รายงานการเดินทางไปราชการ ณ ประเทศญี่ปุ่น
๑. ชื่อโครงการ การตรวจสอบโบราณวัตถุ ณ เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น
๒. วัตถุประสงค์
๑) เพื่อตรวจสอบโบราณวัตถุประเภทเครื่องปั้นดินเผาในครอบครองของเอกชน
ณ เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น
๒) เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณาการประเมินค่าตามคำขอของบริษัท เค.วาย.โอ.บี
ในการพิจารณาดำเนินการให้โบราณวัตถุกลับคืนสู่ประเทศไทย
๓. กำหนดเวลา ระหว่างวันที่ ๑๗ - ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๖
๔. สถานที่ ๑. ที่พักแรม โรงแรม Osaka World 308 ในเมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น
๒. บ้านของDr Itoi Kenji ผู้ครอบครองโบราณวัตถุ ณ เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น
๕. หน่วยงานผู้จัด -
๖. หน่วยงานสนับสนุน ๑. บริษัทเค. วาย.โอ.บี จำกัด
๒. กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
๗. กิจกรรม
ตรวจสอบโบราณวัตถุที่เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่อยู่ในความครอบครองของ Dr Itoi Kenji ซึ่งใช้ชื่อว่า The Sōsai Collection
๘. คณะผู้แทนไทย
ดร. อมรา ศรีสุชาติ ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ) สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
นายจิราวัฒน์ ปฐพรสิรวิชญ์ ผู้ประสานงานจาก บริษัทเค.วาย.โอ.บี.จำกัด
๙. สรุปสาระของกิจกรรม
๑. ประสานการติดต่อกับผู้ครอบครองโบราณวัตถุคือ Dr Itoi Kenji เพื่อขอตรวจสอบโบราณวัตถุเฉพาะส่วนที่อยู่ในครอบครองที่เป็นเครื่องปั้นดินเผาไทย
๒. จัดทำบันทึกรายละเอียดข้อมูลที่ผู้ครอบครองมีอยู่เปรียบเทียบกับข้อมูลที่ผู้ครอบครองฯจัดพิมพ์ไว้ในหนังสือ ๒ เล่ม คือ ๑)Thai Ceramics From the Sōsai Collection Special Exhibition at Toyama Museum of Fine Art ๒) Captivating Beauty of Old Thai Ceramics, with focus on Wares of the Sukhothai Kingdom Special Exhibition at MOA ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่น โดยได้รับความช่วยเหลือในการดำเนินการเป็นอย่างดีจากMr. Yohei Wakabayashi
๓. จัดทำการบันทึกภาพและการบันทึกรายละเอียดจากการตรวจสอบวัตถุแต่ละชิ้นจำนวน ๓๐๙ รายการ เป็นเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาในประเทศไทย ๓๐๗ รายการ เป็นเครื่องปั้นดินเผาจากพม่า (เมียนมาร์) ๒ รายการ นายจิราวัฒน์ ปฐพรสิรวิชญ์ เป็นผู้ถ่ายภาพ
๑๐. ข้อเสนอแนะของกิจกรรม (ข้อสังเกตทั่วไป)
