
พุทธวจนสถาบัน. พุทธวจน-หมวดธรรม เปิดธรรมที่ถูกปิด ฉบับ ๙ ปฐมธรรม. ปทุมธานี: มูลนิธิพุทธโฆษณ์, ๒๕๖๓. ๓๒๙ หน้า. ภาพประกอบ.
ไม่แปลกที่นักวิชาการทางโลก มักจะจัดหมวดหมู่ธรรมะ ไปตามความเข้าใจจากการคิดเชิงวิเคราะห์แบบแบ่งย่อยแยกส่วน เพราะนั่นคือฐานวิธีการเข้าหาความจริงของวิทยาศาสตร์ตะวันตก ซึ่งถูกใช้เป็นแม่แบบ ในกระบวนการศึกษา ของทุกๆ สาขาวิชาทางโลก เมื่อมองจากจุดยืนนั้น หนังสือพุทธวจนฉบับปฐมธรรมนี้ อาจจะถูกเข้าใจได้ว่า เป็นหนังสือธรรมะหมวดทั่วไป สำหรับฆราวาส เพราะว่า ชื่อหัวข้อเรื่องต่างๆ นั้น ค่อนข้างเอนไปในแง่ของหลักปฏิบัติ ในชีวิตประจำวันซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นปกติสุข ความเข้าใจในลักษณะนี้ มีความถูกต้องเพียงมิติเดียว จริงอยู่ว่า การปฏิบัติตนที่ถูกต้อง ตามหลักคำสอนต่างๆ สามารถสร้างสังคมที่เป็นปกติสุขได้ ปัญหามีอยู่ว่า หากเพียงมุ่งสร้าง สังคมโลกที่สงบสุขน่าอยู่ หรือเพียงเพื่อดูแลชีวิตของตนเองให้ดีแค่นั้น การมีขึ้นของอรหันตสัมมาสัมพุทธะก็ไม่มีจำเป็นแต่อย่างใด เพราะว่า ทุกสังคมเชื้อชาติ ต่างก็มีลัทธิความเชื่อ และหลักคำสอนที่เป็นไปเพื่อ ความสงบสุขแบบโลกๆ กันอยู่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น นั่น ยังทำให้โอกาส ของการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และการได้มาพบคำสอนของพระพุทธเจ้า กลับกลายเสมือนเป็นความสูญเปล่าเสียไปด้วย จุดสำคัญมีอยู่ว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ทั้งหมด นับตั้งแต่ราตรีที่ทรงตรัสรู้ ไปจนถึงปัจฉิมวาจา ก่อนปรินิพพานนั้น ไม่ว่าจะปรากฏเป็นเรื่องลึก หรือตื้น ต่อบุคคลผู้สดับอยู่ อย่างไรก็ตาม ต่างก็สะท้อนอานิสงส์ โน้มเอียงไปสู่จุดหมายอย่างเดียวกันในที่สุด คือเป็นเรื่องที่นำไปสู่ความหลุดพ้นจากชาติ ชรา มรณะ ด้วยกันทั้งสิ้น. ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงได้ว่า วิธีปฏิบัติตนต่อบุคคลแวดล้อม (ทิศ ๖) หรือ หลักวิธีการใช้จ่ายทรัพย์ หรือ แม้กระทั่งเรื่องของศีล คือ หลักการกระทำ ที่ไม่เบียดเบียนกันนั้น เกี่ยวข้อง และนำ ไปสู่ การหลุดพ้นจากชาติ ชรา มรณะ ได้อย่างไร. พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงยืนยันด้วยพระองค์เองว่า เพราะเหตุใดก็ตาม ที่ทำให้ ๓ สิ่งนี้ คือ ชาติ ชรา มรณะ มีอยู่ในโลก เพราะเหตุนั้นนั่นเอง จึงมีการบังเกิดขึ้น ของอรหันตสัมมาสัมพุทธะ จึงเป็นเรื่องท้าทายสำ หรับชาวพุทธ ในแง่มุมที่ว่า ทุกวันนี้ เราศึกษาพุทธวจน ในระดับที่สามารถเปิดจุดเชื่อมโยงธรรม ที่ซ้อนทับเกี่ยวเนื่องกันอยู่ได้หรือไม่ และ เราใช้ประโยชน์จากคำสอน ของพระพุทธเจ้า ได้ถึงอานิสงส์ที่มุ่งหมายอย่างแท้จริงแค่ไหน. คณะผู้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ขอนอบน้อมสักการะ ต่อ ตถาคต ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ และ ภิกษุสาวกในธรรมวินัยนี้ ตั้งแต่ครั้งพุทธกาล จนถึงยุคปัจจุบัน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสืบทอดพุทธวจน คือ ธรรม และวินัย ที่ทรงประกาศไว้ บริสุทธิ์บริบูรณ์ดีแล้ว
ห้องทั่วไป ๑
๒๙๔.๓๑๕
พ๘๓๕พ
(จำนวนผู้เข้าชม 10 ครั้ง)