องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “น้อมรำลึกในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระมหากรุณาธิคุณต่อชาวจันท์
องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์
เรื่อง “น้อมรำลึกในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระมหากรุณาธิคุณต่อชาวจันท์”
แม้กาลเวลาจะผ่านเนิ่นนานไปหลายปี แต่เชื่อว่ายังไม่มีใครลืมพระผู้ให้ พระผู้เป็นศูนย์รวมดวงใจของคนทั้งชาติ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระองค์จะเป็นพระผู้สถิตอยู่ในดวงใจของคนเมืองจันท์และคนไทยทุกคนตราบนิรันดร์
เหตุการณ์ที่ยังคงจดจำไปอีกนาน เพราะนำมาซึ่งความวิปโยคของคนไทยทั้งชาติ ถึงแม้จะเป็นเพียงความทรงจำ แต่ก็เป็นความทรงจำที่มิรู้ลืม
ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๕๙ พสกนิกรที่รักในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพล อดุลยเดชฯ (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ต่างเดินทางมาที่โรงพยาบาลศิริราชกันอย่างเนืองแน่นหลังจากได้ทราบข่าวทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจที่พระอาการประชวร ของพระองค์ท่านทรุดลง ทุกคนต่างมารวมจิตรวมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน ส่งกำลังใจ หวังให้อาการพระประชวรของพระองค์ทุเลาลง
นับตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับรักษาพระอาการ พระโรคไข้หวัดและพระปัปผาสะอักเสบ ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ตลอดมา แต่พระอาการประชวรได้ทรุดหนักลงตามลำดับ
พสกนิกรทุกหมู่เหล่าที่มาเฝ้ารอคอยที่โรงพยาบาลศิริราช ต่างสวมใส่เสื้อสีชมพูและอธิษฐานขอพรให้พระอาการประชวรของพระองค์ดีขึ้น จนผู้คนล้นหลามแน่นโรงพยาบาลในวันที่ ๑๓ ตุลาคม ช่วยกันส่งกำลังใจเพื่อให้พระอาการประชวรดีขึ้น ในวันนั้นมีกระแสข่าวว่าพระองค์เสด็จสวรรคต ผู้คนต่างไม่เชื่อว่าเป็นความจริง ต่างภาวนาอย่าให้เป็นเช่นนั้นเลย
แต่แล้วคำอธิษฐานของหลายคนที่หวังให้ศูนย์รวมดวงใจ ได้คงอยู่เป็นมิ่งขวัญจะไม่เป็นผล เหมือนสายฟ้าฟาดผ่าเปรี้ยงลงมากลางใจ เมื่อโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจออกแถลงการณ์ถึงข่าวการเสด็จสวรรคตของพระองค์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เวลา ๑๕:๕๒ น. สิริพระชนมพรรษา ๘๘ พรรษา ๓๑๓ วัน
เสียงร้องระงมร่ำไห้ คร่ำครวญ ของประชาชนในโรงพยาบาล และที่ติดตามทางจอโทรทัศน์ ดังไปทั่วประหนึ่งว่าน้ำตาจะท่วมท้นแผ่นดิน เพราะคนที่รักมาจากไป ต่อแต่นี้ไม่มีอีกแล้วสำหรับพระเจ้าอยู่หัวอันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์นั้นยิ่งใหญ่สุดที่จะพรรณนา
ชาวจันทบุรีเองต่างรักและอาลัยพระองค์ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ที่พระราชทานคลองภักดีรำไพ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองจันท์ นับเป็นโครงการในพระราชดำริสุดท้ายที่พระราชทานแก่ชาวจันท์ก่อนที่จะเสด็จสวรรคต
คงไม่มีใครรู้ว่าช่วงเวลาที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่เมืองจันท์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้มีเครื่องบินลำหนึ่งบินอยู่เหนือน่านฟ้าจันทบุรี เพื่อสำรวจอุทกภัยครั้งนี้ และเครื่องบินลำนี้ได้เป็นที่มาของการสร้างคลองภักดีรำไพ มีใครรู้บ้างว่าผู้ที่อยู๋ในเครื่องบิน ลำนี้เป็นใคร คำตอบคงอยู่ที่ใจของชาวจันท์
เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ มีพระราชดำริกับคณะมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ณ วังไกลกังวล สรุปความได้ว่า
“จังหวัดจันทบุรีประสบปัญหาอุทกภัยเนื่องจากมีถนน ๓ สาย ขวางกั้นเส้นทางน้ำ วิธีแก้ไข คือ ต้องไปสำรวจดูว่า น้ำผันมาจากทางไหน แล้วหาช่องระบายน้ำให้สอดคล้องกัน”
ต่อมา เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ มีพระราชดำริกับนายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการบริหารสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปบางส่วนได้ ดังนี้
“...พื้นที่จังหวัดจันทบุรี ระยอง และชลบุรี เป็นที่เป็นเขาอยู่ใกล้ชายหาด ฝนก็พอ แต่การจัดเก็บทำได้ยากเนื่องจากพื้นที่จากเขาที่ลาดลงมาถึงชายฝั่งนั้น ทำให้น้ำไหลเร็วเก็บไว้ลำบาก น้ำมานองท่วมตามแนวถนน หากช่วงฤดูฝนระบายน้ำทิ้งทะเล แก้ปัญหาน้ำท่วมก็จะขาดน้ำในฤดูแล้ง...” ทรงรับสั่ง “ให้ศึกษาหาแนวทางแก้ไขจัดการน้ำให้พอดี” และทรงย้ำเรื่อง “การประสานความร่วมมือกัน”
นี่คือที่มาของคลองภักดีรำไพ คลองนี้ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่ชาวจันทบุรี
นอกจากนี้ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ยังได้เสด็จพระราชดำเนินมายังจันทบุรี เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจถึง ๖ ครั้ง เป็นที่ปลาบปลื้มแก่พสกนิกรชาวจันท์ยิ่งนัก
ชาวจันทบุรีต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริสำคัญหลายโครงการให้กับประชาชนในพื้นที่ อาทิ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริ รวมถึงโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรี (คลองภักดีรำไพ) จึงทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจและความตั้งมั่นของ
ชาวจันทบุรี ขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของในหลวงรัชกาลที่ ๙
ผู้เขียน : นายประพนธ์ รอบรู้
นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี
(จำนวนผู้เข้าชม 517 ครั้ง)