บ่อเกิดแห่งละครเสภา เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพระไวยแตกทัพ
บ่อเกิดแห่งละครเสภา เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพระไวยแตกทัพ
"ขุนช้างขุนแผน” เป็นวรรณคดีที่มีเค้าจากเรื่องจริงในสมัยกรุงศรีอยุธยาพัฒนามาจากนิทานประกอบคำกลอนแบบเป็นตอนมาเป็นนิทานคำกลอนที่ใช้การขับเสภา และการขับร้อง มีวิวัฒนาการจากนิทานพื้นบ้านมาเป็นวรรณคดีราชสำนักในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีการเผยแพร่การพิมพ์ครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยโรงพิมพ์หมอสมิท ต่อมาพุทธศักราช ๒๔๖๐ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงชำระวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งมีการประพันธ์เนื้อเรื่องขึ้นใหม่ และตัดเนื้อหาในบางส่วน รวบรวมจัดพิมพ์ และเผยแพร่ทั้งหมด ๔๓ ตอน ให้เป็นฉบับแบบแผนที่สืบทอดมาจนทุกวันนี้ ด้วยความสำคัญของวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๓ ในสาขาวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา ประเภทนิทานพื้นบ้าน เพื่อให้วรรณคดีเรื่องนี้ได้รับการศึกษาและอนุรักษ์ เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติอย่างยั่งยืนสืบไป นอกจากนี้ขุนช้างขุนแผนยังเป็นวรรณคดีที่ได้รับความนิยมเรื่องหนึ่งจึงถูกหยิบยกนำมาจัดการแสดงในรูปแบบภาพยนตร์ ละครเวที ละครโทรทัศน์ และละครเสภาอย่างต่อเนื่อง
ละครเสภามีวิวัฒนาการมาจากการขับเสภา ที่นิยมนำเรื่องราวของวรรณคดีต่างๆ มาขับเสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องขุนช้างขุนแผน แต่เดิมการขับเสภาไม่มีดนตรีประกอบ ผู้ขับเป็นผู้ขยับกรับสอดแทรกในทำนองขับเสภาของตนเท่านั้น ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดการขับเสภาเป็นอย่างยิ่ง จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีวงปี่พาทย์บรรเลงประกอบ มีการแทรกเพลงสำหรับร้องส่งให้ปี่พาทย์รับในบทที่สมควรแก่การขับร้อง ส่วนบทที่เห็นว่าเป็นการดำเนินเรื่องก็ให้ใช้ขับเสภา ส่วนตอนใดเป็นบทสู้รบและอื่นๆ ปี่พาทย์ก็จะบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ประกอบบทนั้น ๆ เมื่อการขับเสภามีทั้งเพลงร้องและการบรรเลงเพลงหน้าพาทย์เช่นนี้ จึงมีวิวัฒนาการโดยให้ตัวละครมาแสดงตามบทเหมือนกับการแสดงละครนอก เรียกการแสดงเช่นนี้ว่า “ละครเสภา”
พุทธศักราช ๒๔๙๒ นายธนิต อยู่โพธิ์ ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองการสังคีต กรมศิลปากร ได้เล็งเห็นความสำคัญของละครเสภา เรื่องขุนช้างขุนแผน โดยปรารภที่จะให้ศิลปินและนักเรียนนาฎศิลป ในกองการสังคีต กรมศิลปากร และโรงเรียนนาฏศิลป ฝึกหัดบทบาทลีลาท่ารำตามแบบละครไทยที่นิยมกันว่างดงาม นอกจากนั้นยังให้ฝึกหัดท่ารำท่าเต้นกระบี่กระบอง อันเป็นศิลปะแบบ War Dance หรือระบำวีรชัย ซึ่งนิยมดัดแปลงให้เข้ากับท่าทางนาฏศิลป์ จากนั้นจึงได้ค้นคว้าบทละครเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพระไวยแตกทัพ สำนวนของหลวงพัฒนพงศ์ภักดี ที่ท่านเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงสั่งให้ประพันธ์บทละครเพื่อให้คณะละครของท่านแสดง และบทละครสำนวนของนางมัลลี คงประภัศร์ ซึ่งเป็นบทละครที่ปรับปรุงมาจากบทของท่านเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงเช่นกันกัน จากนั้นถวายบทละครให้หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล กับหม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุ ดิศกุล ทรงนำไปปรับกับบทเสภาขึ้นใหม่ เพื่อให้เหมาะสมแก่การแสดงมากยิ่งขึ้น ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ๒๔๙๒ นายธนิต อยู่โพธิ์ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล หม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุ ดิศกุล ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ศิลปินแห่งชาติ นายมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ จึงได้ร่วมกันปรับปรุงบทละคร พร้อมทั้งบรรจุเพลงที่บ้านท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี แล้วจึงจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มบทละครสำหรับฝึกซ้อมศิลปินและนักเรียน นาฏศิลป ของกรมศิลปากร
