โอ้ะ! พี่เป็นห่วงนัก เจ้าดวงเดือนเอย...
องค์ความรู้ : สำนักการสังคีต
เรื่อง โอ้ะ! พี่เป็นห่วงนัก เจ้าดวงเดือนเอย...
เรียบเรียงฉลองพระเดชพระคุณเนื่องในวาระคล้ายวันประสูติ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม
เป็นปีที่ ๑๔๐ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๕
โดย ธำมรงค์ บุญราช นักวิชาการละครและดนตรีปฏิบัติการ
บรรดาเพลงไทยหลาย ๆ เพลงคงมีเพียงไม่กี่เพลงเท่านั้น ที่ยังคงเป็นเพลงที่มีความทันสมัยใหม่เสมอและไม่เคยตกยุคสมัยหรือเลือนหายไปจากสังคมไทย ถึงแม้ว่าเพลงเหล่านั้นจะผ่านระยะเวลามานานเท่าใด แต่ทว่ายังสามารถนำมาปรับปรุงและดัดแปลงทำนองให้มีความสอดคล้องและตอบสนองกับความนิยมของคนในสังคมแต่ละยุคสมัยได้อยู่ตลอด หนึ่งในเพลงที่มีคุณสมบัติที่ว่านี้ คงไม่พ้นที่จะกล่าวถึง “เพลงลาวดำเนินเกวียน” หรือที่คนโดยทั่วไปนิยมเรียกเพลงนี้ว่า “เพลงลาวดวงเดือน” เพลงไทยซึ่งได้รับความนิยมในวงการดนตรีและขับร้องกันแพร่หลายมาอย่างยาวนานมากกว่าศตวรรษ ซึ่งบทขับร้องและทำนองของเพลงนั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดามรกฎ ทรงพระนิพนธ์ขึ้นราวพุทธศักราช ๒๔๔๙-๒๔๕๐
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมประสูติเมื่อวันพุธ ที่ ๑๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๒๕ ทรงเป็นเจ้านายพระองค์หนึ่งที่โปรดดนตรีไทยเป็นอย่างมากดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงมีวงปี่พาทย์ส่วนพระองค์อยู่วงหนึ่ง ด้วยสันนิษฐานว่านักดนตรีในวงนี้เป็นนักดนตรีที่เคยอยู่ในสังกัดของเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ผู้ก่อตั้งโรงละครปรินซ์เธียร์เตอร์ (Prince Theatre) ซึ่งมีศักดิ์เป็นตาของพระองค์มาก่อน ต่อมาเมื่อพระองค์ได้รับพระราชทานตำหนักใหม่จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในพื้นที่บ้านของเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) แถวบริเวณท่าเตียนแล้ว จึงทรงตั้งวงดนตรีส่วนพระองค์ขึ้นและเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “วงพระองค์เพ็ญ” โดยมีนักดนตรีประจำวงคนสำคัญ คือ นายปั้น บัวทั่ง ปู่ของนายพัฒน์ (พีรศิษย์) บัวทั่ง อดีตดุริยางคศิลปิน สังกัดกรมศิลปากร นอกจากนี้ในบางครั้งยังโปรดให้พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) แต่เมื่อครั้งยังเป็นนายแปลก เข้าไปช่วยต่อเพลงให้กับนักดนตรีในวงดนตรีส่วนพระองค์อีกด้วย ต่อมาเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ในพุทธศักราช ๒๔๕๒ แล้ว การบรรเลงและขับร้องดนตรีไทยวงพระองค์เพ็ญจึงยุติลง
ถึงแม้ว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม จะทรงสิ้นพระชนม์ตั้งแต่พระชนมายุได้เพียง ๒๘ พรรษา แต่พระองค์ได้ทรงสร้างสรรค์ผลงานพระนิพนธ์ทำนองและบทขับร้องเพลงไทยไว้หลายเพลงด้วยกัน ดังที่ พูนพิศ อมาตยกุล ได้อธิบายไว้ว่า
ในระหว่างพุทธศักราช ๒๔๕๐-๒๔๕๒ ได้ทรงนิพนธ์บทร้องเพลงไว้เป็นอันมาก อาทิ บทร้องเพลงลาวคำหอม ลาวดำเนินทราย เพลงแป๊ะ ฯลฯ เป็นที่น่าสังเกตว่า บทร้องที่ทรงนิพนธ์ส่วนมากมักจะมีเรื่องเกี่ยวกับพระจันทร์อันเกี่ยวด้วยพระนามเดิม “เพ็ญพัฒนพงศ์” และได้ทรงนิพนธ์เพลงขึ้นเพลงหนึ่ง ประทานชื่อว่า “ลาวดำเนินเกวียน” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “ลาวดวงเดือน” ซึ่งเป็นเพลงไทยที่รู้จักแพร่หลายมากที่สุด(พูนพิศ อมาตยกุลและคณะ, ๒๕๓๒: ๑๙๐)
จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่าพระนิพนธ์ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมากที่สุดนั้น คือ เพลงลาวดวงเดือน ซึ่งเพลงนี้ทรงพระนิพนธ์ขึ้นขณะเสด็จไปทรงราชการที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและในระหว่างการเดินทางนั้น บางจุดพระองค์ต้องประทับเกวียนเป็นพาหนะ ด้วยเหตุนี้จึงประทานนามเพลงนี้แต่แรกว่า “เพลงลาวดำเนินเกวียน” แต่ด้วยบทขับร้องของเพลงนี้ขึ้นต้นว่า “...โอ้ละหนอ ดวงเดือนเอย...” ต่อมาคนโดยทั่วไปจึงเรียกเพลงนี้ว่า “เพลงลาวดวงเดือน” สำหรับลักษณะทำนองของเพลงนี้ เป็นเพลงไทยสำเนียงลาว อัตราจังหวะสองชั้น มี ๓ ท่อน หน้าทับลาว มีบันไดเสียงของเพลงอยู่ในกลุ่มเสียงทางเพียงออบน (กลุ่มเสียงปัญจมูลที่ ๔ ด ร ม X ซ ล X) ซึ่งเป็นกลุ่มเสียงที่นิยมใช้ในเพลงไทยสำเนียงลาวโดยทั่วไปโดยเพลงนี้ไม่ปรากฏการเปลี่ยนกลุ่มเสียงในระหว่างทำนองเพลง ส่วนการดำเนินทำนองของเพลงนั้น พบว่ามีลักษณะการดำเนินทำนองแบบบังคับทางนอกจากนี้ วาคภัฎ ศรีวรพจน์ ยังได้แสดงทรรศนะเกี่ยวกับทำนองของเพลงลาวดวงเดือนในประเด็นต่าง ๆ รวมถึงการตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการรับอิทธิพลและแรงบันดาลใจในการประพันธ์ทำนองเพลงลาวดวงเดือนที่มาจากเพลงตะวันตกไว้อย่างน่าสนใจ ความว่า
ลักษณะทำนองและเสียงของลูกตกรวมถึงกลุ่มเสียงของเพลงลาวดวงเดือนนั้นหากพิจารณาดูแล้วจะพบว่ามีความคล้ายคลึงกันกับทำนองของเพลงลาวเล่นน้ำ ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นระบบเสียงของการประพันธ์เพลงไทยสำเนียงลาวโดยทั่วไปที่นิยมกันในยุคสมัยนั้น นอกจากนี้เพลงลาวดวงเดือนยังมีทำนองและเสียงลูกตกของเพลงที่คล้ายกันกับเพลงฮิวเมอเรสก์ส (Humoresqueop.101 No.7)ในดนตรีตะวันตกอีกด้วยด้วยเหตุนี้จึงสันนิษฐานว่าคงเพราะด้วยเสด็จในกรมทรงเป็นนักเรียนนอก จึงอาจทรงเคยฟังการบรรเลงเพลงดนตรีในวัฒนธรรมตะวันตกมาก่อนและเมื่อทรงพระนิพนธ์เพลงลาวดวงเดือนขึ้น จึงอาจได้รับอิทธิพลหรือแรงบันดาลใจบางประการจากเพลงดังกล่าวมาใช้เป็นแนวทางในการประพันธ์เพลงลาวดวงเดือน (วาคภัฎ ศรีวรพจน์, สัมภาษณ์, ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๕)
ในขณะที่ อัจยุติ สังข์เกษมยังได้อธิบายถึงความคล้ายคลึงกันระหว่างเพลงฮิวเมอเรสก์ส (Humoresqueop.101 No.7) กับเพลงลาวดวงเดือน ไว้อย่างสอดคล้อง ความว่า
เพลงฮิวเมอเรสก์ส (Humoresqueop.101 No.7)ประพันธ์ทำนองโดยอันโตญีน ดโวชาก (Antonín Dvorak) คีตกวีชาวเช็กเมื่อคริสต์ศักราช ๑๘๙๔ หากพิจารณาทำนองของเพลงฮิวเมอเรสก์ส (Humoresqueop.101 No.7)ในช่วงTheme A กับเพลงลาวดวงเดือนท่อน ๑ แล้ว จะพบว่ามีการใช้ลักษณะของการประพันธ์เพลงที่คล้ายคลึงกันตรงที่ประพันธ์ให้โน้ตตัวแรกของเพลงและโน้ตตัวสุดท้ายของท่อนเพลงขึ้นและจบเป็นเสียงโน้ตตัวเดียวกันนอกจากนี้ถ้าหากนำเพลงฮิวเมอเรสก์ส (Humoresqueop.101 No.7)ในช่วงTheme A มาจดบันทึกเป็นโน้ตแบบไทยแล้วเปลี่ยนบันไดเสียง (Transpose) จากนั้นนำมาเทียบกับโน้ตเพลงลาวดวงเดือนแล้ว จะพบว่าโน้ตเพลงลาวดวงเดือนนั้น ได้ถูกขยายทำนองเพลงขึ้นเป็นอีกเท่าหนึ่งของเพลงฮิวเมอเรสก์ส (Humoresqueop.101 No.7)ในช่วงTheme A อีกด้วย(อัจยุติ สังข์เกษม, สัมภาษณ์, ๘ กันยายน ๒๕๖๕)
