เนื่องจากในวันที่ ๑๓ มีนาคม ที่ใกล้จะถึงนี้ เป็น “วันช้างไทย” เพื่อระลึกถึงความสำคัญของ “ช้าง” ซึ่งเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองที่มีบทบาทสำคัญต่อสังคมไทยมาอย่างยาวนาน นอกจากคุณประโยชน์ของช้างที่มีต่อระบบนิเวศของป่า และการใช้แรงงานช้างในการช่วยทำงานต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันแล้ว ช้างยังมีบทบาทด้านคติความเชื่อ
ด้านการเมืองการปกครอง ด้านการศึกสงคราม ด้านการต่างประเทศ ด้านเศรษฐกิจและการค้า ด้านพระราชพิธี และประเพณีต่าง ๆ ของไทย หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี ขอนำเสนอ “๗ เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับช้าง” และบทบาทเชิงสัญลักษณ์ของช้างที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยในหลากหลายมิติ
๑. “ช้างต้น” รัตนะคู่พระบารมีขององค์พระมหากษัตริย์ไทย
แต่เดิมจากคติความเชื่อเรื่องช้างในดินแดนเอเชียอาคเนย์รวมทั้งประเทศไทยมีความเชื่อว่า ช้างเป็นสัตว์สำคัญ เป็นสัตว์คู่บุญบารมีของพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะช้างเผือก ซึ่งเป็นช้างที่มีลักษณะพิเศษหรือเป็นมงคลนั้น เชื่อว่าจะนำสิริมงคลอันอุดมให้แก่บ้านเมือง ทั้งธัญญาหาร ภักษาหาร และพระบารมีเกริกไกรอันยิ่งใหญ่แก่แผ่นดิน
อาณาประชาราษฎร์จะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข และจะเกิดขึ้นด้วยบุญบารมีแห่งองค์พระมหากษัตริย์แห่งแคว้นประเทศนั้น
ช้างต้น หมายถึง ช้างที่ได้รับการขึ้นระวางเป็นช้างหลวงส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งใช้ในพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ทั้งเป็นช้างศึก ช้างพระราชพาหนะ และช้างคู่พระบารมี ต่อมาบทบาทของช้างในด้านการศึกสงครามลดลง เนื่องจากยุทธวิธีการรบเปลี่ยนแปลงไป และการเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ต่าง ๆ ทรงใช้พระราชยานพาหนะประเภทอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ช้างต้นในปัจจุบันจึงหมายถึงช้างสำคัญ และช้างเผือกคู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์เท่านั้น
๒. ธงช้างเผือก สัญลักษณ์แทนสยามประเทศ
ในยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ให้ความสำคัญแก่ช้างเผือกในฐานะเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ โดยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ รัฐบาลไทยได้ส่งเรือสินค้าออกไปค้าขายในต่างประเทศ แต่ยังไม่มีธงแสดงสัญชาติไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำรูปช้างสีขาวอยู่ในวงจักรสีขาวติดไว้กลางผืนธงสีแดงสำหรับชักขึ้นบนเรือกำปั่นหลวงที่แต่งไปค้าขายยังนานาประเทศ และเป็นมูลเหตุที่ใช้ธงช้างเป็นธงสำหรับชาติไทยตั้งแต่นั้นมา ต่อมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้สถาปนาธงชาติไทยขึ้นเป็นครั้งแรก โดยนำธงรูปช้างสีขาวอยู่ในวงจักรสีขาวบนพื้นสีแดง ซึ่งใช้เป็นเครื่องหมายถึงพระมหากษัตริย์ออก คงเหลือไว้แต่รูปช้างสีขาวคือช้างเผือกอยู่ตรงกลางผืนธงสีแดง จนถึงรัชกาลที่ ๖ ได้มีการสถาปนาใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังมีหน่วยงานราชการบางแห่งที่ยังคงใช้ธงซึ่งมีรูปช้างเผือกอยู่ เช่น ธงราชนาวีไทยของกองทัพเรือ
๓. ช้างในตราแผ่นดิน
