...

องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง "มารยาทในการไปงานศพ"
องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง "มารยาทในการไปงานศพ"
วันที่สำคัญในชีวิตของคนเราทุกคนอีกหนึ่งวันก็คือวันตาย ประเพณีงานศพของไทยในสมัยโบราณ จะมีวิธีการที่สลับซับซ้อน งานศพของแต่ละภาคในประเทศไทย แต่ละแห่งจะมีความแตกต่างกันไปจะมากบ้างหรือน้อยบ้าง ตามแต่ละท้องที่ท้องถิ่น บางแห่ง เจ้าภาพเน้นเรื่องการรับรอง เลี้ยงดูแขกผู้มาร่วมงาน อย่างชนบททางภาคใต้ เมื่อมีญาติถึงแก่ความตาย ประเพณีที่ยึดถือกันมาคือต้องตั้งศพไว้ในบ้าน ( ศพที่จะตั้งอยู่ที่วัดนั้นจะเป็นศพผีตายโหงหรือศพไร้ญาติ ) ซึ่งเจ้าภาพต้องจัดงานศพอย่างสมเกียรติ ใครไม่มีเงินก็ต้องกู้หนี้ยืมสินเขามาจัดงาน วิธีการเช่นนี้เรียกว่า คนตายขายคนเป็น
ลักษณะของสังคมเกษตรกรรมในชนบท เมื่อมีงานเขาต้องช่วยเหลือกัน เริ่มตั้งแต่หาไม้ทำโลง ทำสถานที่ กางเต็นท์ เมื่อชาวบ้านทุกบ้านร่วมแรงร่วมใจมาช่วยกันเสร็จแล้ว ก็ต้องหุงหาอาหารรับประทาน เป็นหน้าที่ของเจ้าภาพที่ต้องแสวงหาอาหารเลี้ยงคนอย่างดี ให้พอเพียง บางงานอาจล้มวัวล้มควาย ฆ่าหมู ไก่ เป็นจำนวนมาก เลี้ยงสุรา และอาจเล่นการพนัน แต่ในปัจจุบันได้ช่วยรณรงค์ให้ละเว้นการปฏิบัติ การประพฤติแบบนี้ไปแล้วในบางแห่ง ซึ่งในปัจจุบันเพื่อความสะดวกสบาย ได้ตั้งศพไว้ที่วัดในทุกกรณีของการตาย และจะอยู่ที่เจ้าภาพว่าจะตั้งศพไว้ที่ไหนตามแต่สะดวกของเจ้าภาพ
มารยาทที่เจ้าภาพควรปฏิบัติ
1. บัตรเชิญควรเขียนด้วยปากกาสีดำ เขียนชื่อแขกให้ถูกต้อง
2.เจ้าภาพต้องแต่งกายชุดดำให้เรียบร้อย
3. ต้องคอยต้อนรับแขกด้วยอาการสำรวม ในงานศพนั้นคนไทยถือว่าแม้เจ้าภาพไม่บอกกล่าวก็ไปร่วมแสดงความเสียใจและทำบุญได้ ดังนั้นแขกที่มาในงานจึงมีทั้งที่เป็นเพื่อนคนตายและญาติ เจ้าภาพอาจรู้จักหรือไม่รู้จักก็ได้ เจ้าภาพจึงต้องระมัดระวังเรื่องการรับรองต้อนรับแขก
4. ในชนบทคนเดินทางกันมาไกล จะมาถึงเวลาใดก็ต้องเลี้ยงอาหาร ผิดกับในเมืองที่ศพตั้งอยู่ที่วัด การเลี้ยงอาหารจะทำกันครั้งเดียวคือหลังสวดพระอภิธรรมจบที่สามเท่านั้น เจ้าภาพต้องเตรียมอาหารให้เหมาะกับสถานที่ บางวัดห้ามนำอาหารมาเลี้ยง อนุญาตเฉพาะน้ำดื่มเท่านั้น เจ้าภาพจึงควรปฏิบัติให้ถูกต้อง
5. ต้องเตรียมของที่จำเป็นในแต่ละขั้นตอน แจกจ่ายงานให้ญาติแต่ละคนช่วยกันดูแลรับผิดชอบ
6. ดูแลการกินอยู่ของผู้ทำงานให้เรียบร้อยทั่วถึงทุกเวลา
7. ควรให้รางวัลแก่ผู้ทำงานเมื่อเสร็จงานแล้วทุกคน อาจให้เป็นเงินหรือให้เป็นของใช้ เช่น ผ้าขาวม้า ผ้าตัดเสื้อ ผ้าโสร่ง หรือสิ่งอื่นที่เหมาะสมกับวัยและบุคคล