จากข้อมูลข้างต้นที่มีการตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับเพลงฮิวเมอเรสก์ส (Humoresqueop.101 No.7)และเพลงลาวดวงเดือนนั้น หากพิจารณาดูแล้วจะพบว่าเพลงฮิวเมอเรสก์ส (Humoresqueop.101 No.7)เป็นเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเมื่อคริสต์ศักราช ๑๘๙๔ ตรงกับพุทธศักราช ๒๔๓๗ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันกับปีที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม เสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษในพุทธศักราช ๒๔๓๙ พอดี จึงอาจเป็นไปได้ที่ลักษณะการประพันธ์เพลงในทำนองลักษณะนี้คงจะเป็นที่นิยมกันอยู่ในยุคสมัยนั้นและพระองค์อาจทรงเคยฟัง ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม จะทรงนำเพลงฮิวเมอเรสก์ส (Humoresqueop.101 No.7) มาเป็นแนวทางสำหรับทรงพระนิพนธ์เพลงลาวดวงเดือนหรือไม่นั้น ผู้เขียนไม่สามารถยืนยันได้เพราะข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นแต่เพียงข้อมูลที่ผู้เขียนตั้งข้อสันนิษฐานขึ้นมาเพียงเท่านั้น
สำหรับบทขับร้องของเพลงลาวดวงเดือนนั้น เนื่องจากผ่านระยะเวลามานานเกินศตวรรษ ด้วยเหตุนี้ประวัติของเพลงรวมถึงคำร้องบางคำที่นำมาร้องในแต่ละครั้งหรือแต่ละบุคคล จึงอาจกลายไปจากเดิมบ้างดังที่ชัยพัฒน์ อุดมมะนะ ทายาทรุ่นที่ ๕ ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ได้แสดงทรรศนะถึงประวัติของเพลงและบทขับร้องของเพลงลาวดวงเดือนไว้ว่า
เรื่องราวเกี่ยวกับความรักระหว่างเสด็จในกรมกับเจ้าหญิงล้านนา จนกลายเป็นเหตุให้เสด็จในกรมต้องทรงพระนิพนธ์เพลงลาวดวงเดือนนั้น จะจริงหรือไม่ไม่มีใครสามารถยืนยันได้เพราะในราชสกุลไม่ได้กล่าวถึงเรื่องราวที่ว่านี้แต่อย่างใด ส่วนผู้ที่ขับร้องเพลงนี้เป็นคนแรกนั้น คือ หลวงอำนาจณรงค์ราญ (ไพฑูรย์ เพ็ญกุล) โดยมีเสด็จในกรมเป็นผู้รับสั่งให้คุณหลวงร้อง สำหรับบทขับร้องของเพลงลาวดวงเดือนที่ใช้ในปัจจุบันนั้นมีความแตกต่างไปจากบทพระนิพนธ์ของเดิมอยู่บ้าง เพราะคำร้องที่ทรงพระนิพนธ์นั้น จะต้องปรากฏคำร้องจำพวก เอ๊ะ ! โอ้ะ ! เช่นนี้เป็นต้น ซึ่งบทขับร้องที่นำมาร้องกันในปัจจุบันไม่ปรากฏคำเหล่านี้แล้ว อย่างเช่นคำร้องในท่อนสามของเพลงนั้น ปัจจุบันร้องกันว่า “...หอมกลิ่นเกสร เกสรดอกไม้ หอมกลิ่นคล้าย คล้ายเจ้าสูเรียมเอย...” ถ้าจะร้องให้ถูกต้องตามบทขับร้องที่ทรงพระนิพนธ์ไว้แต่เดิมแล้วนั้นจะต้องเป็น “...หอมกลิ่นเกสร เกสรดอกไม้ เอ๊ะ ! หอมกลิ่นคล้าย กลิ่นสูเรียมเอย...” ซึ่งหลักฐานบทขับร้องที่ถูกต้องที่สุดนั้น คือ บทขับร้องเพลงลาวดวงเดือนที่ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือที่ระลึกงานงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าเผ่าเพ็ญพัฒน์ เพ็ญพัฒน์ พระโอรสของเสด็จในกรม (ชัยพัฒน์ อุดมมะนะ, สัมภาษณ์, ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๕)
