๑. ชื่อโครงการ
โครงการศึกษาความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
๒. วัตถุประสงค์ของคณะเดินทาง
๒.๑ สำรวจและศึกษาเปรียบเทียบโบราณสถานในประเทศเวียดนามที่มีอิทธิพลต่อการก่อสร้างศาสนสถานในประเทศไทยและกัมพูชา
๓. กำหนดเวลา
วันที่ ๒๒ – ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๖
๔. สถานที่
ภาคกลางของประเทศเวียดนาม ได้แก่ ดานัง บิ่ญดิ่น ซาหูญ กวางนัม กวางไน ฝูเยน
๕. หน่วยงานผู้จัด
๑. องค์การอัปสรา
๒. โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
๓. กรมศิลปากร
๖. หน่วยงานสนับสนุน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
๗. กิจกรรม
รายละเอียดการศึกษา ณ โบราณสถานในเขตภาคกลางของประเทศเวียดนาม
Chien Dan Group
อยู่ในเขตหมู่บ้าน Tam An จังหวัดกวางนัม ประมาณ ๖๐ กิโลเมตรทางทิศใต้จากดานัง ศาสนสถานประกอบด้วยอาคารก่อด้วยอิฐ ๓ หลัง หันหน้าทางทิศตะวันออก สร้างขึ้นสมัยคริสตศตวรรษที่ ๑๑ และมีการซ่อมแซมในศตวรรษที่ ๑๒ สมัยพระเจ้าชัยหริวรมัน อาคารหลังกลางมีขนาดใหญ่ที่สุด การตกแต่งนอกจากเซาะร่องยาวเป็นกรอบแคบๆตลอดพื้นผนังตัวอาคาร ยังพบภาพประติมากรรมนูนต่ำที่ส่วนฐานอาคารโดยสลักเป็นรูปบุคคลฟ้อนรำ ภาพบางตอนในมหากาพย์รามายณะ ภาพช้าง เป็นต้น ส่วนของอาคารที่มีความสำคัญเชิงโครงสร้างใช้หินทรายเป็นวัสดุ การขุดค้นในปี ค.ศ. ๑๙๘๙ ค้นพบชิ้นส่วนประติมากรรมนับร้อยชิ้น และมักเป็นชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรม เช่นหน้าบันจำหลักรูปบุคคลถืออาวุธ พระอิศวรทรงโค นอกจากนี้ยังพบประติมากรรมรูปอัปสร ครุฑ หงส์ นาค มกร เป็นต้น
Khuang My
อยุ่ในเขตบ้าน Tam My เมือง Tam Ky จังหวัดกวางนัม
ประกอบด้วยปราสาทสามหลังเรียงกันตามแนวเหนือใต้หันหน้าทางทิศตะวันออกปราสาทแห่งนี้เป็นสถาปัตยกรรมสำคัญในศิลปะจามโดยมีรูปแบบศิลปะที่หลากหลายและโดดเด่นและมีความสำคัญในฐานะที่เป็นศาสนสถานในยุคของเมืองอมรวติของ จามปาที่ปรากฏในจังหวัดกว่างนัมปราสาทหลังทิศใต้มีขนาดใหญ่ที่สุดและไม่ได้รับความเสียหายเท่าที่ควรโครงสร้างส่วนบน คือหลังคาโดยเฉพาะส่วนยกเก็จหลังคาชั้นแรกและชั้นที่สองยังมีสภาพดีแต่วัสดุเป็นอิฐเนื้อละเอียดไม่มีส่วนผสมขนาดใหญ่ปนจะมีผลต่อความแข็งแรงทนทานต่ำกว่าอาจมีการเสริมความมั่นคงที่ผิวผนังอาคารในสมัยหนึ่งและได้ผลแต่ไม่สามารถหยุดการ เสื่อมสภาพและสึกกร่อนจากภายในดังนั้นผิวนอกอิฐจึงมีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ เฉพาะส่วนที่มีการใช้น้ำยาเคลือบไว้
ประติมากรรมของที่นี่ส่วนใหญ่จัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์เมืองดานัง อาทิ ฐานประติมากรรมสลักรูปดอกบัว กฤษณะโควรรธนะ ศิวนาฎราช กำหนดอายุได้ประมาณคริสตศตวรรษที่ ๗ และ ๑๐
ย่านแหล่งวัฒนธรรมซาหูญ
เขตจังหวัดกวางไน แหล่งวัฒนธรรมซาหูญ ประมาณ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว ตรงกับสมัยเหล็ก เป็นย่านที่พบแหล่งโบราณคดีตลอดแนวชายฝั่ง มีภาชนะดินเผาตกแต่งลายกดจุดในเส้นขนานแบบภาคกลาง บ้านเชียง คาลาไน ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นความสัมพันธ์ด้านรูปแบบที่มีการติดต่อและอาจเป็นรากฐานให้วัฒนธรรมรุ่นหลัง ๆ มีการติดต่อแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม แหล่งโบราณคดีส่วนใหญ่ไม่ได้รับการศึกษาและหมดสภาพ
Thap Banh It
อยู่ในเขตบ้าน Nhon Hoa อำเภอ An Nhon จังหวัดบิญดิ่น โบราณสถานตั้งอยู่บนยอดเขาริมฝั่งแม่น้ำคอน ห่างจากชายฝั่งทะเลประมาณ ๑๐ กิโลเมตร เป็นกลุ่มโบราณสถานที่มีความสำคัญที่ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางอาณาจักรวิชัย ในปัจจุบันปรากฏเพียงโบราณสถานจำนวน ๔ หลังซึ่งเดิมมีมากกว่านี้และมีตำแหน่งตามแกนทิศเรียงอยู่ ณ จุดที่ลดหลั่นลงเป็นขั้นบันไดโดยมีอาคารที่เป็นซุ้มประตูทั้งสี่ด้านปราสาทประธานสร้างขึ้นตามรูปแบบเดียวกับอาคารหลังอื่น ๆ มีสภาพเสื่อมโทรมประกอบด้วยมุขยื่นออกมาด้านหน้าชั้นหลังคาซ้อนลดชั้นสอบขึ้นไปถึงยอด รูปแบบการสกัดตกแต่งลวดลายเป็นแบบนิยมของศิลปะจามปาในคริสตศตวรรษที่ ๑๑ ถึง ๑๒ เหนือประตูทางเข้าปราสาทเป็นชุดหน้าบันซ้อนกันสองชั้นสลักภาพพระอิศวรทรงโคทางทิศตะวันออกส่วนหน้าบันเหนือซุ้มประตูทิศอื่นสลักภาพบุคคลซึ่งลบเลือนไปมาก ชั้นฐานอาคารไม่มีลวดลายการตกแต่งแต่มีรูปทรงคล้ายฐานปัทม์ในส่วนบัวรัดเกล้าเหนือสุดของผนังเป็นหินทรายที่สกัดวางอย่างแนบสนิทและยังเชื่อมต่อกับโครงสร้างอิฐได้อย่างเรียบร้อยตัวปราสาทมีหลังคาเป็นยอดลดชั้นขึ้นไปสามชั้นและมีส่วนประดับที่มุมซึ่งมีรูปแบบเหมือนกับที่อื่น ๆ ในบิญดิ่น โดยมีลักษณะเป็นทรงสามเหลี่ยมบนฐานจตุรัสมีชั้นลวดบัวเป็นเส้นต่อกับรูปสามเหลี่ยม มีลวดลายสลักรูปสิงห์ในแนวลวดบัวทางด้านทิศใต้
ห้องคลัง ตั้งอยู่ด้านข้างปราสาทประธานได้รับการยอมรับว่าเป็นงานก่อสร้างชิ้นเอกในศิลปะจามมีลวดลายประดับงดงาม มีลักษณะภายในเป็นห้องยาวมีประตูทางทิศเหนือ หลังคาทรงประทุนเรือ ที่ผนังมีหน้าต่างด้านตะวันออกและทิศใต้ การตกแต่งประดับตัวอาคารทั้งหลังเป็นลายพรรณพฤกษา ที่ส่วนฐานสลักรูปสิงห์แบกเป็นแถว