๑. เครื่องปั้นดินเผาทั้ง ๓๐๙ รายการเป็นวัตถุที่ผู้ครอบครองซื้อมาจากแหล่งต่างๆในประเทศไทย บางแหล่งซื้อจากการประมูลในประเทศญี่ปุ่น และในต่างประเทศ เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ ฮ่องกง บางชิ้นยังมีป้ายอนุญาตให้นำออกนอกประเทศจากกรมศิลปากร(พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่)
๒.เครื่องปั้นดินเผาทั้ง ๓๐๙ รายการจำแนกตามประเภทที่แสดงลักษณะแหล่งผลิตดังต่อไปนี้
-เครื่องสังคโลก (ทั้งจากแหล่งเตาสุโขทัยและแหล่งเตาศรีสัชนาลัย) จำนวน ๑๗๗ รายการ
-เครื่องถ้วยเวียงกาหลง จำนวน ๗๒ รายการ
-เครื่องถ้วยเตาสันกำแพง จำนวน ๔๒ รายการ
-เครื่องถ้วยเตาพาน จำนวน ๑๕ รายการ
-เครื่องถ้วยหริภุญไชย จำนวน ๑ รายการ
-เครื่องถ้วยพม่า จำนวน ๒ รายการ
๓. เครื่องปั้นดินเผาที่ได้ตรวจสอบจัดทำบันทึกทั้งหมดประกอบด้วย จาน ชาม พาน ไหสี่หู ไหสองหู ไหขนาดเล็ก ไหจิ๋ว โอ่งจิ๋ว แจกัน ขวด จอกทรงกระบอกหม้อน้ำ เหยือก กุณฑี กุณโฑ ถ้วย ถ้วยมีฝาครอบ โถมีฝาและไม่มีฝา ตลับ กระปุก กระปุกทรงน้ำเต้า ภาชนะทรงวงแหวน ภาชนะทรงกระโถน กระโถน ครกประทีป ชิ้นส่วนประทีป ตะเกียงน้ำมัน ตะคันหรือที่ปักเทียน ปั้นลม กระเบื้องเชิงชาย กระเบื้องครอบแป กระเบื้องขอ มกร พระพุทธรูปปางมารวิชัย เศียรพระพุทธรูป เศียรบุคคล(ผู้ชาย) เท้าข้างขวาของประติมากรรมรูปบุคคล ประติมากรมรูปสิงห์ ประติมากรรมรูปหงส์ ประติมากรรมนูนสูงรูปครุฑยุดนาค ประติมากรรมรูปช้างและหลังช้าง ประติมากรรมรูปควาย ประติมากรรมรูปวัวหมอบ ประติมากรรมรูปวัวมีหนอก ประติมากรรมรูปแม่น ประติมากรรมส่วนหัวมังกร ประติมากรรมรูปส่วนหัวของไก่ ประติมากรรมรูปส่วนหัวของนก ประติมากรรมรูปนก ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมรูปวงโค้ง ลวดลายประดับสถาปัตยกรรม ประติมากรรมรูปคนค่อมหรือพระจีน ลูกดิ่ง ลูกระพรวน ลูกกระสุนหรือตุ้มถ่วงแห บราลี กี๋ท่อ กี๋ทรงกระสวย ส่วนพวยของพวยรูปกลีบมะเฟือง แผ่นกลมมีลายดอกไม้บนแท่นขนาบข้างด้วยหงส์ ๒ ตัว (ปรากฏรายละเอียดพร้อมภาพประกอบในบัญชีที่แนบมาด้วยแล้ว)
๔. เครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องปั้นดินเผาเคลือบ มีทั้งเคลือบทึบ เคลือบใสและเขียนลายใต้เคลือบด้วยสี หรือการขุดเป็นลวดลายใต้เคลือบ สภาพส่วนใหญ่ค่อนข้างสมบูรณ์ แต่มีอยู่จำนวนหนึ่งที่เป็นชิ้นส่วน และหลายชิ้นแตกร้าวและต่อไว้ ส่วนใหญ่บิ่นหรือสึกกร่อนเพียงเล็กน้อย
๕. เนื่องจากเครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้ ผู้ครอบครองซื้อมาไว้ในครอบครองเป็นเวลานาน จึงทราบแหล่งที่มาเฉพาะบางชิ้นเท่านั้น บางแหล่งมีการจดบันทึกเป็นป้ายขนาดเล็กๆ และราคาไว้ แต่ส่วนใหญ่ไม่มีที่มาที่ชัดเจน การกำหนดที่มาว่าเป็นผลผลิตจากแหล่งเตาใดนั้น มาจากการพิจารณาลักษณะของเครื่องปั้นดินเผามากกว่าข้อมูลที่ได้จากแหล่งเตาโดยตรง
