...

รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์ระดับภูมิภาค ด้านการศึกษาประวัติศาสตร์และประเพณีของซีมีโอ (SEAMEO CHAT) ครั้งที่ ๑๓ ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ระหว่างวันที่ ๙ – ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๗

 

                        การประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์ระดับภูมิภาคด้านการศึกษาประวัติศาสตร์และประเพณี (SEAMEO CHAT) ครั้งที่ ๑๓ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๙ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ ณ โรงแรมมัณฑะเลย์ ฮิลล์ รีสอร์ท เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์  ในการประชุมครั้งนี้มีคณะกรรมการบริหารศูนย์ (Governing Board Members) และผู้แทนเข้าร่วมประชุมรวมทั้งสิ้น ๖ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา มาเลเซีย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และผู้แทนจากสำนักเลขาธิการองค์การ SEAMEO กรุงเทพฯ เนื่องจากศูนย์ SEAMEO CHAT ได้เปลี่ยนกำหนดการประชุมเดิมจากวันที่ ๒๕ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๗ เป็นวันที่ ๙ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๗  ส่งผลให้ประเทศบรูไนดารุสซาลาม ฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสิงคโปร์ไม่สามารถส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมได้

พิธีเปิดการประชุม

                   การประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์ SEAMEO CHAT จัดขึ้น ณ ห้องบอลล์รูม โรงแรมมัณฑะเลย์ฮิลล์ รีสอร์ท โดย ดร. โซ วิน (Dr. Soe Win) อธิบดีกรมอุดมศึกษา (เมียนมาร์ตอนบน)[1] กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมและแสดงความขอบคุณทุก ๆ คนที่มีส่วนร่วมในความสำเร็จของศูนย์ ดร.โซ วิน ได้กล่าวถึงการปฏิรูป ๔ ด้านโดยกระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และเน้นถึงการปฏิรูปการศึกษา ๒ ส่วนคือ การศึกษาขั้นพื้นฐาน (Basic Education) และการอุดมศึกษา (Higher Education)  ในส่วนของการอุดมศึกษามีแผนงานที่สำคัญคือ การกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาและส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยบริหารตนเองแยกเป็นอิสระจากระบบราชการ (university autonomy) นอกจากนี้ ดร. โซ วินยังได้กล่าวถึงการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ของศูนย์ SEAMEO CHAT ในฐานะที่เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ด้านมรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสนับสนุนให้ศูนย์ SEAMEO CHAT ดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น และท้ายที่สุดยังได้แสดงความหวังว่าคณะกรรมการบริหารจากประเทศสมาชิกจะร่วมกันเสนอความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของศูนย์ต่อไปในอนาคต

หลังจากนั้น ดร. ทินสิริ ศิริโพธิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการองค์การ SEAMEO ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมว่าการประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์นับว่ามีความสำคัญ เนื่องจากข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่ได้รับจากการประชุมจะมีผลโดยตรงต่อการดำเนินโครงการและกิจกรรมของศูนย์ และการดำเนินงานของศูนย์ต่อภูมิภาค และแสดงความขอบคุณรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ SEAMEO CHAT และแสดงความขอบคุณ   คณะกรรมการบริหารทุกคนสำหรับความช่วยเหลือในทุก ๆ ด้าน

จากนั้น จึงเข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือกประธานและรองประธานที่ประชุม โดย Dato’ Wan

Khazanah Ismail จากประเทศมาเลเซียได้รับคัดเลือกเป็นประธานที่ประชุม และProf. Dr. Mo Mo Than จากประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ได้รับคัดเลือกเป็นรองประธาน หลังจากนั้น ประธานที่ประชุมขอให้กรรมการบริหารและผู้แทนจากประเทศสมาชิกแนะนำตัวเอง และเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการประชุม      