“เพลงลาวดำเนินเกวียน” หรือ “เพลงลาวดวงเดือน” นอกจากจะนิยมนำมาบรรเลงและขับร้องโดยทั่วไปแล้ว ต่อมายังถูกนำมาบรรจุเป็นเพลงสำหรับประกอบการแสดงชุด “ฟ้อนดวงเดือน” อีกด้วย โดยการแสดงชุดนี้กรมศิลปากรได้ปรับปรุงขึ้นใหม่ เพื่อสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสที่พระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแก่พระราชอาคันตุกะเป็นการส่วนพระองค์ โดยมีนายมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติเป็นผู้นำเพลงลาวดวงเดือนไปบรรเลงและขับร้องประกอบการแสดงนาฏศิลป์ถวายทอดพระเนตร ส่วนท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ศิลปินแห่งชาติเป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำ เเละเนื่องจากบทขับร้องของเพลงนี้ เป็นการรำพันถึงความรักของชายหนุ่มที่มีต่อหญิงสาว การแสดงฟ้อนดวงเดือนที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่นี้ จึงแสดงลีลาท่าทางเกี้ยวพาราสีที่งดงามตามแบบนาฏศิลป์ไทย
ฟ้อนดวงเดือนชุดนี้ได้จัดแสดงถวายทอดพระเนตรหลายครั้ง อาทิ ในโอกาสทรงรับรองพระราชอาคันตุกะ คือ เจ้าชายเฟรด เดริค วิลเฮล์ม ฟรอน บรัสสัน แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ณ สวนศิวาลัย ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๐๖ ในโอกาสพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแก่เจ้าชายและเจ้าหญิงฮิตาชิ ณ พระตำหนักเรือนต้น สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๘ และครั้งที่ ๓ ในโอกาสพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแก่พระสหาย ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๐๙ นอกจากนี้กรมศิลปากรยังได้นำการแสดงชุดนี้ออกแสดงในโอกาสต่าง ๆ อีกหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน
ในบั้นปลายพระชนม์ชีพของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมทรงพระประชวรด้วยพระโรควัณโรคภายในและสิ้นพระชนม์เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช๒๔๕๒สิริพระชนมายุได้๒๘พรรษา ถึงแม้พระองค์จะสิ้นพระชนม์มาเป็นเวลาถึง ๑๑๓ ปี ในพุทธศักราช ๒๕๖๕ นี้แต่ทว่าผลงานพระนิพนธ์เพลงลาวดวงเดือนของพระองค์นั้น ยังคงเป็นเพลงไทยที่ได้รับความนิยมและอยู่ในสังคมไทยมาตลอดมิได้สูญหายไปตามกาลเวลา กล่าวได้ว่า “เพลงลาวดำเนินเกวียน” หรือ “เพลงลาวดวงเดือน”นี้นับเป็นเพลงไทยเพลงหนึ่งที่มีความทันสมัยใหม่เสมอและยังคงอยู่ในความทรงจำและความประทับใจของคนไทยมาอย่างยาวนานมากกว่าศตวรรษ
รายการอ้างอิง
ชัยพัฒน์ อุดมมะนะ.สัมภาษณ์, ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๕.
พูนพิศ อมาตยกุลและคณะ. นามานุกรมศิลปินเพลงไทยในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์.
พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เรือนแก้ว,๒๕๓๒.
วาคภัฎศรีวรพจน์. ดุริยางคศิลปินชำนาญงาน สำนักการสังคีต กรมศิลปากร.สัมภาษณ์,
๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๕.
อัจยุติ สังข์เกษม. ดุริยางคศิลปิน สำนักการสังคีต กรมศิลปากร.สัมภาษณ์, ๘ กันยายน ๒๕๖๕.
(จำนวนผู้เข้าชม 2752 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน