ตำนานท้าวเวสสุวัณ
องค์ความรู้ จากสำนักการสังคีต
การแสดงเบิกโรง เรื่อง ตำนานท้าวเวสสุวัณ
การแสดงเบิกโรง เรื่อง ตำนานท้าวเวสสุวัณ เป็นนาฏกรรมสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ของสำนักการสังคีต กรมศิลปากร แนวคิดและการออกรูปแบบการแสดงโดยนายจรัญ พูลลาภ นักวิชาการละครและดนตรีชำนาญการ ได้นำบทบาทและความเป็นมาของท้าวเวสสุวัณมาจากพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มาจัดทำเป็นบทนาฏกรรม ซึ่งไม่เคยมีจัดแสดงมาก่อน และเป็นการแสดงเบิกโรงชุดใหม่นอกเหนือจากที่กรมศิลปากรเคยจัดแสดงมา จัดแสดงครั้งแรกในรายการศรีสุขนาฏกรรม ประจำปี ๒๕๖๓ เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๙ และวันอาทิตย์ที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๓ ณ โรงละครแห่งชาติ
เรื่องราวท้าวเวสสุวัณ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวไว้ว่าเป็นบุตรพระฤษีวิศระวัส (วิศราวะ) หรือเปาลัสตยะกับนางธาดาหรือเทพวรรณี ธิดาพระภารทวาชมหาฤษี ตั้งแต่กำเนิดมามีร่างกายไม่งดงาม จึงมีอีกนามหนึ่งว่า “กุเวร” หมายถึง ตัวขี้ริ้ว อาศัยในป่าหิมพานต์เมื่อเจริญวัยได้บำเพ็ญตบะอยู่หลายพันปี
พระพรหมและพระอินทร์จึงพากันเสด็จลงมาโปรด ท้าวเวสสุวัณขอพรให้ตนมีฤทธิ์อำนาจเป็นผู้ดูแลมนุษย์โลก พระพรหมประทานพรให้ตามที่ขอ และมอบหน้าที่ให้เป็นโลกบาลประจำทิศอุดร (ทิศเหนือ) แล้วยังประทานบุษบก วิเศษสำหรับใช้เดินทางไปในอากาศตามต้องการ พระอินทร์เชิญให้ไปประทับยังพิมานชั้นจาตุมหาราชิกา เพราะเป็นที่สถิตของท้าวโลกบาล อีก ๒ องค์ คือพระวรุณและพระยม แต่ท้าวเวสสุวัณขอผัดผ่อนโดยให้เหตุผลว่า ต้องการอยู่ปรนนิบัติพระบิดาที่ชรามากแล้วไปจนกว่าจะละสังขาร
ต่อมาพระวิศระวัสผู้เป็นพระบิดาแนะนำให้ไปอยู่เมืองลงกา ซึ่งพระวิษณุกรรมได้สร้างขึ้นไว้ในปางก่อนเพื่อเป็นที่อยู่ของพวกรากษส แต่ได้ทิ้งร้างหนีไปอยู่บาดาลเพราะเกรงเดชพระนารายณ์ อยู่มามีพญารากษสตนหนึ่งชื่อ ท้าวสุมาลี ซึ่งถูกพระนารายณ์ขับไล่ลงไปอยู่บาดาล ได้ขึ้นมาเยี่ยมมนุษย์โลกเห็นท้าวเวสสุวัณขึ้นบุษบกลอยไปในอากาศเพื่อไปเฝ้าพระบิดา ก็มีใจริษยาคิดอุบายจะแย่งชิงและเอาพระนครลงกาคืน จึงใช้ให้ธิดา ชื่อ“ไกกะสี” ไปยั่วยวนพระฤษีวิศระวัส จนเป็นที่พอใจรับนางไว้เป็นชายา ให้กำเนิดบุตรธิดา คือ ท้าวราพณ์ (ทศกัณฐ์) กุมภกรรณ พิเภษณ์ (พิเภก) และนางศูรปนขา (สำมนักขา) นางไกกะสียุยงท้าวราพณ์ลูกชายให้ไปแย่งชิงเอาเมืองลงกาและบุษบก ท้าวเวสสุวัณสู้ไม่ได้จึงหลบหนีภัยออกจากกรุงลงกา แรมรอนมาในป่าแทบสิ้นชีวิต จนพระพรหมต้องเสด็จมาช่วยเหลือ สร้างเมืองใหม่ให้ทางทิศอุดร ชื่อว่า “อลกา” หรือมีชื่อเรียกอื่นๆว่า “ประภา”หรือ“วสุสถลี” (วสุธา) บ้าง เป็นเมืองทิพย์ มีอุทยานวิเศษรโหฐานชื่อว่า เจตระรถหรือเจตรถ อยู่บนเขามันทรอันต่อเนื่องกับเขาพระสุเมรุ พระนครและสวนขวัญ เป็นรมณียสถานสำราญ
ผู้ที่อยู่ในที่นั้นจะปราศจากโรค ความเหน็ดเหนื่อย ความวิตก ความหิว และไม่กลัวเกรงภัยต่าง ๆ มีอายุยืนถึงหมื่นปี ต้นไม้มีใบเป็นผ้าเนื้อดี มีดอกเป็นมณีมีค่าและมีผลออกเป็นนารี (นารีผล) เหล่าข้าบาทบริจา ในเมืองอลกาล้วนแต่เป็นกินรี กินรา จึงมีนามเรียกอีกว่า“มยุราช” (เจ้าแห่งมยุคือกินนร) นอกจากนี้ ยังประทานให้เป็นเจ้าแห่งทรัพย์สินทั้งหลายบนแผ่นดินโลกมนุษย์ จึงมีนามอีกนามหนึ่งว่า “ธนบดี” (หมายถึง เจ้าแห่งทรัพย์ทั้งหลาย) และให้อยู่เป็นอมฤตหรืออมตะ (ไม่มีตาย)
ท้าวเวสสุวัณ มีนามเรียกอีกว่า กุเวร เวสสวัณ ไพษรพน์ กุตนุ ยักษราช กำเนิดเป็นยักษ์ เชื้อสายพรหมพงศ์ มีกายสีขาว รูปร่างลักษณะค่อนข้างประหลาด ถืออาวุธ คือ กระบองยาว เพราะร่างกายพิการขาโกงมี ๓ ขา (ขาที่ ๓ หมายถึงกระบองยาว ที่ใช้ช่วยค้ำยันเวลาเดิน ซึ่งตั้งไว้ในลักษณะของไม้เท้าเพื่อให้ดูสวยงามภูมิฐาน เป็นยักษ์ที่ยึดถือคุณธรรม ในเรื่องรามเกียรติ์ได้กล่าวประวัติไว้ว่า ชื่อ “กุเปรัน” พี่ชายต่างมารดาของทศกัณฐ์ บทบาทปรากฏเพียงแค่ เมื่อถูกทศกัณฐ์แย่งชิงบุษบกไป ต่อจากนั้นก็มิได้กล่าวถึง
เรียบเรียง : นายจรัญ พูลลาภ นักวิชาการละครและดนตรีชำนาญการ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร
(จำนวนผู้เข้าชม 1172 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน