“วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” ตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันสำคัญที่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงก่อให้เกิดเทคโนโลยีฝนหลวงขึ้นมาบรรเทาทุกข์แก่พสกนิกรชาวไทยให้รอดพ้นจากความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากภัยแล้ง
ความเป็นมาของโครงการฝนหลวง
โครงการนี้เกิดขึ้นมาจากพระราชดำริส่วนพระองค์เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดาร 15 จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อ พ.ศ. 2498 ในขณะเสด็จพระราชดำเนินทรงพบว่าราษฎรได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้ง ตามเส้นทางที่เสด็จพระราชดำเนินนั้น ทรงสังเกตเห็นว่ามีเมฆปริมาณมากปกคลุมท้องฟ้า แต่ไม่สามารถก่อรวมตัวกันจนเกิดเป็นฝนได้ เป็นเหตุให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ทั้ง ๆ ที่เป็นช่วงฤดูฝน ทรงคิดคำนึงว่าน่าจะมีมาตรการทางวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยให้เมฆเหล่านั้นก่อตัวรวมกันจนเกิดเป็นฝนได้ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงกรุงเทพมหานคร ทรงใช้เวลาในการคิดวิเคราะห์ วิจัย ทบทวนเอกสาร รายงานผลการศึกษา และข้อมูลต่างๆ ทั้งด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ จนทรงมั่นพระทัย จึงพระราชทานแนวคิดนี้แก่หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรม ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น
ฝนหลวง คืออะไร
“ฝนหลวง” เป็นโครงการพระราชดำริที่ทรงค้นคว้าหาลู่ทางดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝน เป็นมาตรการหนึ่งในการบรรเทาความทุกข์ของราษฎรอันเนื่องมาจากสภาวะแห้งแล้งตั้งแต่ พ.ศ. 2498 จนเกิดการทดลองปฏิบัติจริงในท้องฟ้า โดยการโปรยสารเคมีจากเครื่องบินได้เป็นครั้งแรก ณ วนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา ทรงมีส่วนร่วมติดตามผล และพระราชทานข้อแนะนำทางเทคนิคต่าง ๆ ทั้งด้านการวิจัยพัฒนากรรมวิธีการทำฝนควบคู่กับการปฏิบัติการหวังผลช่วยเหลือราษฎร จนสามารถสรุปเป็น “ตำราฝนหลวง” พระราชทานให้ใช้เป็นหลักวิชาการและขั้นตอนกรรมวิธีตามลำดับมาจนถึงปัจจุบัน
ตำราฝนหลวงพระราชทาน
ด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์ทรงพัฒนาเทคนิคการทำฝนหลวงโดยการโจมตีเมฆอุ่นและเมฆเย็นพร้อมกันในกลุ่มเมฆเดียวกัน ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้เรียกเทคนิคการโจมตีที่ทรงประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาว่า Super Sandwich Technique ทรงสรุปขั้นตอนกรรมวิธีเป็นแผนภาพการ์ตูนโดยคอมพิวเตอร์ด้วยพระองค์เอง พระราชทานเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2542 ให้ใช้เป็นแบบอย่างในการปฏิบัติการฝนหลวงให้เป็นไปในทางเดียวกัน แผนภาพฝีพระหัตถ์ดังกล่าวประมวลความรู้ทางวิชาการ เทคนิคและกระบวนการ ขั้นตอนกรรมวิธีในการปฏิบัติการฝนหลวงอย่างครบถ้วนในหนึ่งหน้ากระดาษได้อย่างสมบูรณ์ ง่ายต่อความเข้าใจและการถือปฏิบัติ
สิทธิบัตรฝนหลวง
เทคโนโลยีฝนหลวง ได้รับการเผยแพร่และเป็นที่ยอมรับในหมู่นักวิทยาศาสตร์ องค์กร และสถาบันที่มีกิจกรรมการดัดแปรสภาพอากาศวิทยาศาสตร์ และอุตุนิยมวิทยาทั้งในระดับนานาชาติและระดับโลก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้ดำเนินการยื่นคำขอสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยการดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝนต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2545 จนได้ออกสิทธิบัตรดังกล่าว เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 และโปรดเกล้าฯ ให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2546 สำหรับในต่างประเทศได้ดำเนินการยื่นคำขอสิทธิบัตรภายใต้ชื่อ Weather Modification by Royal Rainmaking Technology ต่อสำนักงานสิทธิบัตรยุโรป สำนักงานสิทธิบัตรแห่งสหรัฐอเมริกา และสำนักงานสิทธิบัตรในประเทศอื่นๆ ที่สำคัญและจำเป็น โดยเฉพาะประเทศสมาชิกขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก 181 ประเทศ เพื่อให้เทคโนโลยีฝนหลวงได้รับการคุ้มครองสิทธิให้มากที่สุด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่เป็นองค์กรที่ได้ดำเนินงานโครงการพระราชดำริฝนหลวงมาตั้งแต่เริ่มแรก ได้เสนอให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” ในการประชุมคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2545
นอกจากข้อมูลองค์ความรู้ที่ได้นำเสนอมาแล้วนั้น เรื่องราวของฝนหลวง และพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยในการแก้ปัญหาภัยแล้ง ยังมีอีกหลากหลายมิติที่น่าสนใจ ผู้อ่านสามารถค้นคว้าและอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือโครงการพระราชดำริฝนหลวง และหนังสืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ที่ห้องศาสตร์พระราชา หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี
เรียบเรียงโดย นางสาวปริศนา ตุ้มชัยพร บรรณารักษ์ชำนาญการ
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี กรมศิลปากร
แหล่งข้อมูลเอกสารอ้างอิง
ฝ่ายวิชาการ สถาพรบุ๊คส์. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฝนหลวง. กรุงเทพฯ: สถาพรบุ๊คส์, 2560.
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ. จดหมายเหตุสิทธิบัตรฝนหลวง. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2550.
สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร. พระบิดาแห่งฝนหลวง. กรุงเทพฯ: สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร, 2544.
(จำนวนผู้เข้าชม 33 ครั้ง)