องค์ความรู้ส่งเสริมการอ่าน เรื่อง ตำนานเมืองจันทบุรี พระนางกาไว
ตำนานเมืองจันทบุรี พระนางกาไว
ตามตำนานพระนางกาไว ฉบับเรียบเรียงโดยครูโพธิ์ เรืองเวชติวงศ์ ที่เรียบเรียงมาจากสมุดข่อยโบราณได้กล่าวไว้ว่า กาลครั้งหนึ่งมีกษัตริย์ผู้ครองนครบริเวณเชิงเขาสระบาป ทรงมีพระนามว่าพระเจ้าพรหมทัศน์ พระองค์มีอัครมเหสีพระนามว่า พระนางเจ้าจงพิพัฒณ์ และมีพระราชโอรสด้วยกัน 2 พระองค์ โดยองค์พระเชษฐาทรงพระนามว่า เจ้าไกรวงษ์ และองค์อนุชาทรงพระนามว่า เจ้าพงษ์สุริยามาศ ภายหลังอัครมเหสีสิ้นพระชนม์ พระเจ้าพรหมทัศน์ได้ทรงอภิเษกมเหสีองค์ใหม่ขึ้นมา ทรงนามว่าพระนางกาไว เป็นเชื้อชาติชอง ทรงพระสิริโฉมงดงามเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าพรหมทัศน์เป็นอย่างมาก และได้มีพระโอรสด้วยกันอีกหนึ่งพระองค์ ทรงพระนามว่า พระไวยะทัศน์
หลังจากทรงอภิเษก และมีราชโอรสแล้วจึงได้วางแผนกำจัดเจ้าไกรวงษ์และเจ้าพงษ์สุริยามาศซึ่งมีสิทธิ์ได้ครองราชสมบัติต่อจากผู้เป็นพระราชบิดา โดยการทำเสน่ห์ยาแฝดให้พระเจ้าพรหมทัศน์ทรงเสวย เพื่อให้โปรดปรานลุ่มหลงตนมากยิ่งขึ้น และหากสบโอกาสคราวใดก็จะทรงทูลพระเจ้าพรหมทัศน์ โดยหาเรื่องยุยงว่าร้ายลูกเลี้ยงทั้งสองของตนอยู่เสมอ แม้พระเจ้าพรหมทัศน์จะตกอยู่ในอำนาจมนต์เสน่ห์ก็ยังคงทรงมีสติ ไม่ทำอะไรรุนแรงแก่โอรสทั้งสอง แต่ด้วยเกรงว่าท้ายที่สุดโอรสตนจะถูกลอบปลงพระชนม์ จึงทรงเรียกพระราชโอรสมาชี้แจงให้ทราบเหตุ และมอบทรัพย์สินเงินทอง พร้อมด้วยเพชรพลอยให้อีกองค์ละ 1 ทนาน เพื่อให้หลบหนีออกจากเมือง แม้จะทรงอาลัยในราชโอรสอยู่ แม้พระราชโอรสทั้ง 2 พระองค์จะทรงทราบเบื้องหลัง แต่ด้วยความเกรงพระทัยในพระราชบิดา ทั้ง 2 พระองค์ก็เสด็จออกจากเมืองไปในที่สุด
เมื่อพระนางกาไวทำให้ลูกเลี้ยงทั้งสองของตนออกจากเมืองได้แล้ว ด้วยความกลัวว่าพระเจ้าพรหมทัศน์จะยกราชสมบัติแก่เจ้าไกรวงษ์และเจ้าพงษ์สุริยามาศ จึงจัดการวางยาพิษเพื่อปลงพระชนม์พระเจ้าพรหมทัศน์ และได้สถาปนาพระไวยะทัศน์โอรสตนขึ้นเป็นกษัตริย์ และตั้งตนเป็นผู้สำเร็จราชการโดยอ้างว่าราชบุตรยังทรงพระเยาว์ นับได้ว่าพระนางกาไวบรรลุเป้าหมายโดยไร้อุปสรรคและได้อำนาจมาไว้ในมือสมใจหวัง
ฝ่ายเจ้าไกรวงษ์และเจ้าพงษ์สุริยามาศที่ทรงไปตั้งหลักอยู่ที่เมืองในแคว้นพระตะบอง เมื่อทรงทราบว่าพระบิดาทรงสวรรคต และพระนางกาไวขึ้นครองเมืองก็ไม่พอพระทัย รีบกรีฑาทัพมาเพื่อชิงเมืองคืนเพราะถือว่าตนมีสิทธิ์ในราชสมบัติกว่าใคร ทั้งสองพระองค์จัดทัพเข้ามีเมืองโดยเป็นรูปปีกกาเรียงลำดับทหารไพร่พล ทัพช้าง ทัพม้า ตามแผนยุทธศาสตร์สมัยนั้น โดยเจ้าไกรวงษ์ยกเข้าตีทางปีกซ้ายด้านตะวันออกโอบเข้าไปสกัดและโจมตีทางใต้ของเมือง ส่วนเจ้าพงษ์สุริยามาศยกทัพเข้าตีทางปีกขวาเดินทัพแต่ทิศเหนือแล้วตีโอบล้อมไปทางทิศตะวันตกของเมืองเพื่อตีล้อมหนุนเข้าไปทางทิศตะวันตกของเมืองเพื่อไม่ให้เหลือทางหนีแก่พระนางกาไว
