วันดำรงราชานุภาพ ตรงกับวันที่ ๑ ธันวาคม ของทุกปี เพื่อเป็นการรำลึกถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยและโบราณคดีไทย
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประสูติเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๕ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๕๗ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาชุ่ม มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร พระองค์ทรงเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้ได้รับความเจริญก้าวหน้า โดยเฉพาะด้านการศึกษาของไทย การปกครองส่วนท้องถิ่นสมัยใหม่ ด้านการสาธารณสุข งานราชบัณฑิตยสภาและหอสมุดพระนคร และทรงเป็นผู้วางรากฐานการพัฒนางานพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ของไทยอีกด้วย
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับการพัฒนางานหอสมุดแห่งชาติ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งนายกหอพระสมุดสำหรับพระนคร (ปัจจุบันคือหอสมุดแห่งชาติ) ตลอดรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงเอาพระทัยใส่สืบเสาะหาหนังสือโบราณของไทยเกี่ยวกับวรรณคดี พงศาวดาร พระพุทธศาสนา และสรรพตำราต่างๆ มารวบรวมไว้ในหอพระสมุดสำหรับพระนครเป็นอันมาก ทั้งนี้ยังได้ทรงตรวจสอบชำระและจัดพิมพ์ให้แพร่หลายเพื่อประโยชน์แก่การศึกษาของผู้ที่สนใจ หนังสือที่โปรดให้พิมพ์ออกมาในครั้งนั้นเป็นรากฐานในการศึกษาประวัติศาสตร์และวรรณคดีตลอดมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้รวบรวมตู้ลายทองที่เก็บรักษาไว้ตามวัดกับศิลาจารึกซึ่งมีอยู่ตามสถานที่ต่างๆ มาไว้ให้หอพระสมุดเพื่อรักษาไว้ไม่ให้สูญหายไปอีกด้วย
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์หนังสือที่ทรงคุณค่าด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวรรณคดีไว้มากกว่า ๑,๐๐๐ เรื่อง พระนิพนธ์ที่ทรงคุณค่าและได้รับการยกย่องให้เป็นหนังสือดี ๑๐๐ เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน ได้แก่ สาส์นสมเด็จ และนิทานโบราณคดี นอกจากนี้พระองค์ยังทรงสะสมหนังสือหายากไว้ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ รวมประมาณ ๗,๐๐๐ เล่ม ซึ่งปัจจุบันเก็บรวบรวมไว้ที่ “หอสมุดดำรงราชานุภาพ” ตั้งอยู่บริเวณวังวรดิศ ถนนหลานหลวง ซึ่งกรมศิลปากรได้จัดตั้งเป็นห้องสมุดเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ปัจจุบันเป็นห้องสมุดเฉพาะที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นบุคคลไทยพระองค์แรกที่ยูเนสโก (UNESCO) หรือองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ประกาศยกย่องให้เป็น บุคคลสำคัญของโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ และได้รับการถวายพระนามเป็น “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย” โดยในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๕ คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้ วันที่ ๑ ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์เป็น “วันดำรงราชานุภาพ” เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึงพระองค์ ผู้ทรงมีคุณูปการต่อแผ่นดินไทย
เรียบเรียงโดย นางสาวปริศนา ตุ้มชัยพร บรรณารักษ์ชำนาญการ
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี กรมศิลปากร
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. จดหมายเหตุบอกเล่า: พระนามสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อแรกประสูติ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๒๑ พฤศจิกายน
๒๕๖๗, จาก: https://www.nat.go.th/คลังความรู้/รายละเอียด/ArticleId/847
ชลิยา ศรีสุกใส. วันสำคัญ ประเพณี การละเล่นของไทย. กรุงเทพฯ: พีบีซี, ม.ป.ป.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. นิทานโบราณคดี. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (๒๐๐๖), ๒๕๕๙.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. นิทานโบราณคดี. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า ๒๐๐๐, ๒๕๕๙.
บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ และคณะ. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๗, จาก:
http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ_กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
หอสมุดแห่งชาติ. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ: พระนิพนธ์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๑๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 56 ครั้ง)