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย ทรงผูกตราประจำประเทศขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ โดยอิงกับหลักการผูกตราของทางยุโรปที่เรียกกันว่า Heraldry ตรานี้เรียกกันโดยทั่วไปว่า ตราแผ่นดินหรือตราอาร์ม มีสัญลักษณ์ต่าง ๆ คือ พระมหาพิชัยมงกุฎมีรัศมีและนพปฎลเศวตฉัตร จักรีและตรี โล่รองมีรูปช้างสามเศียร ช้างยืนแท่นและกริช ล้อมรอบด้วยราชสีห์ คชสีห์ สังวาลย์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฉลองพระองค์ครุย และเครื่องราชกกุธภัณฑ์พร้อมทั้งคาถา โดยในสัญลักษณ์จะเห็นได้ว่าช้างสามเศียรนั้นแทนราชอาณาจักรไทย (สยาม) จากแผ่นดินนี้ใช้มาจนถึง พ.ศ. ๒๔๓๖ จึงได้เปลี่ยนเป็นตราครุฑ
๔. “พระสมุดตำราแผนคชลักษณ์” เอกสารโบราณทรงคุณค่า ว่าด้วยเรื่องลักษณะของช้าง
“พระสมุดตำราแผนคชลักษณ์” เป็นต้นฉบับหนังสือสมุดไทยซึ่งเก็บรักษาไว้ที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ มีศักราชปรากฏบ่งชี้ว่าเก่าแก่ที่สุด แต่งเมื่อจุลศักราช ๑๑๑๐
ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นหนังสือสมุดไทยขาวลงรักปกให้เป็นสีดำ เขียนเส้นอักษรด้วยเส้นหมึก และเขียนภาพช้างประกอบแทรกในเนื้อหา มีขนาดกว้าง ๑๑ เซนติเมตร ยาว ๓๔.๕ เซนติเมตร เนื้อหาส่วนใหญ่กล่าวถึงลักษณะของช้างตระกูลต่าง ๆ ทั้งช้างศุภลักษณ์ คือช้างที่มีลักษณะดีเป็นมงคล และช้างทุรลักษณ์หรือทรลักษณ์ คือช้างที่มีลักษณะไม่ดี ไม่เป็นมงคล เนื้อหาสาระว่าด้วยเรื่องช้างในตำราฉบับนี้มีความน่าเชื่อถือค่อนข้างสูงมาก เพราะผู้แต่งมีตำแหน่งเป็นข้าราชการที่ทำงานในกรมคชบาล จึงสามารถนำไปใช้เป็นต้นแบบในการตรวจสอบความถูกต้องได้เป็นอย่างดี
๕. ช้างในวรรณคดีไทย
ช้างเป็นสัตว์ที่มีบทบาทสำคัญต่อสังคมไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสัญลักษณ์แทนพระราชอำนาจของกษัตริย์ และความเป็นศิริมงคลของบ้านเมือง มีความสำคัญในพระราชพิธีต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของช้างที่ปรากฏในงานพระราชพิธี และการกล่าวถึงลักษณะของช้างผ่านวรรณคดีไทยหลายเรื่อง เช่น
“โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส” เนื้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงพระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน หรือ การแห่ช้าง
“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” เนื้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงช้างเผือกแต่ละตระกูล
“บทละครเรื่องรามเกียรติ์” เนื้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงช้างเอราวัณ ซึ่งอินทรชิตให้ทหารจำแลงกายล่อลวงกองทัพของพระราม
“บทละครเรื่องอุณรุท” เนื้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงคชลักษณ์ของช้างเผือก และแทรกพิธีกรรมคล้องช้างไว้ในเรื่องด้วย
“พระราชพิธีสิบสองเดือน” เนื้อความตอนหนึ่งกล่าวถึง พระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน มีการแห่ช้างและช้างพระที่นั่ง
“สมุทรโฆษคำฉันท์” เนื้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงตอนที่หมอเฒ่าทำพิธีเบิกไพรวังช้าง พรรณนาถึงช้างทุรลักษณ์และช้างศุภลักษณ์
๖. มองช้าง...ผ่านภาพจิตรกรรมทางศาสนา