กลุ่มศาสนสถานแห่งนี้ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์เพียงพอต่อการศึกษาวิวัฒนาการของศิลปะจามภายหลังสมัยการย้ายเมืองหลวงจากเมืองตราเกียวไปจาบันเมื่อประมาณพันปีที่แล้ว และยังปรากฏร่องรอยจุดเปลี่ยนของรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบกวางนัมกับแบบบิญดิ่นซึ่งลวดลายประดับสถาปัตยกรรมเป็นแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนหน้านี้และเป็นช่วงที่เริ่มนิยมการสร้างศาสนสถานบนภูเขาในราวคริสตศตวรรษที่ ๑๑ ซึ่งศาสนสถานแห่งนี้คงก่อสร้างขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ ๑๑ หรือในทันทีที่มีการย้ายศูนย์กลางอาณาจักรอมราวตีมายังเมืองวิชัย
ในแถบนี้เคยเป็นเมืองหลวงเก่าของอาณาจักรเป็นเมืองท่าสำคัญรองจากฮอยอาน ซึ่งเจิ้งเหอเคยบันทึกไว้ ที่แหล่งนี้พบพระพุทธรูปสำริดปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์กรุงพนมเปญ ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองเป็นจุดรับของป่าจากเขตพื้นที่สูงทางตะวันตกและส่งออกทางท่าเรือที่อยู่ด้านตะวันออกแบบเดียวกับการเคลื่อนย้ายทรัพยากรของป่า สินค้าจากแหล่งกำเนิดออกสู่ท่าเรือที่เมืองเวียงสระ ควนพุนพิน ที่มีการควบคุมเส้นทางการลำเลียงก่อนไปยังเมืองท่า การเป็นจุดศูนย์กลางในการรวบรวมและกระจายสินค้าป้อนเข้าสู่ระบบการค้าทางทะเลทำให้เมืองเติบโต
Thap Doi
ตั้งอยู่ในเขต ดองดา Quy Nhon city จังหวัดบิ่ญดิ่น ประกอบด้วยศาสนสถานก่อด้วยอิฐสองหลัง หันหน้าทางตะวันออกอยู่บนที่ราบลุ่มใกล้ชายฝั่งทะเล ตามบันทึกของปาร์มองติเยร์ ศาสนสถานแห่งนี้เคยมีสามหลังแต่อาคารด้านทิศเหนือพังทลายลงทั้งหมด องค์ประกอบของศาสนสถานนอกจากปราสาทสามหลัง ยังปรากฏสิ่งก่อสร้างอื่นได้แก่ มณฑปของปราสาท สระน้ำสี่เหลี่ยมจตุรัสสองแห่งและกำแพงแก้ว
ในมุมมองทางด้านศิลปะ ลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มโบราณสถานนี้คือรูปทรงหลังคาที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมรสมัยพระนครและเป็นสมัยเดียวที่ปรากฏร่วมกับศิลปะจาม ลักษณะทั่วไปของอาคารหลังกลางมีขนาดสูงใหญ่กว่าหลังอื่นในกลุ่ม มุขทางเข้าพังทลายทั้งหมด ส่วนฐานเป็นหินทรายสลักเป็นฐานบัวประดับด้วยรูปสิงห์ ช้างและรูปบุคคล ชั้นเรือนธาตุมีผังรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ที่ผนังมีเสาติดผนังที่มุมอาคารบัวหัวเสาเป็นหินทรายและมีครุฑประดับที่มุม ส่วนหลังคาสร้างซ้อนลดชั้นขึ้นไป ๖ ชั้น แต่ละชั้นมีรูปจำลองหน้าบันประดับ ที่มุมประดับด้วยเศียรนาคสลักจากหินทราย ศาสนสถานแห่งนี้แสดงร่องรอยความสำเร็จของช่างในการประยุกต์ศิลปเขมรให้เป็นแบบพื้นถิ่น
Thap Duong Long
หรือปราสาทงาช้าง ตั้งอยู่ในเขตบ้าน Binh An อำเภอ Tay Son จังหวัดบิญดิ่น ได้รับอิทธิพลศิลปะเขมรในช่วงคริสตศตวรรษที่ ๑๒ ถึง ๑๓ ประกอบด้วยอาคารสามหลังหันหน้าทางตะวันออก ผังอาคารย่อมุมจนไม่เหลือพื้นที่ให้ทำผนังเซาะร่องตามแบบนิยม ส่วนยอดทำเป็นชั้นเชิงบาตรแบบเขมร และใช้ศิลาแลงประกอบส่วนฐานใช้หุ้มเป็นกรอบของฐานก่ออิฐ ตกแต่งชั้นลวดบัวส่วนฐานด้วยเต้านมเป็นแถวเป็นสัญลักษณ์ของเทพีอุโรชะ เทพผู้คุ้มครองอาณาจักร ลวดลายการตกแต่งนี้เป็นแบบนิยมของศิลปะจามปาในช่วงสมัยนี้ ส่วนหลังคาของปราสาทประธานหลังกลางซ้อนลดชั้นทำเป็นชั้นเชิงบาตรแบบเขมร ๔ ชั้น ชั้นบนสุดประดับด้วยบัวยอดปราสาท
Thap Canh Tien
อยู่ในบริเวณหมู่บ้าน Nhon Hau จังหวัดบิญดิ่น อายุประมาณ คริสตศตวรรษที่ 13-14 เมื่อประมาณ ๑๐๐๐ ปีมาแล้ว กษัตริย์แห่งวิชัยทรงย้ายเมืองหลวงมายังตอนใต้อาณาจักรอมรวตีเรียกว่าป้อมชาบันปรากฏอยู่จนถึงค.ศ. ๑๔๗๑ อยู่ในบริเวณจังหวัดกวางนัมปัจจุบัน ป้อมชาบันนี้ตั้งอยู่ระหว่างสาขาแม่น้ำโคนและปราสาทหลังนี้ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของป้อม ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีลักษณะทั่่วไปตามแบบศิลปะจามยังคงใช้หินทรายเป็นวัสดุแกะสลักลวดลายประดับอาคาร เช่นที่เสาติดผนัง ซึ่งสามารถประกอบกับการก่อเรียงอิฐผนังอาคารได้อย่างแนบสนิทและเป็นเอกลักษณ์ด้านงานก่อสร้างสถาปัตยกรรมแบบจาม รูปแบบศิลปะที่ปรากฏ ณ โบราณสถานแห่งนี้อยู่ในช่วงประมาณปลายคริสตศตวรรษที่ ๑๓ ซึ่งรูปแบบเป็นส่วนที่วิวัฒนาการจากศาสนสถานไมซอน เอ ๑ ศาสนสถานโพนคร เป็นต้น เมื่อไม่นานมานี้พิพิธภัณฑสถานแห่งบิญดิ่น ได้พบประติมากรรมจามปาเป็นจำนวนมากในบริเวณป้อม เช่น ประติมากรรมรูปคชสีห์ สิงโต ช้าง ประติมากรรมรูปบุคคลอีกด้วย
Thap Nhan
สมัยคริสตศตวรรษที่ ๑๑ อยู่ในเขตเมือง Tuy Hoa จังหวัด Phu Yen ศาสนสถานตั้งอยู่บนภูเขาหนาน (Mt.Nhan) สามารถมองเห็นชายฝั่งทะเลที่อยู่ไม่ไกลประมาณ ๓.๕ กิโลเมตร ปาร์มองติเยร์บันทึกไว้ว่าศาสนสถานแห่งนี้มีอาคารสองหลังแต่อาคารหลังเล็กถูกทำลายจนไม่เหลือหลักฐาน ตัวอาคารหันหน้าไปทางทิศตะวันออกแต่มุขทางเข้าพังทลายลง ส่วนอีกสามด้านที่เป็นประตูหลอกก็อยู่ในสภาพเสียหาย ตังอาคารไม่ปรากฏการสลักลวดลายประดับ ชั้นหลังคาซ้อนลดชั้นขึ้นไปสามชั้น แต่ละชั้นมีรูปจำลองอาคารประดับที่มุมแต่คงเหลือให้เห็นเฉพาะด้านตะวันตกเฉียงเหนือเพียงด้านเดียว โบราณสถานแห่งนี้บูรณะด้วยด้วยเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจากเยอรมันเมื่อสิบปีที่แล้ว รูปเคารพด้านในเลียนแบบเทวสถานที่ญาตรัง สร้างถวายวิหารโพนากา ไม่พบจารึกที่วัดนี้ แต่มีความสำคัญกับประชาชนมากเนื่องจากตั้งอยู่ริมแม่น้ำบาหรือดาทางเหนือของลิงบรรพต และที่นี่เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของคนท้องถิ่น (Deo Ca) คนท้องถิ่นเรียกว่า Nui Nahn Song Da (เขาหนานแห่งแม่น้ำดา)
Thanh Ho Citadel