สาระของการประชุม

                        การประชุมเริ่มโดยประธานหารือที่ประชุมเกี่ยวกับเรื่องขององค์ประชุม ซึ่งรองผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการองค์การ SEAMEO แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าตามแนวปฏิบัติของ SEAMEO  การประชุมคณะกรรมการบริหารจะต้องมีสมาชิกเข้าร่วมประชุม ๒ ใน ๓ แต่ครั้งนี้มีกรรมการบริหารเข้าร่วมประชุมเพียง ๕ ประเทศ อย่างไรก็ดี เนื่องจากการประชุมได้มีการจัดเตรียมพร้อมแล้วจึงสามารถดำเนินการประชุมได้ได้   แต่วาระการประชุมใดที่ต้องมีการรับรองหรือให้ความเห็นชอบ จำเป็นต้องส่งให้กรรมการบริหารที่มิได้เข้าร่วมประชุมมีประชามติก่อนจึงสามารถดำเนินการได้

                        การประชุมเริ่มต้นโดย Daw Myint Myint Ohn ผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO CHAT ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าในการประชุมครั้งนี้มีเอกสารที่จะนำเสนอรวมทั้งสิ้น ๑๑ ชุด จากนั้น ที่ประชุมจึงได้ร่วมกันพิจารณาเอกสารการประชุมตามระเบียบวาระ ดังนี้

เรื่องเพื่อทราบ  

            ๑. การเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารศูนย์  (Governing Board Member) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทย (WP – 1)

                        ผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO CHAT แจ้งต่อที่ประชุมว่าในส่วนของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อกรรมการบริหารศูนย์เนื่องจากมีการแต่งตั้งอธิบดีกรมศิลปากรคนใหม่ รวมถึงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการด้วย            

            กรรมการบริหารศูนย์   เปลี่ยนเป็น    Mr. Bovornvate Rungrujee

            รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  เปลี่ยนเป็น H.E. Admiral Narong Pipattanasai

                        มติที่ประชุม รับทราบ

เรื่องเสนอเพื่อพิจารณา

                   ๑. การแต่งตั้งผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO CHAT (WP – 6)

                      ดร. ทินสิริ ศิริโพธิ์ รองผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการองค์การ SEAMEO เสนอที่ประชุม      ให้เลื่อนระเบียบวาระการประชุมที่ ๙ (WP – 6) เรื่องการแต่งตั้งผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO CHAT ขึ้นมาพิจารณาก่อน จากนั้น ผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO CHAT ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง Daw Myint Myint Ohn เป็น

ผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO CHAT แล้ว จึงขอให้ที่ประชุมให้ความเห็นชอบคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าว

                        มติที่ประชุม เห็นชอบ

                       

                       

                        . การติดตามผลการดำเนินงานตามข้อตกลงในการประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์      

ครั้งที่ ๑๒ (WP – 2)

            ผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO CHAT นำเสนอรายงานการประชุมเกี่ยวกับผลการดำเนินงานตามข้อตกลงในการประชุมคณะกรรมการบริหารครั้งที่ ๑๒ (เอกสารหมายเลข ๒) ตามรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้

 

                        ๒.๑ บทความเรื่อง Traditional Festivals

                        ที่ประชุมสอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับการแจกจ่ายหนังสือ “Traditions in Southeast Asia “ Vol. 1 โดยขอให้ศูนย์ SEAMEO CHATจัดส่งหนังสือให้แก่คณะกรรมการบริหารทุกคนด้วย นอกจากนี้ ยังได้สอบถามถึงความคืบหน้าของหนังสือ “Traditional Festivals” Vol. 2 ว่ามีประเทศสมาชิกส่งบทความเพื่อนำลงพิมพ์ในหนังสือแล้วจำนวนเท่าใด ซึ่งศูนย์ SEAMEO CHAT แจ้งว่ามีผู้ส่งบทความเพียง ๔ บทความจาก ๔ ประเทศ ได้แก่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ที่ประชุมจึงขอให้ศูนย์ SEAMEO CHAT ส่งหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานและสถาบันการศึกษาของประเทศสมาชิกเพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวอีกครั้ง  

                   ๒.๒ โครงการพัฒนาศูนย์ข้อมูลและการให้บริการภายในห้องสมุด

                   ที่ประชุมได้สอบถามถึงความคืบหน้าของโครงการพัฒนาศูนย์ข้อมูล และการให้บริการห้องสมุดของศูนย์ ซึ่งศูนย์ SEAMEO CHAT ได้แจ้งว่าขณะนี้ศูนย์ประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรทำให้การพัฒนาศูนย์ข้อมูลไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการภายในห้องสมุดก็มีเพียงเจ้าหน้าที่ระดับล่าง ทำให้ไม่สามารถให้บริการได้เต็มที่ จำเป็นต้องต้องรอให้กระทรวงศึกษาธิการจัดสรรบุคลากรมาทดแทนก่อน

                       

                       

 

                        . รายงานประจำปี (พ.ศ. ๒๕๕๖ ๒๕๕๗) (WP – 3)

                        ผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO CHAT นำเสนอรายงานประจำปีของศูนย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๕๖ ๒๕๕๗ ตามรายละเอียด ดังนี้

                        ๓.๑ โครงการวิจัยและพัฒนา

                        เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้           ด้านประวัติศาสตร์และจารีตประเพณี ศูนย์จึงได้จัดทำโครงการจัดพิมพ์หนังสือ “Traditional Festivals of Southeast Asia” โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณในการจัดพิมพ์จากกระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์

                        มติที่ประชุม  เห็นชอบให้ดำเนินโครงการดังกล่าว โดยขอให้ศูนย์ SEAMEO CHAT มีหนังสือ

แจ้งรายละเอียดโครงการไปยังประเทศสมาชิกอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้ร่วมกันเผยแพร่ข้อมูลไปยังมหาวิทยาลัย

และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

                        ๓.๒ โครงการที่ริเริ่มใหม่ของศูนย์

                   ศูนย์ SEAMEO CHAT ได้จัดการสัมมนาหัวข้อ ย้อนอดีตประเพณีเมียนมาร์” (Myanmar Traditions in Retrospect) ระหว่างวันที่ ๑๘  - ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดี ตลอดจนความตระหนักรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และประเพณีของชาติ โดยมีนักวิชาการและคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยในกรุงย่างกุ้งนำเสนองานศึกษาวิจัยรวมทั้งสิ้น ๑๕ เรื่อง

                        ๓.๓ โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถและพัฒนาศักยภาพ

                        ศูนย์ SEAMEO CHAT ได้รับความร่วมมือจากศูนย์ต่าง ๆ ของ SEAMEO ส่งบุคลากรมาจัดฝึกอบรมให้แก่บุคลากรของศูนย์ อาทิ SEAMEO SPAFA จัดอบรมหลักสูตรเรื่องการเขียนโครงการเพื่อ        ขอสนับสนุนทุนในการวิจัย และ SEAMEO INNOTECH จัดอบรมหลักสูตรเรื่องการเขียน Proposal โครงการ เป็นต้น

                        ๓.๔ ความร่วมมือในภาพรวมของภูมิภาค

                         -  การเสริมสร้างความร่วมมือระดับประเทศ ภูมิภาค และนานาชาติ

ศูนย์ SEAMEO CHAT มีการประสานความร่วมมือกับบุคคลและหน่วยงานทั้งภายในประเทศ

ระดับภูมิภาค และนานาชาติในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ Dr. Elizabeth Howard Moore จากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ดร. Maria Jaschok จากมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด  และโครงการที่ศูนย์ดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยเกียวโต เป็นต้น

                        -การเพิ่มช่องทางสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับโครงการต่าง ๆของ SEAMEO

                   ศูนย์ SEAMEO CHAT  ได้ดำเนินการปรับปรุงเว็บไซต์ของศูนย์ โดยพัฒนาข้อมูลข่าวสาร   ต่าง ๆ ให้มีความทันสมัย  อย่างไรก็ดี เนื่องจากขณะนี้ศูนย์ประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากร และเว็บไซท์กำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการปรับปรุง จึงยังอาจมีข้อมูลที่ซ้ำซ้อน ไม่ครบถ้วน และไม่สมบูรณ์อยู่บ้าง