๖. เครื่องปั้นดินเผาส่วนใหญ่ที่อยู่ในครอบครองของเอกชนนี้ หลายชิ้นปรากฏว่ามีรูปแบบคล้ายคลึงกับที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทยซึ่งมีรูปแบบอยู่มากพอสมควรและได้จากแหล่งที่มีที่มาชัดเจน แต่เครื่องปั้นดินเผาในการครอบครองของเอกชนนี้ แหล่งที่มาไม่ชัดเจน อย่างไรก็ดี มีบางชิ้นที่มีลักษณะพิเศษซึ่งอาจยังไม่มีในพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทย หากมีก็พบน้อยหรือลวดลายแตกต่างออกไป
เครื่องปั้นดินเผาตามที่ปรากฏตามลำดับหมายเลขและภาพในบัญชี ต่อไปนี้ เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่มีลักษณะและลวดลายพิเศษ ซึ่งพิจารณาแล้วว่า จะเป็นประโยชน์ในการศึกษา และควรค่าแก่การที่จะนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ :
-หมายเลข ๒ จานสังคโลก เขียนลายสีดำใต้เคลือบรูปครุฑ จากเตาสุโขทัย
-หมายเลข ๒๐ ชามสังคโลกเขียนลายสีดำใต้เคลือบเป็นรูปกวาง จากเตาสุโขทัย
-หมายเลข ๓๑ โถเขียนลายสีดำใต้เคลือบรูปสิงห์สลับกับพรรณพฤกษา จากเตาเวียงกาหลง
-หมายเลข ๓๓ จานเขียนสีดำใต้เคลือบรูปงู ๒ ตัวและนก จากเตาเวียงกาหลง
-หมายเลข ๓๖ เศียรพระพุทธรูปเนื้อดินขาวเคลือบสีเขียวเข้ม จากเตาเวียงหลง
-หมายเลข ๔๐ ชามเคลือบ เขียนลายสีดำใต้เคลือบรูปต้นไม้ทั้งต้นมีกิ่งก้านพร้อมดอก จากเตาสันกำแพง
-หมายเลข ๔๑ ชามเคลือบ เขียนลายพรรณพฤกษาเขียวมะกอก ใต้เคลือบ จากเตาสันกำแพง
-หมายเลข ๔๖ ชามสังคโลก เขียนลายสีดำใต้เคลือบรูปปลาและดอกไม้ ขอบจานเป็นลายบัวคอเสื้อแบบที่ปรากฏที่ปูนปั้นวัดนางพญา ที่ก้นชามมีอักษรไทยสุโขทัย ๓ ตัวอ่านได้ว่า ก น ว จากเตาศรีสัชนาลัย
-หมายเลข ๔๗ ชามสังคโลกเขียนลายสีดำใต้เคลือบ รูปปลามีตีนกำลังคายคนออกมา ปลาอีกตัวมีเกล็ดคล้ายใบสาหร่าย จากเตาศรีสัชนาลัย
-หมายเลข ๔๘ ชามเคลือบเขียวไข่กา แตกรานคล้ายการแตกรานของเครื่องถ้วยหลงฉวนของจีน จากเตาเวียงกาหลง
-หมายเลข ๕๓ กระปุกสังคโลกเขียนสีดำใต้เคลือบรูปปลาแย่งชิงเหยื่อ จากแหล่งเตาสุโขทัย
-หมายเลข ๕๖ จานสังคโลก ขอบปากหยัก เคลือบเขียวอมฟ้า ลายขุดเป็นกลีบดอกไม้ ที่ขอบจานมีรูปปลากระโดด และที่ก้นก็มีลายปลา เคลือบแตกราน
-หมายเลข ๕๙ จานสังคโลก เขียนลายสีดำใต้เคลือบรูปปลาคายดอกไม้ ๒ ตัว ก้นชามเขียนอักษรไทยสุโขทัย ๑๐ ตัว คือ นายที อ ต เขง มีรอยกี๋ทับบนตัวอักษร แสดงว่าไม่ได้เขียนทีหลังการเผา แต่เขียนก่อนเข้าเตาเผา จากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย
-หมายเลข ๖๐ ชามสังคโลก เขียนลายสีดำบนพื้นเขียวใต้เคลือบ เป็นรูปนกที่มีลักษณะคล้ายนกหัสดีลิงค์ จากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย
-หมายเลข ๖๑ จานสังคโลกเขียนลายสีดำใต้เคลือบรูปปลา ๔ ตัวคาบบัว เต็มจาน มีรอยกากบาดในวงกลมที่ก้นจาน และลายบัวคอเสื้อรอบขอบจาน จากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย
-หมายเลข ๖๒ ประทีปทรงน้ำเต้า เคลือบสีเขียวเหลือง มีถ้วยใส่น้ำมันหรือไส้อยู่ภายใน อาจเป็นที่ใส่เครื่องหอมก็ได้ จากแหล่งเตาเวียงกาหลง
-หมายเลข ๖๗ กุณโฑ เคลือบใสสีเขียว-ฟ้า แตกรานเล็กๆ จากเตาเวียงกาหลง
-หมายเลข ๗๙ ชามสังคโลก เขียนสีดำใต้เคลือบเป็นรูปปลากลางจานและขอบจาน ๕ ตัว ตกแต่งลายพรรณพฤกษา ขนาดใหญ่มาก จากเตาสุโขทัย
-หมายเลข ๘๐ กุณโฑไม่เคลือบ มีลายประทับที่ไหล่รูปช้างและคนจับช้างอยู่ในกรอบ ที่ไหล่มีปุ่มนูน ๔ ปุ่ม ปากบิ่นไปครึ่งหนึ่ง จากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย ข้อมูลจากผู้ครอบครองบอกว่าได้มาจากแหล่งใกล้ภูเขานอกเมืองโบราณสุโขทัย
-หมายเลข ๘๖ ชามเขียนสีดำใต้เคลือบเป็นรูปปลาคาบพืชน้ำข้างละ๓ก้าน และขอบชามเป็นดวงดอกไม้ จากเตาสุโขทัย
-หมายเลข ๘๙ จานเคลือบเขียว เขียนลายขุดใต้เคลือบรูปพระอาทิตย์ ๑๓ แฉกและลายประดับ ๑๒ คู่รอบๆ คล้ายลายของกลองมโหระทึก จากแหล่งเตาสันกำแพง
-หมายเลข ๙๘ จานเคลือบเขียวขนาดใหญ่ เหมือนถาด ที่ก้นมีรอยกี๋เป็นวงดำ จากเตาพาน
-หมายเลข ๑๐๐ ตะเกียงน้ำมันสังคโลก หรืออาจเป็นที่ใส่เครื่องหอม มีพวยและหู ๔ หู เขียนลายสีดำใต้เคลือบ ด้านข้างมีส่วนของรอยภาชนะอีกใบติดอยู่ จากแหล่งเตาสุโขทัย
-หมายเลข ๑๐๒ กุณฑีสังคโลก พวยป่องเขียนลายสีดำใต้เคลือบเป็นลายดอกไม้ที่แบ่งช่องจังหวะคล้ายลายตกแต่งของจีน จากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย
-หมายเลข ๑๐๔ ชิ้นส่วนสังคโลกรูปครุฑยุดนาค เป็นส่วนประดับสถาปัตยกรรม เขียนลายสีดำใต้เคลือบ จากแหล่งเตาสุโขทัย ผู้ครอบครองให้ข้อมูลว่าซื้อมาจากฟิลิปปินส์
-หมายเลข ๑๑๐ ภาชนะทรงวงแหวน เคลือบสีน้ำตาล จากแหล่งเตาสันกำแพง
-หมายเลข ๑๑๑ ชามเคลือบสีฟ้าใส เบา แตกราน จากแหล่งเตาเวียงกาหลง
-หมายเลข ๑๒๓ ชิ้นส่วนสังคโลก เป็นส่วนของสถาปัตยกรรม รูปวงโค้ง มีลวดลายนูนดอกไม้ ๘ กลีบ ด้านล่างมีเส้นขูดเป็นตัวอักษร ๔ ตัว คือ ลาป ๕ จากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย
-หมายเลข ๑๒๗ ลูกดิ่งสังคโลก หรือตุ้มถ่วงแหสังคโลก เจาะรูทะลุบน-ล่าง เคลือบสีน้ำตาล จากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย
