...

เส้นทางรถไฟหลวงสายแรกของไทย


 

          หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี ชวนผู้อ่านไปค้นพบหลากหลายเรื่องราวความรู้ที่น่าสนใจจากหนังสือกรมศิลปากร วันนี้ขอนำเสนอเรื่อง “เส้นทางรถไฟหลวงสายแรกของไทย”

          การดำเนินงานเกี่ยวกับการรถไฟของไทยเริ่มมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมรถไฟขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2433 สังกัดกระทรวงโยธาธิการ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นเสนาบดี และได้ดำเนินการว่าจ้างนายคาร์ล เบทเก (Karl Bethge) วิศวกรชาวเยอรมันเป็นเจ้ากรมรถไฟคนแรก ทำหน้าที่ควบคุมการสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ซึ่งเป็นทางรถไฟสายแรกของรัฐบาล โดยทำสัญญาจ้างกำหนดเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2433
          หลังจากนั้นมีการเปิดประมูลการก่อสร้างทางรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา โดย นายจี. เมอร์เรย์ แคมป์เบลล์ (G. Murray Campbell) ชาวอังกฤษ
เป็นผู้ประมูลได้ในราคา 9,956,164 บาท การก่อสร้างทาง
รถไฟสายนี้ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2434 ซึ่งกรมรถไฟได้ขยายการเดินรถถึงแก่งคอยเมื่อ พ.ศ. 2440 และการสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมาได้เสร็จเรียบร้อยและเปิดการเดินรถสายนครราชสีมาตลอดสายเมื่อ พ.ศ. 2443

          ผู้อ่านที่สนใจเรื่องราวของการก่อสร้างเส้นทางรถไฟหลวงสายแรก และผลงานของ นายคาร์ล เบทเก เจ้ากรมรถไฟคนแรกของสยาม สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่หนังสือ “ประวัติและผลงานของชาวต่างชาติในประเทศไทย เล่ม 4” ณ ห้องศิลปากรและหนังสือหายาก หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี

 

ข้อมูลอ้างอิงและภาพประกอบ

กรมศิลปากร สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์.  ประวัติและผลงานของชาวต่างชาติในประเทศไทย เล่ม 4.  กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, 2566.

(จำนวนผู้เข้าชม 41 ครั้ง)