                   นอกจากเว็บไซท์แล้ว  ศูนย์ยังมีการจัดทำเอกสาร แผ่นพับ และสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ  ซึ่งนับเป็นช่องทางในการเผยแพร่โครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ของศูนย์ด้วย

                        อย่างไรก็ดี ที่ประชุมได้มีการหยิบยกปัญหาเรื่องการจัดทำวารสาร หรือ Newsletter ของศูนย์ SEAMEO CHAT ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ปรับเปลี่ยนจากวารสารสิ่งพิมพ์เป็น e – newsletter แต่ ณ ปัจจุบันผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO CHAT ได้แจ้งว่ายกเลิกการจัดทำวารสารของศูนย์แล้ว เนื่องจากบุคลากรไม่เพียงพอ              

๓.๕ ความมั่นคงทางการเงิน

                        ศูนย์ SEAMEO CHAT มีแนวทางการหารายได้จากโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่ศูนย์จัดขึ้น ได้แก่

                        -โครงการประวัติศาสตร์พม่าจากมุมมองของชาวพม่า (Myanmar History from Myanmar Perspectives)

            ที่ประชุมได้อภิปรายเกี่ยวกับโครงการนี้กันอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่มีความเห็นว่า

ค่าลงทะเบียนในปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นมากจาก 800 USD เป็น 1500 USD ทั้งนี้ยังไม่รวมค่าเดินทางจากประเทศต้นทางมายังสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ซึ่งศูนย์ SEAMEO CHAT แจ้งว่ามีต้นทุนในการจัดการเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนพาหนะที่ใช้ในการเดินทาง ที่ประชุมจึงขอให้ศูนย์พิจารณาหาแนวทางเพื่อ          ลดค่าใช้จ่ายโครงการลง โดยเสนอแนะว่าศูนย์อาจทบทวนนำโครงการเดิมซึ่งส่วนใหญ่เดินทางโดยรถ             มาดำเนินการ หรืออาจลดค่าใช้จ่ายโดยเน้นการทัศนศึกษาเฉพาะแหล่งประวัติศาสตร์บางแห่ง ซึ่งอาจช่วยลดค่าลงทะเบียนได้เช่นกัน

                        มติที่ประชุม  เห็นชอบ โดยให้ศูนย์ SEAMEO CHAT พิจารณาหาแนวทางในการลดค่าใช้จ่ายและค่าลงทะเบียนโครงการ Myanmar History from Myanmar Perspectives ตามที่เสนอแนะ

-โครงการสอนภาษาอังกฤษ (English Language Proficiency Courses)

                        ศูนย์ SEAMEO CHAT มีรายได้จากการเปิดสอนภาษาอังกฤษแก่บุคคลทั่วไป ซึ่งรายได้จากโครงการดังกล่าวได้รับการจัดสรรให้แก่ครูผู้สอน บุคลากรในโครงการ วัสดุอุปกรณ์ และรัฐบาลตามสัดส่วน

                        ในส่วนของการนำเสนอรายงานประจำปีของศูนย์ รองผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการ SEAMEO ได้แนะนำว่าศูนย์ SEAMEO CHAT ควรจัดทำรายงานประจำปีโดยยึดแนวทางเดียวกันกับแผนยุทธศาสตร์ใหม่ของ SEAMEO เพื่อจะได้เป็นไปในแนวทางเดียวกับศูนย์อื่น ๆ

                        มติที่ประชุม   เห็นชอบ

                        ๔. รายงานด้านการเงิน (พ.ศ. ๒๕๕๖ ๒๕๕๗) (WP – 4)

                   ผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO CHAT นำเสนอที่ประชุมเกี่ยวกับรายละเอียดรายรับและรายจ่ายในการดำเนินงานของศูนย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๕๖ ๒๕๕๗

                    มติที่ประชุม เห็นชอบ

                   ๕. รายละเอียดประมาณการงบประมาณในช่วง ๓ ปี (พ.ศ.๒๕๕๘ ๒๕๕๙ และ ๒๕๖๐ ๒๕๖๑) (WP – 5)