-หมายเลข ๑๔๒ ไหสังคโลกขนาดเล็กมีหูห่วง ๓ หู เคลือบสีน้ำตาล จากเตาศรีสัชนาลัย มีป้ายระบุว่า National Museum of the Philippines Manila RP No 01554 อาจเป็นชิ้นที่ขุดได้ในแหล่งหลุมศพที่มีการกำหนดอายุของฟิลิปปินส์ หรือได้จากแหล่งเรือจม เนื่องจากฟิลิปปินส์เปิดให้มีการประมูลของที่ได้จากการขุดค้น
-หมายเลข ๑๔๕ ตะคันหรือที่ปักเทียนสังคโลก ทรงพานปากจีบ จากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย
-หมายเลข ๑๔๖ ลูกดิ่งหรือลูกกระพรวน สังคโลก เคลือบเขียว มีลายกลีบบัว จากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย
-หมายเลข ๑๖๒ ส่วนของปั้นลมสังคโลก ลายรูปมังกร เขียนสีดำใต้เคลือบ จากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย
-หมายเลข ๑๖๓ กระปุกสังคโลก ๒ หู หูตั้งอยู่ในแนวขนานกับปาก จากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย
-หมายเลข ๑๖๔ เศียรบุคคลสังคโลก เขียนสีดำใต้เคลือบ จากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย
-หมายเลข ๑๖๕ เศียรบุคคลสังคโลก เขียนสีดำใต้เคลือบ จากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย
-หมายเลข ๑๖๖ พระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับบนฐานบัว เคลือบเขียว เนื้อดินขาว เบา จากแหล่งเตาเวียงกาหลง
-หมายเลข ๑๖๙ จานสังคโลกเคลือบเขียนลายดำใต้เคลือบ เป็นรูปสิงห์ ก้นจานเขียนสีเหล็กแดงเป็นรูปสตรีนั่งฉีกขา จากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย
-หมายเลข ๑๙๔ ไหขนาดเล็ก มีหูห่วง ๒ หู เคลือบใสบนพื้นสีเทาอมเขียวอ่อน เนื้อเบาบางมาก จากเตาสันกำแพง
-หมายเลข ๒๐๓ ชามเขียนสีดำใต้เคลือบรูปต้นไม้ ๕ กิ่ง จากเตาสันกำแพง
-หมายเลข ๒๐๕ ชามสังคโลก เขียนสีดำใต้เคลือบรูปปลาตัวเดียว จากเตาสุโขทัย
-หมายเลข ๒๐๙ ชามสังคโลก เขียนสีดำใต้เคลือบคล้ายรูปตัวเอสในภาษาอังกฤษ จากเตาสุโขทัย มีป้ายบอกแหล่งที่มาว่า National Museum of Philippines Manila RP DA 167 79-4478 อาจเป็นอีกชิ้นหนึ่งที่พบในแหล่งขุดค้นที่ฟิลิปปินส์หรือจากแหล่งเรือจมในฟิลิปปินส์
-หมายเลข ๒๑๖ ประทีป ทรงสถูป จากเตาสุโขทัย
-หมายเลข ๒๑๗ ลูกกระสุนหรือตุ้มถ่วงแห เคลือบขาว จากเตาสุโขทัย
-หมายเลข ๒๑๘ รูปดอกบัวตูมสังคโลก น่าจะเป็นส่วนของสถาปัตยกรรม จากเตาสุโขทัย
-หมายเลข ๒๒๕ จานเขียนลายสีดำใต้เคลือบ เป็นลายเปลวไฟ พุ่งออกจากก้นจาน จากเตาเวียงกาหลง
-หมายเลข ๒๒๗ กระเบื้องขอ ตกแต่งลายเหมือนลายฉลุ เคลือบขาว จากเตาศรีสุชนาลัย
-หมายเลข ๒๒๙ สังคโลก ส่วนประดับสถาปัตยกรรมรูปดอกจิก เคลือบขาว จากเตาศรีสัชนาลัย
