กบอกหนาม
จังหวัดจันทบุรีเป็นหนึ่งในจังหวัดที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศไทย และมีลักษณะภูมิประเทศ ตั้งแต่ชายฝั่งทะเลไปจนถึงภูเขาสูงและป่าเขียวขจี ทำให้จันทบุรีเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์หลายชนิด หนึ่งในสัตว์ที่น่าสนใจที่พบคือ กบอกหนาม ซึ่งในประเทศไทยพบได้ที่เขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี
กบอกหนามเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำชนิดหนึ่งที่พบครั้งแรกที่บริเวณเขาสอยดาวใต้ อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ในปี พ.ศ. 2504 ด้วยลักษณะพิเศษของผิวหนังที่หยาบขรุขระเป็นปุ่มปม ทำให้ในช่วงแรกๆ ผู้ที่พบคิดว่าเป็นคางคก แต่เมื่อได้รับความร่วมมือในการศึกษาค้นคว้าจากพิพิธภัณฑ์ฟิลด์แห่งสหรัฐอเมริกา จึงได้ทราบว่าเป็นกบชนิดใหม่ของโลก และได้รับการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rana fasciculispina อยู่ในวงศ์ Ranidae ชื่อที่ใช้เรียกทั่วไปคือ Spiny-breasted Frog ที่สะท้อนถึงลักษณะเด่นของกบตัวผู้ที่มีหนามสีดำบริเวณอก เป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้มันแตกต่างจากกบชนิดอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน
กบอกหนามมักอาศัยอยู่ในป่าดิบชื้น ตามริมลำธารที่น้ำไหลแรงตลอดปี โดยเฉพาะในบริเวณที่มีหินขนาดใหญ่ที่พวกมันใช้วางไข่และแฝงตัวอยู่ ลูกกบจะเกาะตามก้อนหินใกล้ระดับน้ำและสามารถว่ายน้ำได้เร็วพอสมควร กบที่มีขนาดใหญ่จะพบได้บริเวณที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้น้ำตกหลายชั้น ในการหากิน กบอกหนามมักจะออกหากินในเวลากลางคืน และจะผสมพันธุ์ในช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม
การค้นพบกบอกหนามทำให้ได้เห็นถึงความหลากหลายและความมหัศจรรย์ของธรรมชาติในจังหวัดจันทบุรี การค้นพบครั้งนี้ยังถือเป็นการย้ำเตือนให้เราเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เปราะบางในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย หากเรารักษาและดูแลทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เราจะสามารถรักษาความหลากหลายทางชีวภาพที่มีค่าเหล่านี้ไว้ได้ต่อไป ท่านผู้อ่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ในหนังสือเกี่ยวกับจังหวัดจันทบุรี ที่ห้องจันทบุรี หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี
แหล่งอ้างอิง
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. กบอกหนาม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2568, จาก
https://www.facebook.com/DNP1362/posts/2830558683925688/?locale=th_TH
จันทบุรี. กรุงเทพฯ: สารคดี, 2538.
วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดจันทบุรี. กรุงเทพฯ: กระทรวงศึกษาธิการ, 2544.
เรียบเรียงโดย
นางสาวทิพวรรณ จันทร์ปัญญา บรรณารักษ์ปฏิบัติการ
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี
สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี กรมศิลปากร
(จำนวนผู้เข้าชม 32 ครั้ง)