วรรณกรรม เรื่องเงาะป่า สู่การแสดงของกรมศิลปากร
องค์ความรู้ จากสำนักการสังคีต
วรรณกรรม เรื่องเงาะป่า สู่การแสดงของกรมศิลปากร
เรื่องเงาะป่า เป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเป็นกลอนบทละคร แล้วเสร็จในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๔ พุทธศักราช ๒๔๔๘ นับเป็นบทละครที่ทรงคุณค่า สามารถนำมาแสดงเป็นละครได้อย่างดี มีคุณค่าครบทุกอรรถรส ดังปรากฏในบทชมธรรมชาติ บทรัก บทโศกเศร้า บทแค้น เป็นต้น ที่มาของเรื่องปรากฏตามพระราชนิพนธ์คำนำ คำเริ่ม และบทสุดท้ายของเรื่องที่ว่า
จะเริ่มร่างต่างว่าไปเที่ยวป่า ขึ้นสงขลาตามใจคิดหมายมุ่ง
แล้วลงเรือมาดใหญ่ไปพัทลุง ตามเขตคุ้งทะเลสาบคลื่นราบดี
แวะเกาะยอซื้อหม้อเขาปั้นขาย แล้วแจวกรายไปเที่ยวเลาะชมเกาะสี่
บรรลุถึงพัทลุงรุ่งราตรี ออกจากนี้ขึ้นช้างวางเข้าไพร
ถึงชายแดนแคว้นเขาเข้าหยุดพัก ที่วัดถ้ำสำนักคนอาศัย
เที่ยวเล่นตามถิ่นฐานบ้านพวกไทย เขาเล่าไขเรื่องเงาะที่เจาะจง
จึงวานช่วยพาไปให้ถึงทับ มันต้อนรับชื่นชมสมประสงค์
พบยายลมุดแก่แม่เฒ่าดง ชวนให้ตรงขึ้นไปนั่งยังนอกชาน
นายสินนุ้ยช่วยพุ้ยภาษาเงาะ ฟังก็เพราะคล้ายฝรั่งดังฉาดฉาน
ยายลมุดเล่าความตามเหตุการณ์ คล้ายนิทานเก่งเหลือไม่เบื่อเลย
จึงจดจำมาทำเป็นกลอนไว้ หวังมิให้ลืมคำร่ำเฉลย
แม้นใครอ่านคงจะคิดผิดเช่นเคย เงาะเงยก็ว่างามหลามแหลกไป
ที่แต่งไว้หวังจะให้เป็นคำเงาะ เห็นหมดเหมาะงดงามตามวิสัย
ผู้ใดจะใคร่ฟังเชิญตั้งใจ วางตัวไว้ว่าเป็นเงาะอย่าเยาะมันฯ
........................................
พระราชนิพนธ์เงาะป่าว่าตามเค้า คนังเล่าแต่งต่อล้อมันเล่น
ใช้ภาษาเงาะป่าว่ายากเย็น แต่พอเห็นเงื่อนเงาเข้าใจกัน
ทำแปดวันครั้นมาถึงวันศุกร์ สิ้นสนุกไม่มีที่ข้อขัน
วันที่สองของเดือนกุมภาพันธ์ ศกร้อยยี่สิบสี่มั่นจบหมดเอยฯ
..............................................
ดังความซึ่งปรากฏในพระราชนิพนธ์คำนำตอนต้นเรื่อง แม้จะทรงปรารภไว้ว่า “เอากระดาษมาเขี่ยๆ เรื่องที่ไม่เป็นแก่นสาร คุมเป็นเรื่องขึ้นเล่นพอให้เพลินใจ” ทั้ง “หนังสือ แต่งนี้ไม่ได้ตั้งใจจะเล่นละคร และไม่รู้ว่าจะดีเพราะแต่งเรื่องชาวป่า” พระราชประสงค์นั้นทรงหวังเพียงเพื่อใช้ร้องฟังกันเป็นสำคัญ เรื่องเงาะป่า ให้ความรู้ในหลากหลายแง่มุม องค์ประกอบแห่งวรรณคดีครบถ้วน สำนวนกลอนไพเราะ ซาบซึ้ง อีกทั้งยังให้แง่คิดในคติชนวิทยา วัฒนธรรมการดำรงชีวิต ที่ผู้อ่านมองเห็นภาพพจน์ของปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น
กรมศิลปากรได้จัดการแสดงละครเรื่องเงาะป่าเป็นครั้งแรกเนื่องในงานครบรอบ ๑๐๐ ปี แห่งการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๑ ณ โรงละครแห่งชาติ ซึ่งท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี เป็นผู้เรียบเรียงบท นายปัญญา นิตยสุวรรณ เป็นผู้ช่วย ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดง เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๑๑
การแสดงของกรมศิลปากร โดยสำนักการสังคีต จัดการแสดงตามบทพระราชนิพนธ์ ดำเนินเรื่องตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ ภายในระยะเวลา ๒ ชั่วโมง แบ่งออกเป็น ๓ องก์ ๗ ตอน คือ
องก์ที่ ๑ พบนาง
ตอนที่ ๑ ซมพลารำพึง
ตอนที่ ๒ พบนาง
องก์ที่ ๒ พิธีแต่งงาน
ตอนที่ ๑ เจ้าบ่าว
ตอนที่ ๒ เจ้าสาว
ตอนที่ ๓ แต่งงาน
องก์ที่ ๓ ตายเพราะรัก
ตอนที่ ๑ จากนาง
ตอนที่ ๒ ชิงรัก
(จำนวนผู้เข้าชม 12879 ครั้ง)