ทางพระนางกาไวก็จัดทัพสู้และป้องกันเมืองไว้ทุกด้าน กองทัพทั้งสองฝ่ายเข้ารบกันรุนแรง ทางด้านตะวันตกช้างทรงของเจ้าพงษ์สุริยามาศพบกับช้างทรงของพระไวยะทัศน์ก็ขับช้างวิ่งพุ่งเข้าชนรบ ช้างของพระไวยะทัศน์เสียที เจ้าพงษ์สุริยามาศสบโอกาสก็ฟันด้วยของ้าวถูกพระไวยะทัศน์สิ้นพระชนม์บนหลังช้าง ช้างวิ่งหนีกลับเข้าเมือง ทหารรบตลุมบอน ท้ายสุดทหารพระนางกาไวก็แตกถอยหนีเข้าไปในเมือง
เมื่อพระนางกาไวทราบว่าพระไวยะทัศน์สิ้นพระชนม์ในการรบ ทั้งทหารก็แตกหนีถอยร่นกลับมา ก็คิดจะตัดศึกไม่ให้ทหารฝ่ายตรงข้ามตีเข้ามาและเกิดการนองเลือดไปมากกว่านี้ จึงออกอุบายให้ทหารนำทองคำส่วนหนึ่งไปหว่านให้ทหารของเจ้าพงษ์สุริยามาศตามแนวรบซึ่งล้อมไปด้วยกอไผ่และบริเวณโดยรอบ แล้วยอมจำนนยุติการสู้รบ
จากนั้นพระนางกาไวก็ได้สั่งรวบรวมทรัพย์สินที่มีค่าที่เหลือทิ้งลงเว็จของพระองค์ให้หมดปิดให้มิดชิด แล้วเข้าห้องบรรทมสั่งห้ามผู้ให้รบกวนเป็นอันขาด แล้วสั่งข้าราชบริพารให้ยอมจำนอน ส่วนพระองค์จะเฝ้าเมืองไว้เอง แล้วก็เสด็จเข้าห้องบรรทม ตั้งจิตอธิษฐานว่า “ขอปิดเมืองไว้จนกว่าเรื่องราวจะถูกเปิดเผยและเป็นที่ยอมรับของทุกคน ใครที่หวังในสมบัติของข้า ขอให้มีอันเป็นไป หากผู้ใดเลื่อมใส ขอให้ประสพแต่ความสำเร็จ ความสุข ความเจริญ ข้าจะอยู่กับเมืองนี้ตลอดไป” แล้วพระนางกาไวก็เปิดยาพิษชื่อ มหาไว ดื่มจนสิ้นพระชนม์อยู่ในห้องบรรทมนั้นเอง
ในตำนานกล่าวถึงสถานที่ต่างๆไว้มากมาย ซึ่งผู้เรียบเรียงไม่ได้กล่าวถึงทั้งหมด ท่านผู้อ่านสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือเรื่อง ตำนานพระนางกาไว พระนางกาไว นิทานคำกลอนพระนางกาไว หรือนิทานพื้นบ้านจันทบุรี ณ หอสมุดแห่งชาติฯ จันทบุรี
ซึ่งสถานที่ที่ถูกกล่าวถึงในเนื้อเรื่องนั้น หลายแห่งปรากฏเป็นสถานที่จริงในปัจจุบัน ทั้งยังมีเรื่องเล่าในภายหลังต่างๆมากมาย อาทิเช่น พื้นที่บริเวณที่พระนางกาไวให้ทหารไปหว่านทอง เรียกว่าทองทั่ว หรือโคกทองทั่วนั้น แต่ก่อนเคยมีผู้พบทอง ณ บริเวณนั้นจริงๆ และเว็จพระนางกาไว ก็มีคนขุดเจอทองบ้างไม่เจอทองบ้าง ภายหลังเล่าต่อกันมาว่าหากใครไปขุดแล้วใกล้เจอทอง จะมีดังลั่นทำให้ทองหนีลึกลงไปอีก
ว่ากันว่าเมืองเพนียตเป็นเมืองคำสาปของพระนางกาไวอย่างแท้จริง เพราะท่านพ่ายศึกชิงเมืองในตอนนั้น ท่านหวงทรัพย์สมบัติมาก ท่านขุดฝังทรัพย์ไว้แล้วสละชีวิตปกป้องเมืองของท่าน แรงอาถรรพ์นี้เองที่ทำให้ไม่มีผู้ใดสามารถเปิดเมืองเพนียตได้ เมืองเพนียตจึงถูกปิดมานานหลายร้อยปี จนภายหลังด้วยแรงศรัทธาจากชาวบ้านที่บูชากราบไหว้แม่ย่ากาไว และการเซ่นไหว้ของอนุญาตของคณะทำงาน แรงอาถรรพ์ในการปิดเมืองก็คลายลง ทำให้เมืองค่อยๆกลับมาเปิด และถูกบูรณะฟื้นฟูอีกครั้ง
เรียบเรียงโดย นางสาวทิพวรรณ จันทร์ปัญญา บรรณารักษ์ปฏิบัติการ
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี
สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี กรมศิลปากร
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
โพธิ์ เรืองเวชติวงค์. ตำนานพระนางกาไว. ม.ป.ท.: ม.ป.พ., ม.ป.ป.
ธรรม พันธุศิริสด. พระนางกาไว. พิมพ์ครั้งที่ 2. ระยอง: ร้านลุงคอม, 2541.
ศุภวัฒน์ เอมโอช. นิทานพื้นบ้านจันทบุรี. จันทบุรี: สำนักศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี, 2555.
(จำนวนผู้เข้าชม 17 ครั้ง)