-หมายเลข ๒๔๔ กระปุกสังคโลกทรงโอ่งเขียนสีดำบนพื้นสีเทาใต้เคลือบเป็นลายพรรณพฤกษา จากเตาศรีสัชนาลัย มีป้ายบอกว่าซื้อมาจาก National Museum Philippines Manila RP. Registration No. 914-145 939 อาจเป็นอีกชิ้นหนึ่งที่ได้จากแหล่งขุดค้นในฟิลิปปินส์ เพราะคล้ายกับที่เคยลงพิมพ์ในหนังสือวิชาการมาก หรืออาจได้จากแหล่งเรือจมในน่านน้ำฟิลิปปินส์ซึ่งฟิลิปปินส์ให้ขุดค้นเพื่อประมูลขายโบราณวัตถุ
-หมายเลข ๒๔๙ ภาชนะสังคโลกสำหรับใส่น้ำ ส่วนคอและปากคดเว้าเป็นหยัก ๒ หยัก เขียนลายสีน้ำตาลรูปนกยกขา
จากเตาศรีสัชนาลัย
-หมายเลข ๒๕๕ แผ่นกลมสังคโลก มีลายดอกไม้บนแท่นขนาบข้างด้วยหงส์ ๒ ตัว เหนือขึ้นไปมีหงส์บินอีก ๔ ตัว จากเตาศรีสัชนาลัย
-หมายเลข ๒๗๔ ชามสังคโลก เขียนลายใต้เคลือบเป็นลายสังข์ พรรณพฤกษาในช่องกระจก จากเตาศรีสัชนาลัย
-หมายเลข ๒๗๕ ชามสังคโลก เขียนลายสีดำใต้เคลือบเป็นต้นไม้ ดอกไม้ จากเตาสุโขทัย
-หมายเลข ๒๗๖ ภาชนะทรงกลมแป้นมีพวยทรงกระบอก หู ๔ หู สำหรับใส่น้ำหรือเครื่องหอม ตอนบนเขียนลายปลากับดอกไม้ ลำตัวเขียนลายช่องกระจก จากเตาศรีสัชนาลัย
-หมายเลข ๒๗๘ กุณโฑ (คนโท)หรือ แจกันสังคโลก เคลือบเขียวไข่กา แตกราน เขียนลายขุดรูปดอกทานตะวัน ๓ ดอก จากเตาศรีสัชนาลัย
-หมายเลข ๒๘๐ ประติมากรรมสังคโลกรูปสิงห์ เคลือบขาวเขียนลายสีดำใต้เคลือบจากเตาศรีสัชนาลัย
-หมายเลข ๒๙๓ จอกทรงกระบอก เคลือบสีฟ้าใสบนพื้นขาวนวล จากเตาเวียงกาหลง
-หมายเลข ๓๐๑ ประติมากรรมรูปเม่น เคลือบสีน้ำตาลอ่อน จากเตาเวียงกาหลง
๗. เครื่องปั้นดินเผาตามที่ระบุไว้ในข้อ ๖ ทั้ง ๕๙ รายการ มีคุณค่าเพียงพอที่จะใช้เป็นตัวอย่างในการศึกษา และการจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หากทางบริษัท เค.วาย.โอ.บี.จำกัด สามารถให้ผู้ครอบครองมอบให้ หรือหาแหล่งทุนที่จะจัดซื้อมอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ก็จะนำมาเก็บรักษาเป็นตัวอย่างในการศึกษาและจัดแสดงให้ประชาชนเข้าชมได้ต่อไป ก็จะเป็นประโยชน์ยิ่ง ส่วนชิ้นอื่นๆที่ปรากฏอยู่ในบัญชีที่ได้จัดทำแนบท้ายรายงานนี้หลายชิ้นเป็นชิ้นที่สวยงาม แต่หลายชิ้นมีตัวอย่างคล้ายคลึงกันบ้างแล้วในพิพิธภัณฑสถาน จึงถือว่าควรนำมาพิจารณาเป็นลำดับรองลงมา หากผู้ให้การสนับสนุนประสงค์จะมอบคืนให้ทั้งหมด กรมศิลปากรย่อมน่าจะยินดีรับไว้เป็นตัวอย่างเพื่อการศึกษาต่อไป
นางอมรา ศรีสุชาติ
ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ
(ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณวัตถุศิลปวัตถุ)
ผู้สรุปผลการเดินทางไปราชการ
(จำนวนผู้เข้าชม 593 ครั้ง)