...

องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “วันวิสาขบูชา”
องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “วันวิสาขบูชา”
วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาในเดือนพฤษภาคมนี้ คือ วันวิสาขบูชา ที่ปกติตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6
ในปี พ.ศ.2566 เป็นปีอธิกมาศ คือ เดือน 8 มี 2 ครั้ง วันวิสาขบูชาจึงตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ในวันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน 2566
วันวิสาขบูชา เป็นวันที่แสดงความเคารพต่อพระพุทธเจ้า ซึ่งมีชื่อเต็มว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน 6 ในวันนี้ตรงกับวันประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ที่เวียนมาบรรจบในวันและเดือนเดียวกัน คือวันเพ็ญเดือนวิสาขะ
หลักธรรมสำคัญในวันวิสาขบูชาอันเกี่ยวเนื่องจากการประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพาน คือ ความกตัญญู อริยสัจ 4 และความไม่ประมาท
ความกตัญญู คือ รู้บุญคุณ คู่กับความกตเวที คือตอบแทนผู้มีพระคุณ อริยสัจ 4 คือ ความจริงอันประเสริฐ หมายถึง ความจริงที่ไม่ผันแปร เกิดมีขึ้นได้แก่ทุกคนมี 4 ประการ คือ ทุกข์ (ปัญหาของชีวิต) สมุทัย (เหตุแห่งปัญหา) นิโรธ (การแก้ปัญหาได้) มรรค (ทางหรือวิธีแก้ปัญหา มรรคมีองค์ ส่วนความไม่ประมาท คือ การมีสติทั้งขณะทำ ขณะพูดและขณะคิด สติ คือการระลึกรู้ทันที่คิด พูดและทำ กล่าวคือ ระลึกรู้ทันทั้งในขณะ ยืน เดิน นั่ง นอน รวมทั้งระลึกรู้ทันในขณะพูดขณะคิด และขณะทำงานต่างๆ
พระพุทธเจ้าประสูติ ณ สวนลุมพินีวัน อยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ แคว้นสักกะ (ปัจจุบันอยู่ในเมืองลุมมินเด ประเทศเนปาล) เช้าวันศุกร์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี ต่อมาพระองค์ได้เสด็จออกผนวชและทรงบำเพ็ญเพียรอย่างหนัก จนได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ (ปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองพุทธคยา แคว้นพิหาร ประเทศอินเดีย) เช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี
หลังจากตรัสรู้แล้ว พระองค์ทรงบำเพ็ญพุทธกิจโปรดผู้ที่ควรแนะนำสั่งสอนใหได้บรรลุมรรคผลจนนับไม่ถ้วน และเสด็จดับขันธปรินิพพาน วันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองกุสีนคระ) แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย สิริรวมพระชนมายุได้ 80 พรรษา
การจัดงานวันวิสาขบูชาได้เริ่มมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย มาอยุธยา จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ได้ทรงฟื้นฟูพิธีวิสาขบูชา ให้เป็นแบบแผนขึ้น และกระทำสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาองค์การสหประชาชาติได้เล็งเห็นความสำคัญของวันนี้ จึงประกาศให้เป็น “วันสำคัญสากลโลก” (Vesak Day)
อ้างอิง : ประชิด สกุณะพัฒน์, อุดม เชยกีวงศ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : ภูมิปัญญา, 2549. บุญเติม แสงดิษฐ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : พัชรการพิมพ์. 2541.
ผู้เรียบเรียง : นายประพนธ์ รอบรู้
นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี

(จำนวนผู้เข้าชม 476 ครั้ง)


Messenger