ละครนิทานพื้นบ้าน เรื่องนางสร้อยดอกหมาก
องค์ความรู้ : สำนักการสังคีต
ละครนิทานพื้นบ้าน เรื่องนางสร้อยดอกหมาก
“นิทานพื้นบ้าน” เป็นวรรณกรรมมุขปาฐะที่คนในชุมชนหรือสังคมหนึ่ง ๆ เล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน มีทั้งเรื่องจริงที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และเป็นนิทานเรื่องเล่าทั่วไปที่มุ่งเน้นความสนุกสนาน บางเรื่องเป็นนิทานประจำท้องถิ่น ที่บอกเล่าสืบต่อกันมาเพื่อเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ทำให้เกิดเรื่องราว ตำนาน ความเชื่อ อันจะนำไปสู่การสร้างคุณค่าให้คนในชุมชนเกิดการตระหนักและศรัทธา จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานด้วยรูปแบบต่าง ๆ ดังที่ นายเสรีหวังในธรรม ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ได้นำนิทานพื้นบ้านที่กล่าวถึงเรื่องราวความรักระหว่างเจ้าสายน้ำผึ้งและนางสร้อยดอกหมาก และจบลงด้วยโศกนาฏกรรมอันมีความเชื่อมโยงกับการสร้าง “วัดพนัญเชิง” จังหวัดพระนครศรีอยุธยามาจัดทำเป็นบทละครนิทานพื้นบ้านและกำกับการแสดง โดยเลือกผู้แสดงที่ผู้ชมนิยมชมชอบ อาทิ นายปกรณ์ พรพิสุทธิ์ รับบทเจ้าสายน้ำผึ้ง นางสาววันทนีย์ ม่วงบุญ รับบทนางสร้อยดอกหมาก และรองศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ รับบทบ้วนเซ็กลี้แสดงครั้งแรก ณ โรงละคร เอ.ยู.เอ เมื่อวันที่ ๑๗ - ๑๘ และ ๒๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๔ ในนามคณะเราคือคนไทย และจัดแสดงครั้งที่ ๒ เนื่องในงานดนตรีสำหรับประชาชน ณ สังคีตศาลา บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๑
ต่อมากรมศิลปากรได้นำละครนิทานพื้นบ้าน เรื่องนางสร้อยดอกหมากกลับมาจัดแสดงเป็นครั้งที่ ๓ เนื่องในโครงการจัดการแสดงนาฏศิลป์และดนตรีสัญจรของสำนักการสังคีต เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๖ณ วัดพนัญเชิงวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ตั้งของศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ณ บริเวณริมท่าน้ำภายในพื้นที่วัดพนัญเชิงวรวิหาร และครั้งที่ ๔ จัดแสดงเนื่องในงานสัปดาห์วันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๖๖ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๖ ณ เวทีกลางแจ้ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นำแสดงโดยศิลปินรุ่นใหม่ที่ได้รับการถ่ายทอดบทบาทตัวละครเอกจากผู้แสดงเดิม อาทิ นายพิพัฒน์ รจนากร ได้รับการถ่ายทอดบทเจ้าสายน้ำผึ้งจากนายปกรณ์ พรพิสุทธิ์ นางสาวกนกกาญจน์ ฤกษ์มาก ได้รับการถ่ายทอดบทนางสร้อยดอกหมากจากนางสาววันทนีย์ ม่วงบุญ โดยนายปกรณ์ พรพิสุทธิ์ เป็นผู้กำกับการแสดง และนายสุรพงศ์ โรหิตาจล ควบคุมการบรรเลงดนตรีและขับร้อง
รูปแบบการแสดง