ละครเสภา เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพระไวยแตกทัพ จัดการแสดงครั้งแรกเมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๒ ณ โรงละคอนศิลปากร ทุกวันศุกร์ วันเสาร์ วันอาทิตย์ เวลา ๑๔.๐๐ น. และ ๒๐.๐๐ น. ในวันอาทิตย์จะเพิ่มรอบเช้าเวลา ๑๐.๐๐ น. ซึ่งฝึกหัดนาฏศิลปินโดยท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ศิลปินแห่งชาติ และครูนาฏศิลปิน ของกรมศิลปากร ฝึกซ้อมการบรรเลงและขับร้องโดยหม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุ ดิศกุล และนายมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ ออกแบบและสร้างฉากโดยหม่อมเจ้าหญิงพิไลเลขา ดิศกุล และนายโหมด ว่องสวัสดิ์ ศิลปินแห่งชาติ ออกแบบเครื่องแต่งกายโดยหม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย ดิศกุล และท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี การจัดการแสดงละครในครั้งนี้ได้กำหนดผู้แสดงในบทบาทตัวละครเอกจำนวน ๒ ชุด คือ ชุดศิลปินชาย และชุดศิลปินหญิง ผลัดเปลี่ยนกันแสดงชุดละ ๑ สัปดาห์ อันมีรายนาม ดังนี้
ชุดศิลปินชาย
พระพันวษา นายอร่าม อินทรนัฏ
พระไวย นายอาคม สายาคม
ขุนแผน นายยอแสง ภักดีเทวา
พลายชุมพล (ไทย) นายธีรยุทธ ยวงศรี
พลายชุมพล (มอญ) นายจำนง พรพิสุทธิ์
พระยากลาโหม นายกรี วรศะริน
เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ นายบุญชัย เฉลยทอง
ชุดศิลปินหญิง
พระพันวษา นางส่องชาติ ชื่นศิริ ศิลปินแห่งชาติ
พระไวย นางสุวรรณี ชลานุเคราะห์ ศิลปินแห่งชาติ
ขุนแผน นางประทิน พวงสำลี
พลายชุมพล (ไทย) นางศิริวัฒน์ ดิษยนันทน์ ศิลปินแห่งชาติ
พลายชุมพล (มอญ) นางสินีนาฏ โพธิเวส
พระยากลาโหม นางวิไล เศษโชติ
เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ นางสาวปราณี สำราญวงศ์
ปัจจุบันสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ยังคงอนุรักษ์ สืบทอดรูปแบบ วิธีการแสดง การกำหนดผู้แสดง และกระบวนท่ารำของตัวละครในการแสดงละครเสภา เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพระไวยแตกทัพ พร้อมทั้งพัฒนา สร้างสรรค์ ต่อยอดทางด้านองค์ประกอบการแสดงด้วยระบบฉาก แสง เสียง ที่ทันสมัย ก่อให้เกิดอรรถรสในการชมการแสดงมากยิ่งขึ้น
การแสดงละครเสภา เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพระไวยแตกทัพ ในรอบพิเศษนี้ยังได้การกำหนดผู้แสดงบทบาทตัวละครเอกชุดศิลปินชายและชุดศิลปินหญิงตามรูปแบบการจัดการแสดงในครั้งแรกเมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๒ ซึ่งจัดการแสดงในวันเสาร์ที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๕ (ชุดศิลปินชาย หญิง) และวันอาทิตย์ ๖ มีนาคม ๒๕๖๕ (ชุดศิลปินหญิง) เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ โรงละครแห่งชาติ กำกับการแสดงโดย ปกรณ์ พรพิสุทธิ์
บัตรราคา ๒๐๐, ๑๕๐, ๑๐๐ บาท เริ่มจำหน่ายบัตรตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ณ ห้องจำหน่ายบัตร โรงละครแห่งชาติ และจำหน่ายบัตรออนไลน์ที่ https://ntt.finearts.go.th นอกจากนี้ท่านที่ซื้อบัตรชมการแสดงทั้งสองรอบจะได้รับของที่ระลึกสุดพิเศษจากศิลปิน กรมศิลปากร
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม (วันและเวลาราชการ) โทร. ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๔๒ และ ๐ ๒๒๒๑ ๐๑๗๑
ทั้งนี้การจัดการแสดงอยู่ภายใต้มาตรการป้องกันโรคตามแผนมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยและมาตรการที่ทางราชการกำหนด
เรียบเรียงโดยนายรัฐศาสตร์ จั่นเจริญ นักวิชาการละครและดนตรีชำนาญการ กลุ่มวิจัยและพัฒนาการสังคีต
ข้อมูลอ้างอิง
๑. กรมศิลปากร, สูจิบัตรการแสดงละคอน เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพระไวยแตกทัพ นำออกแสดงที่โรงละคอนศิลปากร, พ.ศ. ๒๔๙๓.
๒. กรมศิลปากร, บทละคอน เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพระไวยแตกทัพ จัดพิมพ์ขึ้นไว้สำหรับฝึกซ้อมศิลปินและนักเรียนนาฏศิลป, พ.ศ. ๒๔๙๒.
๓. Dhanit Yupho, THE KHON and LAKON by DHANIT YUPHO Dance Dramas Present by THE DEPARTMENT OF FINE ARTS, B.E 2506
ดาวน์โหลดไฟล์: ภาพประกอบ.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ภาพประกอบ.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ภาพประกอบ.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ภาพประกอบ.jpeg
(จำนวนผู้เข้าชม 15656 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน