งโบราณสถานที่สำรวจพบลงบนแผนที่ ภาพถ่ายดาวเทียม และศึกษาความสัมพันธ์ด้านตำแหน่งกับโบราณสถานข้างเคียง

 

๘. คณะผู้แทนไทย

            นายพงศ์ธันว์ สำเภาเงิน      หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เพชรบูรณ์

๙. สรุปสาระของกิจกรรม

การสำรวจในครั้งนี้มีความมุ่งหมายศึกษาร่องรอยศิลปะแบบถาราบริวัติที่ปรากฏหนาแน่นในเขตจังหวัดสตึงเตรง แต่ได้ทำการสำรวจในพื้นที่จังหวัดพระวิหาร จังหวัดรัตนคีรีซึ่งเป็นเขตที่ยังมีการสำรวจไม่มากพอ และส่วนมากได้พบโบราณสถานขนาดเล็กในสภาพพังทลายเหลือแต่ชั้นฐานคล้ายกับในประเทศไทย ได้แก่ โบราณสถานหมายเลข ๑ ในเขตจังหวัดพระวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับถนนโบราณจากเมืองพระนครไปวัดภู แขวงจำปาศักดิ์ สปป.ลาว โดยได้พบสะพานก่อด้วยศิลาแลงในบริเวณนี้ด้วย

ถาลาบริวัติ

            เป็นชื่อเมืองบนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงตรงข้ามกับที่ตั้งตัวจังหวัดสตึงเตรง ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเซซานที่มาบรรจบกับแม่น้ำโขง บริเวณที่ตั้งเมืองถาลาบริวัติแม่น้ำนี้มีความกว้างประมาณ ๑.๔ กิโลเมตร การข้ามฝั่งไปยังตัวจังหวัดต้องอาศัยแพขนานยนต์ ตลอดแนวริมฝั่งแม่น้ำพบโบราณสถานกระจายทั่วทั้งบริเวณ ปัจจุบัน Piphal Heng นักศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยฮาไวอิ แห่งมานัว กำลังทำการศึกษาวิจัยในพื้นที่นี้ภายใต้การควบคุมของ ศาสตราจารย์ มิเรียม สตาร์ก โดยได้ทำการบันทึกตำแหน่งโบราณสถานที่กระจายทั้งพื้นที่ซึ่งแสดงถึงความสำคัญของพื้นที่ที่มีสิ่งก่อสร้างอย่างหนาแน่น และทำการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อศึกษาลำดับสมัยทางวัฒนธรรมโดยอาศัยรูปแบบภาชนะดินเผาเป็นเกณฑ์ในการจำแนก โดยในขณะนี้ได้พบภาชนะแบบกุณฑีมีพวยเป็นรูปแบบเด่นมีการตกแต่งประณีตที่ระบุถึงการอยู่อาศัยในสมัยก่อนเมืองพระนคร ในขณะที่กลุ่มเครื่องถ้วยจีนแบบชิงไป๋และเครื่องถ้วยกุเลน ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๗ เป็นหลักฐานการอยู่อาศัยในสมัยเมืองพระนคร ดังนั้นวัตถุทางวัฒนธรรมที่พบ ณ เมืองถาลาบริวัติซึ่งถูกจัดเป็นศิลปะแบบก่อนเมืองพระนครนั้นยังได้พบการอยู่อาศัยต่อเนื่องมายาวนาน การขุดค้นในบริเวณซากโบราณสถานยังพบร่องรอยการก่อสร้างซ้อนทับเป็นทางเดิน พื้นอิฐ นอกจากนั้นยังพบร่องรอยแนวอิฐ ชั้นพื้นอิฐอยู่ทั่วไปเป็นบริเวณกว้าง

ศิลปะแบบถาราบริวัติ

            ในพื้นที่ที่ปรากฏร่องรอยสิ่งก่อสร้างอย่างหนาแน่นแสดงรูปแบบศิลปะแบบเอกลักษณ์และถูกจัดให้เป็นอีกสมัยหนึ่งในช่วงก่อนเมืองพระนครในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ มีรูปแบบที่สำคัญปรากฏบนทับหลังซึ่งค้นพบในประเทศไทยด้วยจำนวน ๔ แผ่น มีลักษณะที่สำคัญประกอบด้วยวงโค้ง ๒ วงอยู่ตรงกลางทับหลัง มีมกร ๒ ตัวหันหน้าเข้าหากันอยู่ที่ปลายวงโค้งทั้งสองด้าน มกรมีรูปร่างเตี้ย อ้วน ศีรษะใหญ่ มีหางม้วนเป็นลายใบไม้ เท้าสั้นพับอยู่ด้านหน้า บางตัวเหลือแต่ศีรษะและเท้า งวงใหญ่ม้วนขึ้นด้านบนปลายม้วนเข้าด้านใน ริมฝีปากบนมีเขี้ยวคล้ายงาช้าง ฟันอาจแสดงเป็นรอยหยัก มีเขาประกอบอยู่กับนัยน์ตา มกรนี้บางครั้งมีคนขี่และไม่มีฐานรองรับ วงโค้งมักประดับด้วยแนวลายประคำเป็นขอบมีลายดอกไม้กลมขนาดใหญ่หรือลายดอกไม้เล็กๆท่ามกลางลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนและลายก้านขดเล็กๆ หน้าปากมกรมีลายเส้นโค้งหรือเส้นตรงอาจประดับด้วยลูกประคำ เหนือวงโค้งมีลายใบไม้ม้วนพร้อมกับลายพวงมาลัยคู่หรือเดี่ยว ระหว่างลายพวงมาลัยมีพวงอุบะคั่นอยู่ลายวงรูปไข่มักมีขอบสองชั้นเป็นลายแนวลูกประคำหรือลายเส้นนูนและมีลายใบไม้ม้วนอยู่รอบนอก มีรูปบุคคลยืนอยู่ภายในวงรูปไข่บางครั้งเป็นครุฑถืองู

