องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “วันออกพรรษา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11”
องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “วันออกพรรษา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11”
หลังจากเข้าพรรษาแล้ว พระสงฆ์จะต้องอยู่ประจำที่วัดตลอดระยะเวลา 3 เดือน จนถึงวันออกพรรษา ราวกลาง เดือน 11 พระสงฆ์จะต้องทำพิธ๊ปวารณาออกพรรษา
ปวารณา เป็นชื่อสังฆกรรม (กิจที่พระสงฆ์ตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปร่วมกันทำภายในสีมา) ที่พระสงฆ์ทำในวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษา คือ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เรียกว่า “วันมหาปวารณา” โดยภิกษุทุกรูปจะกล่าวปวารณา คือ เปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้
ปกติพระสงฆ์จะสวดพระปาฏิโมกข์ในพระอุโบสถทุกกึ่งเดือน คือ วันพระ ขึ้น 15 ค่ำ แรม 14 หรือ แรม 15 ค่ำ แต่ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ไม่ต้องสวดพระปาฏิโมกข์ ให้ทำพิธีปวารณาออกพรรษาแทน วันออกพรรษาปี 2566 นี้ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2566
วันออกพรรษา หรือ วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา ถือเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากการจำพรรษา จากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และยังเป็นวันที่เปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ในทุกระดับชั้นที่ได้จำพรรษาร่วมกันมาตลอด 3 เดือนสามารถว่ากล่าวตักเตือน ชี้ข้อบกพร่องของกันและกันได้ แต่ต้องเป็นไปด้วยความเมตตา ความปรารถนาดี และความเสมอภาค หลังจากการทำพิธีออกพรรษาแล้วพระภิกษุสงฆ์สามารถทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ตามปกติ และสามารถค้างแรมในสถานที่ต่างๆ ที่ไปแสดงเทศนาได้ โดยที่ไม่ผิดพระพุทธบัญญัติใดๆ
กิจกรรมวันออกพรรษาของแต่ละภาคในประเทศไทยนั้นปฏิบัติไม่เหมือนกัน โดยเริ่มต้นด้วยวิธีการตักบาตรเทโว เพื่อสมมติจำลองถึงวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จะทำวันออกพรรษา หรือออกพรรษาแล้ว 1 วันก็ได้
อาหารที่ใช้ ตักบาตรเทโว หรือ ตักบาตรเทโวโรหณะ นิยมใช้ ข้าวต้มมัด และข้าวต้มลูกโยน ชาวบ้านรอพระภิกษุ สามเณร เดินลงมาจากบันไดอุโบสถ หลังจากทำวัตรเช้า เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นก็สมมติว่าพระพุทธเจ้าเสด็จบันไดสวรรค์ โดยบางแห่งเปิดเพลง หรือบรรเลงดนตรี สมมติว่าเป็นเทวดาบรรเลง ชาวบ้านที่รออยู่ก็จะใส่บาตรด้วยอาหารหวาน อาหารคาว ข้าวต้มลูกโยน
อ้างอิง : บุญเติม แสงดิษฐ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : พัชรการพิมพ์. 2541.
ผู้เรียบเรียง : นายประพนธ์ รอบรู้ นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี
(จำนวนผู้เข้าชม 442 ครั้ง)