                        ผ.อ. ศูนย์ SEAMEO CHAT รายงานที่ประชุมเกี่ยวกับรายละเอียดประมาณการงบประมาณในช่วง ๓ ปี โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาเอกสารงบประมาณดังกล่าว) และสอบถามข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ  ในส่วนของห้องสมุด ที่ประชุมได้สอบถามว่ามีบุคลากรปฏิบัติงานหรือไม่ ซึ่งศูนย์ได้ชี้แจงว่าเนื่องจากบุคลากรที่เคยปฏิบัติงานได้เลื่อนขึ้นไปรับผิดชอบหน้าที่อื่น และในการจัดสรรบุคลากรมารับหน้าที่แทนจะต้องได้รับการจัดสรรและผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลเมียนมาร์ จากเหตุผลดังกล่าวทำให้การดำเนินงานของศูนย์ขาดความคล่องตัว

                        มติที่ประชุม เห็นชอบ

                   ๖. การแต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี

                        ผ.อ. ศูนย์ SEAMEO CHAT รายงานเรื่องการแต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชีรายใหม่ (WP – 7)   ซึ่งได้แก่ U Khaing Win

                   มติที่ประชุม  เห็นชอบ

                      ๗. ประเด็นสำคัญ ข้อตกลง และการดำเนินงานอันเป็นผลจากการประชุม SEAMEO

(WP – 8)

                      รองผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการองค์การ SEAMEO นำเสนอที่ประชุมเกี่ยวกับประเด็นสำคัญ ข้อตกลง และการดำเนินงานอันเป็นผลจากการประชุม SEAMEO โดยเน้นถึงประเด็นสำคัญ ๔ ประเด็นคือ

การเฉลิมฉลองในวาระ ๕๐ ปีของการก่อตั้งองค์การ SEAMEO นโยบายที่เกี่ยวข้อง โครงการและกิจกรรมของ SEAMEO และความร่วมมือต่าง ๆ

                        มติที่ประชุม เห็นชอบ

                        ๘. รายงานความคืบหน้าโครงการมีส่วนร่วมกับชุมชนของศูนย์ซีมีโอแชท (WP – 9)

                      ดร. Naw Si Blut นักวิจัยอาวุโสศูนย์ SEAMEO CHAT แจ้งว่าใน พ.ศ. ๒๕๕๖ ศูนย์ได้รับโรงเรียนในความอุปถัมภ์เพิ่มขึ้นอีก ๑ แห่ง คือ โรงเรียน Kyeemyindaing นอกจากนี้ ศูนย์ยังได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้ชุมชนได้มีส่วนร่วม และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ได้แก่

                       -  โครงการนำนักเรียนทัศนศึกษาสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เพื่อปลูกฝังความเป็นชาติและเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์นอกห้องเรียน

                    - โครงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการสอนระหว่างครูจากโรงเรียนในความอุปถัมภ์และศูนย์ SEAMEO CHAT

                   - โครงการมอบรางวัลให้แก่นักเรียนที่มีผลการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ดีเด่น

                        - โครงการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถของโรงเรียน

                        - การแสดงความสามารถของนักเรียน เป็นต้น

                        นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เสนอความเห็นให้ศูนย์ขอรับการสนับสนุนจากภาคเอกชนเพื่อเพิ่มโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของโรงเรียนและนักเรียน

                        มติที่ประชุม เห็นชอบ

 

เรื่องอื่น ๆ

๑.      โครงการสัมมนานานาชาติเรื่อง จารีตประเพณีในกระแสความเปลี่ยนแปลง

(Traditions in a Changing World) (WP – 10)

              ดร. Win Myat Aung นักวิจัยอาวุโสประจำศูนย์ SEAMEO CHAT รายงานที่ประชุมว่า              ศูนย์กำหนดจัดการสัมมนานานาชาติในหัวข้อ จารีตประเพณีในกระแสความเปลี่ยนแปลง” (Traditions in a Changing World) ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบ ๕๐ ปีการก่อตั้งองค์การ SEAMEO โดยเนื้อหาของการสัมมนาจะเป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ของขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีของประเทศต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องมาจากระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