            รูปแบบศิลปะถาลาบริวัติค้นพบในประเทศไทยเป็นทับหลังจำนวน ๒ ชิ้นที่วัดทองทั่ว จังหวัดจันทบุรี วัดบนเขาพลอยแหวน จังหวัดจันทบุรี และที่วัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลราชธานี

รูปแบบศิลปะที่เก่าแก่กว่าศิลปะแบบสมโบร์ไพรกุกสมัยของพระเจ้าอีสาณวรมัน ในบริเวณจังหวัดกำปงธม ทางตะวันออกฉียงใต้ของเมืองพระนคร ทำให้นักวิชาการสันนิษฐานว่าในบริเวณเมืองถาราบริวัติเป็นที่ตั้งของเมืองภวปุระซึ่งเป็นที่พำนักของพระเจ้าภววรมันกษัตริย์แห่งเจนละผู้ซึ่งเข้าทำลายอาณาจักรฟูนันจนต้องย้ายราชธานีจากวยาธปุระ (บาพนม) ไปยังอังกอร์บอเรยหรือนครบุรี จารึกในสมัยพระองค์พบเพียงไม่กี่หลักได้แก่จารึกพนมบันทายนางกล่าวถึงการประดิษฐานศิวลึงค์ และจารึกวังไผ่ใกล้เมืองศรีเทพซึ่งมีการอ้างถึงพระนามของพระเจ้าภววรมัน ต่อมาพระเจ้าจิตรเสนได้ขึ้นครองราชย์ในราวพ.ศ.๑๑๕๐ และมีการสร้างจารึกปักอยู่ทั่วไปจนถึงลุ่มแม่น้ำมูล หลังจากรัชกาลพระเจ้าจิตรเสน โอรสของพระองค์คือพระเจ้าอีสาณวรมันได้ขึ้นครองราชย์ต่อแต่ได้ย้ายไปประทับที่อีสาณปุระ หรือสมโบร์ไพรกุกในเขตจังหวัดกำปงธมในปัจจุบัน

จังหวัดรัตนคีรี

            เป็นจังหวัดที่อยู่ห่างไกลอยู่ติดพรมแดนระหว่างประเทศกัมพูชาและประเทศเวียดนามและเป็นเขตที่พบโบราณสถานเพียงไม่กี่แห่งและเข้าถึงได้ยากในอดีตมีสภาพเป็นป่ารกทึบเต็มไปด้วยสัตว์ป่าแต่ปัจจุบันป่าถูกทำลายไปมากและเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของกลุ่มเจียลายซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์การรบระหว่างชาวเขมรและจาม การสำรวจได้เดินทางไปยังปราสาทยะนางซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ Drang ซึ่งไหลมาจากเวียดนามเข้ามาฝั่งกัมพูชา ปราสาทยะนางมีขนาด ๖.๒x๘ เมตร เป็นศาสนสถานก่อด้วยอิฐหลังเดี่ยว เป็นอาคารผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขยื่นออกด้านหน้า ผนังอาคารเซาะเป็นร่องตามแบบศาสนสถานจาม และมีการเตรียมผนังไว้สำหรับประดิษฐานรูปเคารพ หรือส่วนประติมากรรมประดับผนังอาคาร ภายในห้องครรภคฤหะไม่ปรากฏรูปเคารพ สภาพทั่วไปอยู่ในสภาพทรุดโทรม ชั้นหลังคาพังทลายโครงสร้างผนังแยก ทรุด บางส่วนถูกเจาะทำลาย การปรากฏศาสนสถานแบบจามด้านตะวันตกสุดของอาณาจักรจามปาและอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการควบคุมการขนส่งสินค้า ของป่า จากกลุ่มชนเจียลายซึ่งมีถิ่นฐานอยู่บริเวณนี้เพื่อป้อนสู่ศูนย์กลางที่เมืองวิชัย

๑๐. ข้อเสนอแนะ

ไม่มี

 

 

นายพงศ์ธันว์  สำเภาเงิน ผู้สรุปผลการเดินทางไปราชการ

 

 

 

(จำนวนผู้เข้าชม 928 ครั้ง)


Messenger