8. เตรียมของชำร่วยที่จะแจกแขกให้พอเพียงกับจำนวนคน บางรายติดธุระมาไม่ได้ แต่ได้ฝากเงินทำบุญใส่ซองมากับมิตรสหาย เป็นหน้าที่ของเจ้าภาพที่จะต้องเตรียมของชำร่วยฝากกลับคืนไปให้ หรือเตรียมมอบด้วยตนเอง หลังวันงานก็ได้ หรืออย่างน้อยต้องมีรายชื่อไว้เพื่อแสดงความขอบคุณเมื่อมีโอกาส
9. เจ้าภาพต้องไหว้ขอบคุณทุกคนที่มาในงาน และแสดงความขอบคุณผู้ร่วมทำบุญด้วยไม่ว่าจะได้มาร่วมงานหรือไม่
10. หากเจ้าภาพพิมพ์หนังสือแจกวันเผาศพ และระยะเวลาการเผาห่างจากวัดสวดพระอภิธรรมพอสมควร เจ้าภาพควรนำรายชื่อผู้ส่งดอกไม้และพวงหรีดพิมพ์ลงในหนังสือด้วย
11. การนิมนต์พระมาสวดในงานศพให้ใช้คำว่า นิมนต์มาสวดพระอภิธรรม
มารยาทของผู้ไปรดน้ำศพ
1. การแสดงความเคารพในการรดน้ำศพนิยมทำกันเฉพาะผู้ที่มีอายุสูงกว่าตนหรืออายุรุ่นราวคราวเดียวกันเท่านั้น ไม่นิยมรดน้ำขอขมาผู้ที่มีอายุน้อยกว่าตน โบราณเรียกว่าอาบน้ำศพ ไม่เรียกรดน้ำเพราะมีธรรมเนียมให้ลูกหลานอาบน้ำชำระศพ แล้วแต่งตัวให้สะอาด
2. ก่อนจะรดน้ำศพ ควรแสดงคารวะศพด้วยการไหว้หรือการโค้งคำนับ แล้วแต่ความเหมาะสม เช่น ทหาร ตำรวจ ในเครื่องแบบ ใช้การโค้งคำนับ พลเรือนใช้วิธีไหว้
3. ขณะทำความเคารพ ควรอโหสิกรรมในใจว่า กายกมฺมํ วจีกมฺมํ มโนกมฺมํ อโหสิกมฺมํ โหตุ (อ่านว่า กายะกัมมัง วจีกัมมัง มโนกัมมัง อโหสิกัมมัง โหตุ แปลว่า หากข้าพเจ้าล่วงเกินท่านด้วยทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ ขอท่านโปรดอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด)
4. แล้วค่อยๆรินน้ำอบหรือน้ำหอมลงบนมือขวาของศพ พร้อมกับนึกในใจว่า อิทํ มตกสรีรํ อาสญฺจิ โตทกํ วิย อโหสิ กมํ (อ่านว่า อิทัง มะตะกะสรีรัง อาสัญจิดตทะกัง วิยะ อโหสิกัมมัง แปลว่า ร่างกายที่ตายแล้วนี้ ย่อมเป็นอโหสิกรรม ไม่มีโทษเหมือนน้ำที่รดแล้วฉันนั้น)
5. เมื่อรดน้ำเสร็จแล้วให้ทำความเคารพอีกครั้ง พร้อมกับแผ่กุศลในใจว่า ขอจงไปสู่สุคติๆ เถิด
ในการรดน้ำศพพระภิกษุ ให้ปฏิบัติดังนี้
1. กราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ 3 ครั้ง
2. ถือภาชนะรดน้ำศพด้วยมือทั้งสอง
3. รดลงบนฝ่ามือขวาของศพ พร้อมนึกขออโหสิและอุทิศกุศลให้
4. รดน้ำเสร็จแล้วกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ 3 ครั้ง
การไปฟังสวดพระอภิธรรม
1. แต่งกายไว้ทุกข์
2. นำดอกไม้ พวงมาลัย หรือพวงหรีดไปเคารพศพ ถ้าไม่นำดอกไม้ไป ควรนำซองใส่เงินมอบให้เจ้าภาพเพื่อใช้จ่ายเกี่ยวกับงานศพ เพราะงานศพเป็นงานที่ต้องใช้จ่ายมาก ถ้าเปลี่ยนค่านิยมจากพวงหรีดเป็นเงินช่วยเจ้าภาพได้จะดีกว่า ในชนบทเจ้าภาพจะเตรียมขันใส่พานรองวางไว้ มีปากกาสมุดวางไว้ให้คนลงชื่อและซองใส่เงิน บางรายเจ้าภาพประกาศงดพวงหรีดเพราะต้องการเงินไปตั้งทุนหรือสมทบทุนให้ผู้ตายต่อไป
3. ควรไปคารวะทักทายแสดงความเสียใจต่อเจ้าภาพ
4. ไปกราบพระพุทธรูป 3 ครั้ง แบบเบญจางคประดิษฐ์
5. จุดธูป 1 ดอก ปักลงในกระถาง นั่งพับเพียบกราบศพ 1 ครั้งไม่แบมือ ถ้าศพในพระบรมราชานุเคราะห์ไม่ต้องจุดธูป
6. หาที่นั่งที่เหมาะสม ให้สังเกตที่นั่ง บางงานจัดที่ด้านหน้าไว้สำหรับประธานของเจ้าภาพ งานสวดพระอภิธรรม ถ้าท่านเป็นแขกธรรมดาไม่ควรนั่งในที่ซึ่งจัดไว้เป็นพิเศษนั้น
7. นั่งประนมมือฟังพระสวดด้วยอาการสงบ
8. ไม่ควรคุยส่งเสียงดังขณะพระสวดเพราะจะไปทำลายรบกวนสมาธิผู้อื่น
9. ถ้าแขกเป็นเจ้าภาพต้องจุดธูปเทียนบูชาพระ(จุดเทียนงานศพให้จุดเทียนทางซ้ายมือก่อน งานมงคลจุดทางขวามือก่อน) อาราธนาศีลเมื่อจบการสวดต้องเป็นผู้ถวายเครื่องปัจจัยไทยทานทอดผ้าบังสุกุลก่อนจบการสวดต้องกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย ขณะที่กรวดน้ำควรอุทิศส่วนกุศลผลบุญแด่ผู้ตาย ขอให้ผู้ตายรับส่วนกุศล มีความสุขในสัมปรายภพ
10. ควรอยู่ฟังสวดให้ครบทั้ง 4 จบ เมื่อจะกลับควรลาเจ้าภาพด้วย หากแขกผู้ใดไม่สามารถอยู่ครบทั้ง 4 จบ ควรบอกเจ้าภาพในตอนที่มาถึงให้ทราบเสียก่อน ด้วยการขออภัยเจ้าภาพ การแจ้งล่วงหน้าเป็นการป้องกันไม่ให้เจ้าภาพสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นแขกหายไปไหน
ถ้าท่านเป็นประธานในการสวดพระอภิธรรม ต้องปฏิบัติดังนี้
1. จุดธูป เทียน บูชาพระพุทธ แล้วกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ 3 ครั้ง ทั้งสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี
2. จุดเครื่องทองน้อยคือ ธูป เทียน บูชาพระอภิธรรมและกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ 3 ครั้งทั้งสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี
3. จุดธูปเคารพศพ 1 ดอก พร้อมกับแสดงความเคารพการหมอบกราบด้วยการกระพุ่มมือ ไหว้ไม่แบมือ 1 ครั้ง สำหรับศพของผู้อาวุโสกว่าตน ถ้าเป็นผู้มีอายุที่น้อย อ่อนอาวุโสเพียงแต่น้อมตัวไหว้
งานฌาปนกิจหรือพระราชทานเพลิงศพ
1. ควรแต่งชุดดำสุภาพ ถ้าเป็นงานพระราชทานเพลิงศพ สตรีควรสวมถุงน่อง บุรุษใส่ชุดพระราชทานหรือสวมเสื้อเชิ้ตขาวผูกเนคไท
2. ไปถึงงานควรแสดงความเคารพเจ้าภาพก่อน และหาที่นั่งที่เหมาะสม
3. ถ้ามีการเป่าแตรนอนเป็นเกียรติแก่ศพ ทุกคนต้องยืนตรงเพื่อแสดงความเคารพและให้เกียรติแก่ผู้ตาย
4. ควรเรียงแถวทยอยกันขึ้นวางดอกไม้จันทน์จุดเพลิงศพตามลำดับ ให้ขึ้นสองแถวและลงสองแถวตามที่จัดไว้
5. แสดงความเคารพศพด้วยการคำนับหรือไหว้ ก่อนวางดอกไม้จันทน์
อ้างอิง : รัศมี-สุทธิ ภิบาล. มารยาทในวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ: ไทพัน อินเตอร์ แอคท์, 2537.
ผู้เรียบเรียง : นางกรองแก้ว เปเหล่าดา
บรรณารักษ์ชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี

(จำนวนผู้เข้าชม 31545 ครั้ง)


Messenger