...

องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “28 เมษายน วันราชาภิเษกสมรส รัชกาลที่ 9”
องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์
เรื่อง “28 เมษายน วันราชาภิเษกสมรส รัชกาลที่ 9”
วันที่ 28 เมษายน เป็นวันคล้ายวันราชาภิเษกสมรส พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง นับเป็นอีกวันหนึ่ง ที่สำคัญยิ่ง ที่ทั้งสองพระองค์ทรงประกอบพระราชพิธีราชา ภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2493 อันเป็นครั้งแรกของพระมหากษัตริย์ไทยแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ที่ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย
ย้อนหลังไปเมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ที่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ จากนั้นพระองค์ได้เสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ระหว่างที่ประทับอยู่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ได้รับบาดเจ็บที่พระเนตร เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2491 ทรงได้รับการถวายการรักษาที่โรงพยาบาลในเมืองโลซานน์ มีหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ที่ทรงพบก่อนหน้านั้นถวายการพยาบาลอยู่ด้วย
ต่อมาได้ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (ขณะนั้นคือ พันเอก หม่อมเจ้านักขัตรมงคล เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน) กับ หม่อมหลวงบัว กิติยากร (สนิทวงศ์) เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 ณ เมืองโลซานน์
และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร ถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวังสระปทุม ทั้งยังทรงให้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยอีกด้วย ในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย
ทรงลงพระปรมาภิไธยในสมุดทะเบียนสมรสเป็นพระองค์แรก และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ได้ลงนามในสมุดเป็นบุคคลที่สองในฐานะคู่สมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ขณะนั้นเจ้าสาวยังมีอายุเพียง 17 ปีเศษ ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงต้องได้รับความยินยอมจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครองก่อนตามกฎหมาย ดังนั้นหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร พระบิดาของเจ้าสาวจึงต้องลงพระนาม แสดงความยินยอมและรับรู้ในการจดทะเบียนสมรสครั้งนี้ด้วย
ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ พระอัครมเหสี เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์แก่สมเด็จพระราชินีในโอกาสนี้ด้วย
นอกจากนี้ในงานพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผู้เข้าร่วมพิธีจะได้รับพระราชทานของที่ระลึก คือ หีบเงินเล็ก ซึ่งบนฝาหีบประดับด้วยอักษรพระบรมนามาภิไธย ภอ และพระนามาภิไธย สก
นับแต่นั้นเป็นต้นมา พระราชปณิธานและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่มีต่ออาณาประชาราษฎร์ ก็ได้ถ่ายทอดมายังสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และทรงงานร่วมกันต่อเนื่องมามิได้ขาด
อ้างอิง : บุญเติม แสงดิษฐ. วันสำคัญ : พัชรการพิมพ์. 2541. สโมสรไลออนส์ เมืองเอก กรุงเทพฯ. เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี : โรงพิมพ์กรุงเทพฯ (1984). 2539.
ผู้เรียบเรียง : นายประพนธ์ รอบรู้
นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี

(จำนวนผู้เข้าชม 418 ครั้ง)


Messenger