หลักฐานรูปช้างที่มีปรากฏในงานพุทธศิลปกรรมเริ่มมีขึ้นในอินเดียเมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ ปีก่อน อินเดียได้นำเอาคติความเชื่อเผยแพร่ผ่านทางศาสนาฮินดูและพุทธศาสนามายังสุวรรณภูมิ โดยให้ช้างอยู่ในฐานะสัตว์สัญลักษณ์แห่งอำนาจบารมีในรูปของเทพเจ้าและผู้หนุนนำพระศาสนา เป็นสัญลักษณ์ที่เป็นมงคลต่อการบำเพ็ญทานบารมีและความศักดิ์สิทธิ์ ดังปรากฏเรื่องราวในพุทธประวัติ ชาดก และศาสนพิธีต่าง ๆ ที่สะท้อนภาพผ่านจิตรกรรมฝาผนังอันวิจิตรบรรจง นอกจากเรื่องราวทางพุทธศาสนาแล้ว ภาพจิตรกรรมฝาผนังบางภาพยังสะท้อนถึงบทบาทด้านต่าง ๆ ของช้างในสังคมไทยทั้งการศึกสงคราม งานพระราชพิธี การต่างประเทศ การคมนาคมและการค้า การใช้งานในชีวิตประจำวัน ตลอดจนลักษณะของช้างตามตำราคชลักษณ์
๗. “พระพิฆเนศวร์” ช้างในฐานะเทพเจ้า
“พระพิฆเนศวร์” หรือ “พระคเณศ” เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งในศาสนาฮินดู มีกำเนิดจากพระศิวะและแม่อุมาปารวตี ลักษณะที่สำคัญของพระพิฆเนศวร์ คือเป็นเทพที่มีพระเศียรเป็นช้าง พระกรรณกว้างใหญ่ งวงยาว มีร่างกายเป็นมนุษย์ และท้องพลุ้ย มีงาข้างเดียว มี ๔ กร ๖ กร ๘ กรบ้าง แล้วแต่ภาคที่จะเสด็จมา
คำว่า “พระพิฆเนศวร์” นี้ แปลตามรูปศัพท์ได้ว่า “อุปสรรค” ด้วยเหตุนี้ จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพแห่งความสำเร็จ เทพแห่งการขจัดอุปสรรคทั้งปวง และยังเป็นเทพแห่งศิลปวิทยาและการประพันธ์ด้วย นอกจากจะเป็นที่เคารพนับถือของชาวฮินดูแล้ว ในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทย
ยังเป็นที่นับถือของพวกหมอเฒ่า ซึ่งเป็นครูโพนช้าง คล้องช้าง และฝึกสอนช้าง ดังนั้นในการโพนช้าง คล้องช้าง หรือการประกอบพิธีเกี่ยวกับช้าง ผู้กระทำจะต้องทำการบวงสรวงบูชาและนมัสการพระพิฆเนศวร์ก่อน โดยนับถือพระองค์เสมือนเป็นเทพเจ้าประจำช้าง
เรียบเรียงโดย นางสาวปริศนา ตุ้มชัยพร บรรณารักษ์ชำนาญการ
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี กรมศิลปากร
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
กรมศิลปากร. ช้างต้น สัตว์มงคลแห่งพระจักรพรรดิ. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๓๙.
กัลย์สุดา ทองอร่าม. จิตรกรรมตามตำราการดูช้าง หอไตรคณะเหนือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารและพระอุโบสถ
วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๗ มีนาคม ๒๕๖๘, จาก https://sure.su.ac.th/xmlui/handle/123456789/4360
กาญจนา โอษฐยิ้มพราย. โรงช้างต้น. กรุงเทพฯ: สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๕๘.
กิตติยา กิตติบดีสกุล. บทบาทของช้างเชิงสัญลักษณ์ในสมัยรัตนโกสินทร์. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๗ มีนาคม ๒๕๖๘, จาก
https://sure.su.ac.th/xmlui/handle/123456789/2700
บุญเติม แสงดิษฐ. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ: พชรการพิมพ์ , ๒๕๔๑.
พระสมุดตำราแผนคชลักษณ์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๔๖.
พิพิธภัณฑ์โรงช้างต้นสวนจิตรลดา. กรุงเทพฯ: สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๕๖.
โสภนา ศรีจำปา. พระคเณศ อมตะเทพอินเดียสู่สังคมไทยในมิติภาษาและวัฒนธรรม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๗ มีนาคม ๒๕๖๘, จาก
https://so05.tcithaijo.org/index.php/sujthai/article/view/33347
อมรา ศรีสุชาติ. ช้างในพุทธวรรณกรรมและพุทธศิลปกรรม. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๕๐.
(จำนวนผู้เข้าชม 59 ครั้ง)