                        ที่ประชุมได้สอบถามถึงงบประมาณในการดำเนินงานและกลุ่มเป้าหมายของการสัมมนา ซึ่งศูนย์ SEAMEO CHAT แจ้งว่าได้รับการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงานจากสำนักเลขาธิการองค์การ SEAMEO สำหรับกลุ่มผู้เข้าร่วมสัมมนาจะเป็นนักวิชาการ คณาจารย์ และนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ  นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเสนอแนะให้คัดสรรงานวิจัยที่จะนำเสนอในการสัมมนาเพื่อให้การสัมมนามีความน่าสนใจและบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์

            มติที่ประชุม  เห็นชอบ

๒.     โครงการศึกษาวิจัยเรื่อง สังคมและวัฒนธรรมชาวมอญ” (Mon Culture and

Society) (WP – 11)

                        ดร. Win Myat Aung นักวิจัยอาวุโสประจำศูนย์ SEAMEO CHAT นำเสนอที่ประชุมเกี่ยวกับโครงการศึกษาวิจัยเรื่องสังคมและวัฒนธรรมของชาวมอญซึ่งกำหนดจัดระหว่างวันที่ ๒๐ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๗ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลความรู้ทั้งในด้านสภาพสังคม วัฒนธรรม ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีของชุมชนมอญในประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์  โดยจะเป็นการบรรยายให้ความรู้ในกรุงย่างกุ้ง ๒ วัน และศึกษาดูงานชุมชนมอญในเมืองต่าง ๆ ๔ วัน ค่าลงทะเบียน 1000 USD

                   ที่ประชุมได้แนะนำให้ศูนย์ SEAMEO CHAT พิจารณาเลื่อนระยะเวลาในการดำเนินงานโครงการนี้ออกไปเป็นเดือนมีนาคมหรือหลังจากนั้น เนื่องจากหากยึดกำหนดการเดิมศูนย์จะต้องรับผิดชอบจัดโครงการถึง ๒ โครงการภายในเดือนเดียวกัน ซึ่งอาจทำให้ศูนย์ประสบปัญหาในการดำเนินงาน

๓.     การแสดงความขอบคุณและระลึกถึงอดึตกรรมการบริหาร

                        ที่ประชุมเสนอให้ศูนย์มีหนังสือแสดงความขอบคุณและระลึกถึงไปยังอดีตกรรมการบริหารศูนย์ SEAMEO CHAT ในโอกาสครบ ๕๐ ปีการก่อตั้งองค์การ SEAMEO

๔.คณะกรรมการบริหารศูนย์จากประเทศสมาชิกมอบอุปกรณ์การเรียนการสอนแก่โรงเรียนในความอุปถัมภ์ของศูนย์ SEAMEO CHAT

สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์ SEAMEO CHAT ครั้งที่ ๑๒ ที่ประชุม     มีมติให้ประเทศสมาชิกให้ความร่วมมือในการจัดหาอุปกรณ์สื่อการเรียนการสอนเกี่ยวกับเอกลักษณ์ประจำชาติและความรู้เกี่ยวกับอาเซียนเพื่อมอบให้แก่โรงเรียนในความอุปถัมภ์ของศูนย์ SEAMEO CHAT                          

ในการนี้ กรรมการบริหารจากประเทศมาเลเซีย  ไทย และเวียดนามได้นำอุปกรณ์สื่อ       การเรียนการสอนมอบให้แก่ผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO CHAT เพื่อมอบให้แก่โรงเรียนในความอุปถัมภ์ต่อไป             ๕. กำหนดเวลาและสถานที่ประชุมคณะกรรมการบริหารครั้งที่ ๑๔

            ที่ประชุมมีมติให้จัดการประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์ SEAMEO CHAT ครั้งที่ ๑๔       

ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ระหว่างวันที่ ๑๗ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๘

สรุป

                        ที่ประชุมรับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์ซีมีโอแชทครั้งที่ ๑๓ ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ระหว่างวันที่ ๙ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๗

                        การประชุมสิ้นสุดเวลา ๑๒.๐๐ น. วันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๗

 



 

(จำนวนผู้เข้าชม 846 ครั้ง)


Messenger