รูปแบบการแสดงละครนิทานพื้นบ้านเรื่องนางสร้อยดอกหมากเป็นลักษณะละครที่มีการผสานท่ารำกับการแสดงกิริยาท่าทางตามธรรมชาติประกอบบทบาทไปตามเนื้อเรื่องดำเนินเรื่องด้วยการเจรจา การขับร้องสำหรับการแสดงในปัจจุบัน นางสาววันทนีย์ ม่วงบุญ ผู้ชำนาญการศิลปะการแสดง สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ได้นำบทเจรจาของเดิมบางส่วนมาปรับฉันทลักษณ์เป็นกลอนบทละคร (กลอนแปด)และผู้เชี่ยวชาญด้านดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต บรรจุทำนองเพลงใหม่ นอกจากนี้ยังได้นำระบำจีนชุด “ระบำสาวชมดอกท้อ” ซึ่งเป็นระบำชุดเอกเทศที่เคยจัดแสดงในรายการดนตรีไทยไร้รสหรือ มาแสดงในฉากอุทยานเมืองจีน เพื่อเพิ่มอรรถรสให้ละครเกิดความน่าชมมากยิ่งขึ้นการแสดงใช้วงปี่พาทย์บรรเลงประกอบการแสดง โดยเพิ่มอุปกรณ์ประกอบจังหวะ ได้แก่ กลองจีน ต๊อก แต๋ว ซอเอ้อหู เพื่อบรรเลงสำเนียงทำนองจีน ผู้แสดงแต่งกายตามท้องเรื่องและตามลักษณะเชื้อชาติไทย - จีนโดยคำนึงถึงฐานะของตัวละครมีการเปลี่ยนฉากตามท้องเรื่อง
เนื้อเรื่องการแสดง
เรื่องราวกล่าวถึงพระเจ้าน่ำฮอง เจ้ากรุงจีน มีพระธิดาบุญธรรมที่คนนำมาทิ้งไว้ในกาบหมาก แล้วตั้งชื่อให้ว่า “สร้อยดอกหมาก”ครั้นเจริญวัยขึ้นนางได้รักกับบ้วนเซ็กลี้ แต่ถูกพระเจ้าน่ำฮองกีดกัน เนื่องด้วยอาฆาตแค้นพ่อของบ้วนเซ็กลี้ที่มาแย่งชิงหญิงคนรัก จนทำให้พระองค์ไม่ยอมอภิเษกกับหญิงอื่น ซึ่งความลับนี้มีแต่แม่นมเช็งที่ทราบเรื่องว่าแท้จริงแล้วนางสร้อยดอกหมากไม่ได้เป็นพระธิดาของพระเจ้าน่ำฮอง แต่ในที่สุดนางสร้อยดอกหมากก็รู้ความลับนี้ ส่วนพระเจ้าน่ำฮองคิดถึงอนาคตของนางสร้อยดอกหมากจึงไปหาไต้ซืออากุงให้ทำนายดวงชะตาของพระธิดา และได้ทราบว่านางนั้นจะได้คู่ครองเป็นเจ้ากรุงไทย นามว่า “เจ้าสายน้ำผึ้ง”ดังนั้น พระองค์จึงมีราชสาส์นเชิญเจ้าสายน้ำผึ้งเสด็จมาที่จีน และยกนางสร้อยดอกหมากพระธิดาให้เป็นชายา
หลังจากการอภิเษกนางสร้อยดอกหมากแล้ว เจ้าสายน้ำผึ้งจึงลากลับเมืองไทยและให้นางสร้อยดอกหมากตามกลับไปภายหลัง โดยสัญญาว่าจะมารอรับนางด้วยพระองค์เอง ครั้นเรือของนางมาเทียบท่าที่บางกะจะ (บริเวณหน้าวัดพนัญเชิงในปัจจุบัน) เจ้าสายน้ำผึ้งไม่ได้เสด็จมารับดังที่ให้สัญญาไว้ แต่ส่งขบวนเกียรติยศมารับแทน จึงเป็นเหตุให้นางสร้อยดอกหมากน้อยพระทัย ด้วยคิดว่าตนเองมิได้เป็นลูกกษัตริย์ ไม่มีเกียรติพอที่เจ้าสายน้ำผึ้งจะเสด็จมารับ จึงไม่ยอมขึ้นจากเรือ ทั้งฝากความกับทหารคนสนิทไปว่า “ถ้าเจ้าสายน้ำผึ้งไม่มารับด้วยตัวเอง เป็นตายอย่างไรก็ไม่ไป” ทหารคนสนิทจึงนำความดังกล่าวกราบทูลเจ้าสายน้ำผึ้ง แต่เจ้าสายน้ำผึ้งคิดจะหยอกเย้านางเล่นจึงให้ทหารกลับไปแจ้งว่า “ถ้าไม่มาจะอยู่แต่ที่นั่นก็ตามใจ” ด้วยคำพูดนี้เพิ่มความน้อยใจ และเสียใจให้กับนางสร้อยดอกหมากยิ่งนักในที่สุดนางจึงกลั้นใจตาย
ครั้นเจ้าสายน้ำผึ้งทราบเรื่องจึงให้อัญเชิญพระศพของพระนางขึ้นมาจากเรือพร้อมทั้งให้สร้างพระอารามเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึง โดยตั้งชื่อว่า “วัดพระนางเชิง” อันหมายถึง “พระนางผู้มีแง่งอน”สืบแต่นั้นมา
บทความโดย ธัญนัฏกร กล่ำแดง นักวิชาการละครและดนตรีปฏิบัติการ สำนักการสังคีต
รายการอ้างอิง
วันทนีย์ ม่วงบุญ. ผู้ชำนาญการศิลปะการแสดง สำนักการสังคีต กรมศิลปากร. สัมภาษณ์. ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๖.
สุรพงศ์ โรหิตาจล. ดุริยางคศิลปินอาวุโส สำนักการสังคีต กรมศิลปากร. สัมภาษณ์. ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๖.
ภาพถ่าย
กลุ่มวิจัยและพัฒนาการสังคีต สำนักการสังคีต กรมศิลปากร
(จำนวนผู้เข้าชม 2793 ครั้ง)