...

องค์ความรู้ส่งเสริมการอ่าน เรื่อง ภาษาชอง

องค์ความรู้ส่งเสริมการอ่าน  เรื่อง ภาษาชอง

 

      ภาษาชองเป็นภาษาที่ใช้โดยกลุ่มชาติพันธุ์ชอง ซึ่งกลุ่มชาวชองในจังหวัดจันทบุรีส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตอนเหนือของจังหวัดจันทบุรี บริเวณอำเภอเขาคิชฌกูฏ และอำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี 

 

ชาวชองมีภาษาพูดของเขาเอง ไม่มีภาษาเขียน ไม่มีการจดบันทึกทางประวัติศาสตร์

 

ภาษาชองเป็นภาษาที่อยู่ในตระกูลออสโตรเอเชียติก สาขามอญ–เขมร กลุ่มย่อยเปียริก มีลักษณะการพูดที่เป็นเอกลักษณ์ มีระบบเสียงที่แสดงลักษณะของภาษากลุ่มมอญ-เขมรที่ชัดเจน โดยมีพยัญชนะต้น 22 ตัว (ก ค ง จ ช ซ ญ ด ต ท น บ ป พ ฟ ม ย ร ล อ ว ฮ) พยัญชนะสะกด 11 ตัว (ก ง จ ญ ด น บ ม ย ว ฮ) ตัวสระ 28 ตัว ภาษาชองไม่มีวรรณยุกต์เหมือนภาษาไทย แต่มีลักษณะน้ำเสียงที่โดดเด่น จึงใช้ลักษณะน้ำเสียงแทนวรรณยุกต์ โดยแบ่งออกเป็น  4 ลักษณะ ได้แก่ 

     1) ลักษณะน้ำเสียงกลางปกติ เช่น กะวาญ = กระวาน, กะปาว = ควาย 

     2) ลักษณะน้ำเสียงต่ำใหญ่ (เสียงก้องมีลม) เช่น กะว่าย = เสือ, มะง่าม = ผึ้ง 

     3) ลักษณะน้ำเสียงสูงบีบ (เสียงปกติตามด้วยการกักของเส้นเสียง) เช่น ค้อน = หนู

          ซู้จ = มด 

      4) ลักษณะน้ำเสียงต่ำกระตุก (เสียงก้องมีลมตามด้วยการกักของเส้นเสียง) เช่น ช์อง = ชอง,

          เม์ว = ปลา 

 

ไวยากรณ์ภาษาชองโดยทั่วไปมีลักษณะเรียงคำแบบประธาน – กริยา – กรรม 

เช่น ประโยคว่า อูญ ฮอบ ปล็อง ม่อง เม์ว <พ่อ-กิน-ข้าว-กับ-ปลา> = พ่อกินข้าวกับปลา 

ลักษณะไวยากรณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ คือการใช้คำปฏิเสธ 2 คำ ประกบหน้าและหลังคำกริยาหรือกริยาวลี 

เช่น ย่าย ม่อง ตา พ์าย นั่ก อิฮ อีน กะปิฮ ฮอบ ปล็อง อิฮ 

<ยาย-กับ-ตา-สอง- คน-ไม่-มี-อะไร-กิน-ข้าว-ไม่> = สองคนตายายไม่มีอะไรจะกิน เป็นต้น

 

แม้ว่าในปัจจุบันจะยังมีชาวชองสื่อสารกันด้วยภาษาชองบางส่วน แต่เมื่อคนรุ่นหลังพูดภาษาไทยมากขึ้น ทำให้ภาษาชองกำลังเสี่ยงกับการสูญหายไป จึงมีความพยายามในการอนุรักษ์ฟื้นฟูภาษาชอง เพื่อให้คนรุ่นต่อๆไปเข้าใจและรู้จักภาษาและวัฒนธรรมของตนเองได้ดียิ่งขึ้น มีความภูมิใจในภาษาของตนเองมากขึ้น และเพื่อการคงอยู่ของเอกลักษณ์ วัฒนธรรม รากฐาน ประเพณีชาวชองให้คงอยู่ต่อไป

 

 

 

ผู้อ่านสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือแบบเรียนภาษาชอง หนังสือพะซาช์อง’ ฟื้นวิถีชาติพันธุ์...ผ่านห้องเรียน และหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดจันทบุรี นอกจากนั้นยังสามารถพบเห็นภาษาชองในหนังสืออื่นนอกเหนือจากนี้อีกด้วย สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ที่หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี

 

รู้หรือไม่!!

        เดิม ภาษาชองนั้นเน้นการพูดเป็นหลัก ระบบเขียนภาษาชองอักษรไทยนั้นได้รับการพัฒนาขึ้นผ่านกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นร่วมกับเจ้าของภาษาที่ต้องการให้มีระบบตัวเขียนของตนเอง เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาชองและมีการเรียนการสอนภาษาชองในโรงเรียน ในปี พ.ศ.2544 ทีมวิจัยชาวชองร่วมกับนักวิชาการด้านภาษาจากมหาวิทยาลัยมหิดลทดลองผลิตระบบเขียนภาษาชองด้วยตัวอักษรไทย

      ระบบเขียนภาษาชองอักษรไทยนี้ผ่านขั้นตอนการพิจารณากำหนดอักษร การทดสอบระบบเขียน และหลักเกณฑ์การใช้ ได้รับการรับรองจากราชบัณฑิตยสภาในปีพ.ศ. 2555

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:

เจตน์จรรย์ อาจไธสง.  แบบเรียนภาษาชอง.  พิมพ์ครั้งที่ 3.  จันทบุรี: ต้นฉบับ, 2556. 

ณัฐมน โรจนกุลระบบเขียนภาษาชอง.  [ออนไลน์] สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2568, จาก: 

     https://www.langarchive-th.org/th/digital-heritage/chong_cdrel0001

พะซาช์อง’ ฟื้นวิถีชาติพันธุ์...ผ่านห้องเรียน.  เชียงใหม่: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

     (สกว.) สำนักงานภาค, 2546.

วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดจันทบุรี.  กรุงเทพฯ:

     กระทรวงศึกษาธิการ, 2544.

สุวิไล เปรมศรีรัตน์.  ชอง.  [ออนไลน์] สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2568, จาก: 

     https://langrevival.mahidol.ac.th/project/chong-group/

 

เรียบเรียงโดย: นางสาวทิพวรรณ  จันทร์ปัญญา

                       บรรณารักษ์ปฏิบัติการ

                  หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี

(จำนวนผู้เข้าชม 71 ครั้ง)