ชอง หรือ คนชอง (ช์อง) แปลว่า “คน” เป็นชื่อของกลุ่มชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกของประเทศไทย บริเวณจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ชาวชองอาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด แต่มีปรากฏหลักฐานซึ่งได้กล่าวถึงคนชองไว้ในนิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่ แต่งเมื่อ พ.ศ. 2350 และจดหมายเหตุของรัชกาลที่ 5 ครั้งเสด็จประพาสจันทบุรี นอกจากนี้ยังมีปรากฏในเอกสารของชาวต่างชาติ ได้แก่ ปาลเลอกัวซ์ (Pallegoix, 1853) ใช้ว่า Xong และครอฟอร์ด (Crawford, 1856) ใช้ว่า Chong และพจนานุกรมภาษาสยามของหมอบรัดเลย์ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2416 ยังให้นิยามของคำว่า ชอง เอาไว้ด้วย ทั้งหมดนี้น่าจะมีที่มาจาก “ชอง” เดียวกันทั้งสิ้น
ชาวชองเป็นกลุ่มชนที่จัดอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ออสโตร - เอเชียติค (Austro - Asiatic) กลุ่มย่อยตระกูลมอญ - เขมร (Mon - Khamer) มีลักษณะรูปร่างสันทัด ผิวค่อนข้างดำ เส้นผมหยิกขอด รูปหน้าค่อนข้างเหลี่ยม คางและขากรรไกรค่อนข้างกว้าง จมูกไม่โด่งแต่ก็ไม่แบนราบ ริมฝีปากและสันคิ้วค่อนข้างหนา มีตาโต โดยทั่วไปมีนิสัยโอบอ้อมอารี ใจดี รักสงบ ซื่อสัตย์ และรักพวกพ้อง วิถีชีวิตแต่เดิมมีความเป็นอยู่อย่างลักษณะ คนป่า ยังชีพด้วยการหาของป่า ล่าสัตว์ มีการทำนาปลูกข้าวเพียงเพื่อการดำรงชีพเท่านั้น ชาวชองจะเลือกตั้งถิ่นฐานเพื่อสร้างหมู่บ้านอยู่อาศัยบริเวณป่าเขา การปลูกสร้างบ้านเรือนใช้สถาปัตยกรรมแบบเรือนเครื่องปลูก มีระบบครอบครัว ค่านิยม ความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรมที่เป็นลักษณะเฉพาะของตนเอง เช่น ประเพณีและพิธีกรรมการนับถือผีบรรพบุรุษที่เรียกว่าการเล่น “ผีหิ้ง และผีโรง” ประเพณีการแต่งงาน การปกครอง การจัดระบบระเบียบของสังคม ตลอดจนกฎเกณฑ์การควบคุมความประพฤติของชนในกลุ่ม มีภาษาพูดเป็นของตนเอง แต่ไม่มีตัวอักษรหรือภาษาเขียน ดังนั้นชาวชองจึงไม่ได้บันทึกประวัติศาสตร์และความเป็นมาของตนเองไว้เลย ได้แต่ใช้วิธีการบอกเล่าและปฏิบัติสืบต่อกันมาเท่านั้น
อย่างไรก็ตามเมื่อชาวชองได้เป็นคนไทยตามพระราชบัญญัติของทางราชการ จึงหันมาพูดภาษาไทย และนับถือพุทธศาสนาตามแบบอย่างคนไทย วิถีชีวิตของชาวชองเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคมและสภาพแวดล้อมปัจจุบัน มีการปรับตัวและรับเอาวัฒนธรรม รวมถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิต เช่น เครื่องมือเครื่องใช้และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในบ้าน เครื่องมือการประกอบอาชีพ อาหาร ยารักษาโรค เครื่องมือการสื่อสาร ตลอดจนการจัดระเบียบการปกครองตามรูปแบบของทางราชการ และการพัฒนาหมู่บ้านตามระบบสังคมอุตสาหกรรม
ล้วนส่งผลกระทบให้วิถีชีวิตและสังคมของชาวชองเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ชาวชองอาศัยอยู่กันมากในแถบตอนเหนือของจังหวัดจันทบุรี บริเวณอำเภอเขาคิชฌกูฏ และอำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ปัจจุบันการใช้ภาษาชอง ตลอดจนวัฒนธรรมของชาวชองอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญหายเป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลต่อการสูญเสียภูมิปัญญาท้องถิ่นและองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ อย่างไรก็ตามชาวชองได้มีความพยายามฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมของตนเองตั้งแต่
พ.ศ. 2545 โดยได้มีการสร้างระบบตัวเขียนภาษาชองด้วยตัวอักษรไทย และการสร้างวรรณกรรมหนังสืออ่านภาษาชองระดับต่าง ๆ มีการสอนภาษาชองเป็นหลักสูตรท้องถิ่นในโรงเรียน และมีการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เพื่อฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมชองสำหรับเป็นแหล่งข้อมูล ทั้งนี้ภาครัฐและเอกชนได้ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูและเผยแพร่วัฒนธรรมชองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมนี้คงอยู่ได้สืบต่อไป
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
กิตติพันธ์ ทิพย์สกุลชัย. 108 ปี ของดีมะขาม. กรุงเทพฯ: ศรีปัญญา, 2550.
“ชาวชอง ชาติพันธุ์จันทบุรี ภาษาและวัฒนธรรมที่กำลังสาบสูญ.” การันต์. 2, 6 (28 เมษายน 2558): หน้า 4-7. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2566,
จาก: https://issuu.com/satchukornkeiokun/docs
มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม. ชนเผ่าพื้นเมืองชอง. เชียงใหม่: มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม, ม.ป.ป.
ศูนย์ภูมิวัฒนธรรมชอง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2566, จาก: https:// chong.thaiipportal.info
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ภาพถ่ายชอง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2566, จาก: https://culturio.sac.or.th/content/998
สุจิตต์ วงษ์เทศ. คนชองกลายตนเป็นไทย ฝั่งทะเลภาคตะวันออก. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2566, จาก:
https://www.matichonweekly.com/column/article_232480#google_vignette
เรียบเรียง: นางสาวปริศนา ตุ้มชัยพร บรรณารักษ์ชำนาญการ
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี
(จำนวนผู้เข้าชม 3134 ครั้ง)