...

เหลืองจันทบูร กล้วยไม้งามคู่เมืองจันท์

          เหลืองจันทบูร เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย พบในป่าดิบที่โล่งแจ้ง แสงแดดจัดถึงร่มรำไร บริเวณแถบภาคตะวันออกของไทยตั้งแต่ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด จนถึงป่าแถบชายแดนกัมพูชา
บ้างพบในป่าแถบปราจีนบุรีและนครราชสีมาเช่นกัน ออกดอกปีละครั้งระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม โดยออกดอกเป็นช่อทั้งต้น ดอกบานทนนาน กลีบดอกสีเหลืองสดเป็นมัน อาจมีแต้มสีแดงภายใน
คอขนาดต่าง ๆ กัน หรือเป็นเพียงขีดสีแดง หรือไม่มีแต้มเลย ชนิดที่มีแต้มมักเรียกว่าเหลืองขมิ้นหรือเหลืองนกขมิ้น
          ประวัติความเป็นมาของกล้วยไม้เหลืองจันทบูร พบว่ามีบันทึกของหญิงลักษณาเลิศได้กล่าวถึงกล้วยไม้นี้ว่าพบอยู่ในเขตมณฑลจันทบูร เช่น เขาสระบาป และได้ทราบจากนายซเรอเบเล็นว่า
นายฟรีดริคส์ ซึ่งทำงานอยู่ห้าง บีกริมม์ได้นำไปยุโรปให้ศาสตราจารย์ไรค์เชนปาคจัดลำดับทางอนุกรมวิธาน โดยได้จัดให้กล้วยไม้สายพันธุ์เหลืองจันทบูรมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dendrobium friedericksianum Rchb.f. เป็นกล้วยไม้สกุล Dendrobium วงศ์ Epidendroideae และกล้วยไม้สายพันธุ์เหลืองจันทบูรชนิดมีแต้มมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dendrobium friedericksianum Rchb.f. var. oculatum. กล้วยไม้นี้มีชื่อไทยว่าเอื้องเหลืองจันทบูร แต่ชื่อท้องถิ่นที่ชาวจันทบุรีนิยมเรียกคือ เหลืองจันทบูร หรือ เอื้องนกขมิ้น
          กล้วยไม้เหลืองจันทบูรเป็นกล้วยไม้เฉพาะถิ่นที่พบในประเทศไทย มีสถานภาพเป็นพืชอนุรักษ์ภายใต้การควบคุมของกฎหมายไทยตามบัญชี 2 ของอนุสัญญา CITES เป็นกล้วยไม้ถูกรุกราน และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์จากป่าในธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี ซึ่งเดิมเคยเป็นโรงเรียนเกษตรกรรมจันทบุรี เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้พื้นเมืองนี้ ได้มีการจัดทำห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้เพื่อขยายพันธุ์กล้วยไม้เหลืองจันทบูรตั้งแต่ พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา กรอปกับได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรีตั้งแต่ พ.ศ. 2545 เพื่ออนุรักษ์กล้วยไม้นี้ให้เป็นกล้วยไม้ประจำจังหวัดจันทบุรี ทั้งนี้ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อปลุกจิตสำนึกภายใต้งาน “รักษ์เหลืองจันท์วันดอกไม้บาน” ขึ้นทุกวันที่
14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ปัจจุบันใช้ชื่องานว่า “ราชมงคล รักษ์เหลืองจันท์ วันดอกไม้บาน” นอกจากจะมีการจัดแสดงและการประกวดกล้วยไม้เหลืองจันทบูร และกล้วยไม้พันธุ์อื่นๆ แล้ว ยังมีการออกร้านและจัดแสดงสินค้าการเกษตร และการเผยแพร่ผลงานวิชาการของนักศึกษาด้วย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม “คืนเหลืองจันทบูรสู่ป่า” โดยจัดร่วมกับอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฎ ชมรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศจันทบูร เทศบาลพลวง และประชาชนที่สนใจเป็นประจำทุกวันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปีเช่นกัน
          ปัจจุบันเหลืองจันทบูรได้รับการยกย่องให้เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดจันทบุรี
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
สาโรจน์ ประเสริฐศิริวัฒน์.  เหลืองจันทบูร.  จันทบุรี : ห้างหุ้นส่วนจำกัด โปร ออฟเซท, 2549. 
 
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก “เพจราชมงคล รักษ์เหลืองจันท์ วันดอกไม้บาน” https://www.facebook.com/RMUTTO.CHAN.ORCHIDFESTIVAL

เรียบเรียง: นางสาวปริศนา ตุ้มชัยพร บรรณารักษ์ชำนาญการ
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี

 

(จำนวนผู้เข้าชม 1920 ครั้ง)


Messenger