เมืองคูคันดินขนาด ๘๐๐x๘๐๐ เมตร มีซากสิ่งก่อสร้างในบริเวณที่สูงภายในกำแพงเมือง โครงสร้างกำแพงเมืองเป็นเป็นดินผสมอิฐหัก มีดินผสมก้อนหินเป็นแกน สูงประมาณ ๕ เมตร ตำแหน่งของเมืองอยู่ลึกเข้ามาจากเขตเมืองท่าชายทะเล ด้านทิศตะวันตกไม่มีแนวกำแพง แต่ด้านทิศใต้มีแม่น้ำบาไหลผ่าน
๘. คณะผู้แทนไทย
นายพงศ์ธันว์ สำเภาเงิน หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เพชรบูรณ์
๙. สรุปสาระของกิจกรรม
ตำแหน่งที่ตั้งโบราณสถานและป้อมเมืองรวมทั้งเมืองหลวงของอาณาจักรจามปา หรือเมืองวิชัยอยู่บริเวณที่ราบชายฝั่งทะเล และบริเวณปากแม่น้ำสายสำคัญ มีบทบาทเป็นสถานีพักรับสินค้าจากกลุ่มคนจากที่สูงด้านทิศตะวันตกเรียกว่าพวกจาราย ส่งผลให้เมืองขยายตัวและเติบโตอย่างรวดเร็ว จากการติดต่ออย่างคับคั่งโดยกลุ่มพ่อค้านานาชาติโดยเฉพาะจีน ในสมัยอาณานิคม พวกอังกฤษเคยมาตั้งสถานีรับสินค้าในบริเวณนี้และใช้ต่อเนื่องมานาน ที่แหล่งนี้มีลักษณะเดียวกับในไทยที่มีจุดรับสินค้าจากชนเผ่าซึ่งมักลำเลียงสินค้าของป่ามาเป็นช่วง ๆ ในแต่ละฤดูกาล เช่น พวกเพลา อ.ไชยา จุดรับสินค้านี้จะส่งสินค้าป้อนต่อไปยังเมืองท่าหลักชายฝั่งทะเลเพื่อเตรียมการส่งออก ในไทยพบรูปแบบนี้ที่เมืองเวียงสระ สุราษฎร์ธานี หล่มเก่า เพชรบูรณ์ ที่เมืองฟูเย็นคงเป็นเมืองท่าเก่าที่มีความสำคัญในระบบการค้าทางทะเล ซึ่งได้พบหลักฐานรูปสลักพระพุทธรูปสถูปคู่ตามแบบที่เจอในเมืองท่าหลักของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ปูจัง รัฐเคดาห์ มาเลเซีย ทำให้เห็นโครงข่ายการติดต่อทั่วทั้งอนุภูมิภาคและขณะเดียวกันยังได้พบหลักฐานของจามปาในเขตคาบสมุทรมลายู ได้แก่สถูปจามที่วัดแก้ว และวัดหลง อำเภอไชยา ซึ่งเป็นโบราณสถานที่ได้รับอิทธิพลจากศูนย์กลางจามปาในแถบบิ่นดิ่ญและเมืองใกล้เคียงมากกว่าแถบไมซอน
โบราณสถานวัดแก้ว วัดหลง กำหนดอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบจามที่นิยมใช้การตกแต่งผนังด้วยการเซาะร่องเป็นกรอบยาวจนเป็นเอกลักษณ์ยกเว้นสถูป Thap Duong Long ที่ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบเขมร
หลักฐานทางวัฒนธรรมจากด้านประเทศเวียดนามมีบทบาทในประเทศไทยอย่างชัดเจน ปรากฏทั้งศาสนสถาน โบราณวัตถุแบบจามปา อาทิ ภาชนะแบบมีพวย ภาชนะทรงกระบอก จนถึงสมัยที่มีการพบเทวรูปพระโพธิสัตว์ที่โบราณสถานตุมปัง อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งการติดต่อผ่านระบบการค้าทางทะเลตามเส้นทางการเดินเรือพาณิชย์ที่สะดวกรวดเร็วมากที่สุดในอดีตตามที่มีการปรากฏวัตถุทางวัฒนธรรมร่วมสมัยกับแหล่งกำเนิดกระจายปะปนทั่วไปในแหล่งโบราณคดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(จำนวนผู้เข้าชม 864 ครั้ง)