นำเสนอสาระความรู้ และแนะนำเรื่องที่น่าสนใจจากหนังสืออนุสรณ์งานศพ พร้อมประวัติของผู้วายชนม์โดยสังเขป
นำเสนอสาระความรู้ และแนะนำเรื่องที่น่าสนใจจากหนังสืออนุสรณ์งานศพ พร้อมประวัติของผู้วายชนม์โดยสังเขป
วันนี้ #หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี ขอนำเสนอ เรื่อง #ประวัติสุนทรภู่ นิราศเมืองแกลง และประวัติเมืองแกลง หนังสือจัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางสำลี เกิดลาภผล ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2511
นางสำลี เกิดลาภผล เกิดเมื่อวันอังคาร เดือน 12 ปีเถาะ พ.ศ. 2423 ที่ตำบลทางเกวียน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เป็นบุตรสาวคนที่สองของขุนแพ่งกับนางมุก นางสำลีได้กำพร้าบิดามารดาตั้งแต่อายุยังน้อย จึงได้อาศัยอยู่กับน้าหญิง ซึ่งเป็นภรรยาของหลวงวิชิตภักดี ผู้พิพากษาประจำเมืองแกลงในขณะนั้น ต่อมาได้สมรสกับนายเห่ง เกิดลาภผล ผู้เป็นบุตรชายของนางเกียกับนายย่องติ้น แซ่หลิม และเป็นหลานของเจ้าสัวเช้า แซ่ตัน กับนางจ้อย แห่งบ้านตลาดบางกะจะ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี หลังจากสมรส มีบุตรและธิดา จำนวน 6 คน นางสำลีเป็นผู้เลื่อมใสยึดมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ได้บริจาคทรัพย์บำรุงวัด และจัดการอุปสมบทให้แก่ผู้ที่ไร้กำลังทรัพย์อยู่เสมอ นางสำลีได้ป่วยเป็นมะเร็งที่มดลูก และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2510 รวมอายุได้ 77 ปี
#ประวัติสุนทรภู่ นี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์ขึ้นเพื่อให้พิมพ์รวมกับเสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ซึ่งเป็นบทนิพนธ์ของสุนทรภู่ แจกในงานฉลองพระชันษา ครบ 60 เมื่อ พ.ศ. 2465 เป็นครั้งแรก ภายหลังได้มีการเพิ่มเติมเชิงอรรถ โดย นายธนิต อยู่โพธิ์ และชำระเพิ่มเติมโดยกรมศิลปากร หนังสือมีการจัดพิมพ์เผยแพร่อีกหลายครั้งเนื่องจากมีผู้สนใจในเรื่องราวของสุนทรภู่มาก เนื้อหาว่าด้วยเรื่องประวัติของสุนทรภู่ แบ่งออกเป็น 7 ตอน ได้แก่ ตอนก่อนรับราชการ ตอนรับราชการ ตอนออกบวช ตอนตกยาก ตอนสิ้นเคราะห์ หนังสือที่สุนทรภู่แต่ง และเกียรติคุณของสุนทรภู่
#นิราศเมืองแกลง สุนทรภู่แต่งเมื่อราว พ.ศ. 2350 เมื่อครั้งเดินทางไปพบบิดาซึ่งบวชเป็นพระอยู่ที่บ้านกร่ำ เมืองแกลง จังหวัดระยอง เป็นนิราศเรื่องแรกที่สุนทรภู่แต่ง เพื่อบันทึกการเดินทางและแสดงความรู้สึกนึกคิดของตน พิเคราะห์จากเรื่องราวที่ปรากฏในนิราศ ประกอบกับศักราชปีเกิดของสุนทรภู่ ดูเหมือนเมื่อแต่งนิราศเรื่องนี้ อายุน่าจะราวสัก 20 ปี กล่าวในนิราศว่าสุนทรภู่มีศิษย์ติดตามไปด้วย 2 คน คือ นายน้อย และนายพุ่ม และมีนายแสงชาวเมืองระยองขอเดินทางร่วมไปด้วยและช่วยนำทางให้ สุนทรภู่ได้พรรณนาถึงความยากลำบากในการเดินทาง สภาพภูมิประเทศ และชีวิตของชาวบ้านที่ได้พบเห็น
ส่วน #ประวัติเมืองแกลง นั้น นางพัฒนี สุทธิสุวรรณ วิทยากรตรี แผนกอักษรศาสตร์และวรรณคดี กรมศิลปากร ได้ค้นคว้าและเรียบเรียงขึ้น โดยกล่าวถึงประวัติและความเป็นมาของเมืองแกลง จังหวัดระยอง โดยสังเขป
ผู้ที่สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก http://digital.nlt.go.th/dlib/items/show/14923
หรือสแกนจาก QR Code เพื่ออ่านในรูปแบบ E-Book
บรรณานุกรม
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ประวัติสุนทรภู่. พระนคร: โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2511.
(จำนวนผู้เข้าชม 240 ครั้ง)